วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

อาการขาดธาตุอาหารพืช

ธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช
          พืชมีความต้องการธาตุอาหารต่าง ๆ เพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ซึ่งธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชจะมีอยู่ด้วยกัน 16 ธาตุ คือ คาร์บอน, ไฮโดรเจน, ออกซิเจน, ไนโตรเจน, ฟอสฟอรัส, โปแตสเซียม, แมกนีเซียม, กำมะถัน, แคลเซียม, เหล็ก, แมงกานีส, สังกะสี, ทองแดง, โบรอน, โมลิบดีนัม และคลอรีน โดยธาตุคาร์บอน, ไฮโดรเจน และออกซิเจน พืชได้จากน้ำและอากาศ ส่วนที่เหลืออีก 13 ธาตุ แบ่งออกเป็นธาตุหลัก 6 ธาตุ และธาตุอาหารเสริม 7 ธาตุ ดังนี้


          ธาตุอาหารหลัก มีอยู่ 3 ธาตุ และมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต และพืชต้องการใช้ในปริมาณที่มากคือ ไนโตรเจน, ฟอสฟอรัส, โปแตสเซียม

          ธาตุอาหารรอง มีอยู่ 3 ธาตุ มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชรองลงมาจากธาตุหลัก ได้แก่ แมกนีเซียม, กำมะถัน, แคลเซียม

          ธาตุอาหารเสริม  มีอยู่ 7 ธาตุ พืชต้องการใช้ในปริมาณที่น้อย แต่พืชจะขาดธาตุเหล่านี้ไม่ได้เช่นกันเนื่องจากมีความสัมพันธ์ในการใช้ธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองของพืช คือ เหล็ก, แมงกานีส, สังกะสี, ทองแดง, โบรอน, โมลิบดีนัม และคลอรีน

* หมายเหตุ :  ปัจจุบันมีการค้นพบว่าธาตุอาหารรองของพืชเพิ่มขึ้นมาอีกชนิดหนึ่งคือ นิเกิ้ล ซึ่งเป็นธาตุใหม่ที่มีผลการวิจัยจากสถาบัน Agricultural Research Service Plant, Soil and Nutrition Laboratory in Ithaca ในนิวยอร์ค ว่า นิเกิ้ล เป็นธาตุที่มีความสำคัญต่อระบบเอนไซม์ ที่มีผลต่อการปลดปล่อยไนโตรเจนให้อยู่ในรูปที่พืชดูดซึมไปใช้ได้ โดยนิเกิ้ลยังช่วยส่งเสริมการดูดซึมธาตุเหล็กของพืชให้มีประสิทธิภาพ  โดยพืชจะมีการสะสมนิเกิ้ลไว้ในเมล็ดเพื่อประโยชน์ในการงอก หากพืชมีการสะสมของปริมาณนิกเกิ้ลไว้อย่างเพียงพอจะทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดในพืชนั้นๆ สูงขึ้นด้วย

ปริมาณของธาตุอาหารแต่ละชนิด ในค่า pH ของสารละลายแต่ละระดับ
(ช่วงที่เหมะสมในการปลูกพืชคือ 5.5 - 6.8)


ความสำคัญของธาตุอาหารพืชแต่ละชนิด

1. ธาตุไนโตรเจน
           ช่วยทำให้พืชตัวตัวได้เร็วในระยะแรกของการเจริญเติบโต ช่วยเสริมใบและลำต้นให้มีสีเขียวเข้ม และช่วยเพิ่มปริมาณโปรตีนให้แก่พืชที่ใช้เป็นพืชอาหาร เช่น ข้าวหรือหญ้าเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องควบคุมการออกดอกออกผลของพืช ช่วยเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น โดยเฉพาะพืชที่ให้ผลและเมล็ด

กรณีที่พืชขาดธาตุไนโตรเจน
1. ใบจะเหลืองผิดปกติ โดยเริ่มจากใบล่างขยายไปสู่ยอดใบ
2. ลำต้นจะผอม, กิ่งก้านลีบเล็ก และมีใบน้อย
3. พืชบางชนิดจะมีลำต้นสีเหลืองหรืออาจมีสีชมพูปนด้วย
4. ใบพืชที่มีสีเหลืองปลายใบและขอบใบจะเริ่มแห้งแล้วลุกลามไปเรื่อยๆ จนใบร่วงจากลำต้น
5. พืชจะไม่เติบโตหรือโตช้ามาก
*********************************************************************************

