วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2557

การผลิตเชื้อราไตรโครเดอร์ม่า (เชื้อสด)

ขั้นตอนการผลิตเชื้อราไตรโครเดอร์ม่า (เชื้อสด)
สำหรับป้องกันและควบคุมโรคพืช


อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการปลิตเชื้อสดไตรโครเดอร์ม่า
* สำหรับผลิตเชื้อสดจำนวน 4 ถุงๆ ละ 200 - 250 กรัม

1. หม้อหุงข้าวไฟฟ้า / ทัพพีตักข้าว

2. ปลายข้าว 3 แก้ว (หาซื้อได้ตามข้าวจำหน่ายข้าวสารในตลาดสดทั่วไป)
3. น้ำสะอาด 2 แก้ว
4. หัวเชื้อราไตรโครเดอร์มา
5. ที่เย็บกระดาษ พร้อมลวดเย็บ
6. ไม้จิ้มฟัน
7. ถุงร้อนขนาด 8" x 12"
8. ตาชั่ง (จะใช้หรือไม่ก็ได้)




1. ทำการหุงปลายข้าวโดยใช้ปลายข้าว 3 