2. ธาตุฟอสฟอรัส
           ทำหน้าที่ช่วยให้รากดึงดูดโปแตสเซียมเข้ามาใช้เป็นประโยช์ได้มากขึ้น, ช่วยแก้ผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากพืชได้รับไนโตรเจนมากเกินไป, ส่งเสริมการเจริญเติบโตของรากฝอยและรากแขนงในระยะแรกของการเจริญเติบโต, ช่วยเร่งให้พืชแก่เร็ว ช่วยในการออกดอก และสร้างเมล็ดของพืช, เพิ่มความต้านทานต่อโรคบางชนิด ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดี, ทำให้ลำต้นของพืชจำพวกข้างแข็งขึ้นไม่ล้มหรือหักง่าย

กรณีที่พืชขาดธาตุฟอสฟอรัส
1. พืชชะงักการเจริญเติบโต ต้นแคระแกรน พืชบางชนิดอาจจะมีลำต้นบิดเป็นเกลียว เนื้อไม้จะแข็งแต่ว่าจะเปราะและหักง่าย
2. รากจะเจริญเติบโตและแพร่กระจายช้ากว่าที่ควร ดอกและผลที่ออกมาไม่สมบูรณ์ บางครั้งจะหลุดร่วงจากขั้วได้ง่าย
*********************************************************************************

3. ธาตุโปแตสเซียม
          ทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของราก ทำให้รากดูดน้ำได้ดีขึ้น, ช่วยในการสร้างเนื้อของผลไม้ให้มีคุณภาพดี, ทำให้พืชมีคามต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ, ทำให้พืชมีความต้านทานต่อโรคต่าง ๆ, ช่วยป้องกันผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับพืช เนื่องจากการได้รับไนโตรเจนและฟอสฟอรัสเมากเกินไป, ช่วยเพิ่มคุณภาพของพืชผักและผลไม้ โดยทำให้พืชมีสีสัน ขนาด ความหวาน และคงทนต่อสภาวะแวดล้อมได้

กรณีที่พืชขาดธาตุโปแตสเซียม
1. ขอบใบเหลืองและกลายเป็นสีน้ำตาลโดยเริ่มต้นจากปลายใบเข้าสู่กลางใบ ส่วนที่เป็นสีน้ำตาลจะแห้งเหี่ยว และมักจะเกิดจากใบล่างก่อนแล้วค่อยๆ ลามขึ้นไปข้างบน พืชที่เห็นอาการขาดธาตุโปแตสเซียมชัดเจนคือพืชจำพวก ข้าวโพด, มัน
2. ทำให้ผลลิตตกต่ำ พืชจำพวกธญพืชจะมีเมล็ดลีบ น้ำหนักเบา พืชหัวจะมีแป้งน้อย ฝักจะเล็กรูปร่างผิดปกติ  พืชพวกใบยาสูบจะมีคุณภาพต่ำ ติดไฟยา กลิ่นไม่ดี

*********************************************************************************

4. ธาตุแคลเซียม
        เป็นธาตุที่ต้นพืชนำไปใช้เพื่อการเจริญเติบโตในตัวพืช ช่วยส่งเสริมการนำธาตุไนโตรเจนมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น ในระยะออกดอกและระยะที่สร้างเมล็ดพืชจะมีความจำเป็นมาก เพราะธาตุแคลเซียมจะมีส่วนในการเคลื่อนย้ายและเก็บรักษาคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนในพืช เพื่อนำไปใช้ในการสร้างผลและเมล็ดต่อไป
          อาการของพืชที่ขาดแคลเซียมจะพบมากในบริเวณยอด และปลายราก ยอดอ่อนจะแห้งตาย และใบจะมีการการม้วนงอไปข้างหน้าและขาดเป็นริ้วๆ ซึ่งจะเกิดที่ใบอ่อนก่อน แก้ไขโดยการใส่ปูนขาว หินปูนบด หินปูนเผา เพื่อปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของดิน หรือฉีดพ่นธาตุอาหารแคลเซียม-โบรอน เสริมทางใบเพื่อให้พืชติดผลง่ายขึ้น และทำให้ขั้วดอกแข็งแรงไม่หลุดร่วงง่าย

*********************************************************************************

5. ธาตุกำมะถัน
          กำมะถันมีความจำเป็นต่อการสร้างโปรตีนพืช เป็นองค์ประกอบของวิตามินบางตัวที่มีผลทางอ้อมต่อการสร้างสีเขียวของพืช ซึ่งจะช่วยให้เกิดการหายใจและการปรุงอาหารพืช
          พืชที่ขาดกำมะถันจะมีเสียเขียวอ่อน หรือเหลืองคล้าย ๆ อาการขาดไนโตรเจน ใบขนาดเล็กลง ยอดของพืชจะชะงักการเจริญเติบโต ลำต้นและกิ่งก้านลีบเล็ก อาการขาดธาตุกำมะถันจะมีอาการแตกต่างจากขาดธาตุไนโตรเจน คือจะปรากฏที่ยอดอ่อนก่อน ส่วนใบล่างยังคงปกติ ถ้าอาการรุนแรงใบล่างก็จะมีอาการด้วยเช่นกัน ซึ่งจะตรงข้ามกับอาการของการขาดไนโตรเจน จะแสดงอาการที่ใบล่างก่อน
          ดินที่มักพบเสมอว่าขาดธาตุกำมะถันคือ ดินทราย ซึ่งมีอินทรีย์วัตถุน้อย การเพิ่มกำมะถันในดิน นอกจากจะมีการใส่กำมะถันผงโดยตรงแล้ว การใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยพืชสด ก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาการขาดธาตุกำมะถันในดินได้เช่นกัน แต่ข้อควรระวังในการใส่กำมะถันก็คืน หากใส่มากเกินความจำเป็นจะทำให้ดินเป็นกรดได้ หรืออาจฉีดพ่นธาตุอาหารรองเสริมทางใบก็ช่วยลดอาการขาดธาตุนี้ได้เช่นกัน
*********************************************************************************

6. ธาตุแมกนีเซียม
          เป็นองค์ประกอบของส่วนที่เป็นสีเขียว  ทั้งที่ใบและส่วนอื่นๆ ของพืชซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างอาหารและโปรตีนพืช
          อาการขาดแมกนีเซียมจะสังเกตได้จากใบพืช ที่เหลืองซีดบริเวณเส้นกลางใบ ถ้าหากอาการขาดรุ่นแรงใบแก่จะมีอาการมากกว่าใบอ่อน การขาดธาตุแมกนีเซียม จะทำให้ผลผลิตลดน้อยลงและต้นพืชทรุดโทรมอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสาเหตุที่พืชขาดธาตุแมกนีเซียมนั้น เพราะปริมาณแมกนีเซียมที่อยู่ในดินถูกชะล้างลึกลงไปเกินกว่าที่รากพืชจะดึงดูดมาใช้ได้ และการที่มีปริมาณโปแตสเซียมสะสมในดินมากเกินไปก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ
          การแก้ไข สามารถทำได้โดยการปรับปรุงสภาพดิน ความเป็นกรด ด่างของดินให้เหมาะสมต่อการดูดเข้าไปใช้ของพืช และมีการใช้ปุ๋ยโปแตสเซียมที่พอเหมาะ ที่สำคัญก็คือ การฉีดพ่นทางใบด้วยธาตุอาหารเสริม ซึ่งมีธาตุแมกนีเซียมในรูปที่พืชสามารถนำปใช้ได้ทันที
*********************************************************************************

7. ธาตุเหล็ก
         ธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบของโปรตีนในพืช  ช่วยกระตุ้นให้การหายใจและการปรุงอาหารของพืชให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์
          อาการขาดธาตุเหล็กจะแสดงออกทั้งทางใบและทางผล อาการเริ่มแรกจะสังเกตพบว่าที่ใบอ่อนโดยเฉพาะบริเวณเส้นใบจะมีสีเขียวปกติ  แต่พื้นใบจะเริ่มมีสีเหลืองซีด ส่วนใบแก่ยังคงมีอาการปกติ ระยะต่อมาจะเหลืองซีดทั้งใบ ขนาดใบจะเล็กลงกว่าปกติ กิ่งแห้งตาย ส่วนอาการที่เกิดขึ้นกับไม้ผล คือผลผลิตจะลดลง ขนาดของผลเล็กและผิวไม่สวย  การขาดธาตุเหล็กยังมีผลทำให้ยอดอ่อนเจริญเติบโตได้ช้ากว่าปกติ
          ธาตุเหล็กที่พืชจะนำใช้ได้ต้องมีค่า pH ของดินหรือน้ำอยู่ระหว่าง 5.5 - 5.6 แต่ถ้าค่า pH ต่ำกว่านี้ จะทำให้ปริมาณของธาตุเหล็กมีมากเกินไปจนก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อพืชได้ ธาตุเหล็กจะไปตรึงธาตุฟอสฟอรัสไว้จนพืชไม่สามารถนำไปใช้ได้ การแก้ไขด้วยการฉีดพ่นธาตุอาหารเสริมทางใบ เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาการขาดธาตุเหล็กได้ หรือเลือกใช้ธาตุเหล็กที่มีความคงทนต่อสภาพ pH ได้สูงๆ คือเหล็ก Fe-EDDHA ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเหล็กทั่วไป


*********************************************************************************

8. ธาตุทองแดง
          หน้าที่ของธาตุทองแดง มีผลต่อพืชโดยอ้อม ในการสร้างส่วนที่เป็นสีเขียวของพืช ช่วยเพิ่มโมเลกุลของคลอโรฟิลล์ และป้องกันการถูกทำลายส่วนสีเขียว นอกจากนี้ยังเป็นส่วนประกอบของน้ำย่อยในพืช ซึ่งมีผลต่อการปรุงอาหารยังผลต่อการเจริญเติบโตและการติดดอกออกผล  ธาตุทองแดงยังช่วยให้ต้นพืชสามารถดูดเอาธาตุเหล็กที่อยู่ในดินนำมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
          อาการของพืชที่ขาดธาตุทองแดงใบพืชจะมีสีเขียวจัดผิดปกติ แล้วต่อมาจะค่อยๆ เหลืองลงโดยแสดงอาการจะแสดงที่ยอด เรื่อยลงมาจนถึงโคน อาการขาดธาตุทองแดงพบมากในเขตดินเปรี้ยว การใช้ปุ๋ยฟอสเฟตอาจช่วยได้ หรือฉีดพ่นด้วยธาตุอาหารเสริม (ที่มีทองแดงประกอบ) ทางใบก็จะช่วยลดอาการนี้ได้
*********************************************************************************

9. ธาตุสังกะสี
          สังกะสีมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนพืช กล่าวคือ พืชที่ขาดธาตุสังกะสีจะให้ปริมาณฮอร์โมน IAA ในตายอดลดลง ทำให้ตายอดและข้อปล้องไม่ขยาย ใบออกมาซ้อนๆ กัน นอกจากนี้ยังมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำย่อยของพืชหลายชนิดในการสร้างอาหารและสังเคราะห์แสง จึงมีผลทางอ้อมในการสร้างส่วนสีเขียวของพืช
          การแก้ไขที่และและให้ผลแน่นอนคือการฉีดพ่นทางใบ ด้วยธาตุอาหารเสริมที่มีธาตุสังกะสีเป็นองค์ประกอบ

*********************************************************************************

10. ธาตุแมงกานีส
         ธาตุนี้มีผลกระทบต่อใบ เนื่องจากมีบทบาทในการสังเคราะห์แสง เป็นตัวกระตุ้นการทำงานของน้ำย่อยในต้นพืช และยังควบคุมกิจกรรมของธาตุเหล็กและไนโตรเจนในต้นพืชอีกด้วย
          พืชที่ขาดธาตุแมงกานีสใบจะออกสีเหลืองๆ ส่วนเส้นใบจะเขียวอยู่ปกติ โดยเฉพาะใบอ่อนอาจเกิดเป็นจุดขาว ๆ หรือจุดเหลืองที่ใบ ต้นโตช้า ใบไม่สมบูรณ์ พุ่มต้นโปร่ง
          พืชที่แสดงอาการขาดธาตุแมงกานีส ต้องฉีดพ่นเข้าทางใบด้วยธาตุอาหารเสริมที่มีองค์ประกอบของธาตุแมงกานีส
*********************************************************************************

11. ธาตุโบรอน
         มีบทบาทเกี่ยวข้องต่อการดูดดึงธาตุอาหารพืช ช่วยให้พืชดูดเอาธาตุแคลเซียมและไนโตรเจนไปใช้ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้พืชใช้ธาตุโปแตสเซียมได้มากขึ้น มีบทบาทในการสังเกคราะห์แสง การย่อยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และเพิ่มคุณภาพทั้งรสชาติ ขนาด และน้ำหนักของผล เพิ่มความสามารถในการเจริญเติบโต เพราะโบรอนจะควบคุมการดูดและคายน้ำของพืชในขบวนการปรุงอาหารอีกทางหนึ่ง
          หากขาดธาตุโบรอน ส่วนที่จะแสดงอาการเริ่มแรกคืนยอดและใบอ่อน ส่วนที่ยอดและตายอดจะบิดงอ ใบอ่อนบางและโปร่งใสผิดปกติ เส้นกลางใบหนากร้าน และตกกระ มีสารเหนียว ๆ ออกมาตามเปลือกของลำต้น กิ่งก้านจะแลดูเหี่ยว ผลเล็กและแข็งผิดปกติ มีเปลือกหน้า บางทีผลแตกเป็นแผลได้
          อาการขาดธาตุนี้จะเห็นเด่นชัดเมื่อต้นพืชกระทบแล้งหรือขาดน้ำมากๆ ควรทำการปรับปรุงดิน หรือน้ำอย่าให้เป็นกรด-ด่างมาก ให้ค่า pH อยู่ที่ประมาณ 6.0 และควรฉีดพ่นอาหารเสริมทางใบที่มีองค์ประกอบของโบรอนด้วย โดยผักที่มักขาดธาตุอาหารดังกว่าได้แก่ผักในกลุ่มสลัด เช่น สลัดคอส, บัตเตอร์เฮด ฯลฯ

*********************************************************************************

12. ธาตุโมลิบดินัม
         บทบาทและหน้าที่ของธาตุโมลิบดินัมในพืชนั้น ทำให้การทำงานของธาตุไนโตรเจนในพืชสมบูรณ์ขึ้น นอกจากนี้ ยังจำเป็นสำหรับขบวนการสร้างสารสีเขียวและน้ำย่อยภายในพืชบางชนิดด้วย
          พืชที่ขาดธาตุนี้จะแสดงอาการที่ใบจะโดยใบจะมีจุดด่างๆ กระจายอยู่ทั่วใบ ในขนะที่เส้นใบยังเขียวอยู่ ถ้าขาดธาตุนี้รุนแรง ใบจะม้วนเข้าข้างใน ลักษณะที่ปลายและขอบใบจะแห้ง ดอกร่วง และผลมีขนาดเคระแกรนไม่เจริญเติบโต
*********************************************************************************

13. ธาตุคลอรีน
          คอลรีนมีความสำคัญต่อขบวนการสังเคราะห์แสง มีผลทำให้พืชแก่เร็วขึ้น พืชที่ขาดธาตุคลอรีนใบจะซีด เหี่ยว และใบสีเหลืองบรอนซ์ ถ้ามีคลอรีนมากเกินไปจะทำให้ขอบใบแห้ง ใบจะเหลืองก่อนกำหนด
*********************************************************************************

11 ความคิดเห็น:

  1. บทความนี้มีประโยชน์มากๆค่ะ เราเรียนเกษตรเข้ามาหาข้อมูลของคุณดีมากๆ

    ตอบลบ
  2. มีสาระมากเป็นวิทยาทาน

    ตอบลบ
  3. มีสาระมากเป็นวิทยาทาน

    ตอบลบ
  4. ขอบคุณ สำหรับข้อมูลดีดีมีประโยชน์มากครับ

    ตอบลบ
  5. ใบอ่อนเมล่อนที่เกิดใหม่ไม่เขียวเลยครับ
    เป็นเพราะอะไรครับ

    ตอบลบ
  6. ธาตุพวกนี้เราต้องหาเพิ่มมั้ย ครับ หรือว่ามันมีครบถ้วนอยู่แล้ว ใน ปุ๋ย สต๊อก A สต๊อก B

    ตอบลบ
  7. จำหน่ายปุ๋ยธาตุรอง-เสริม
    เข้าชมได้ที่
    www.phimaiproduct.com

    ตอบลบ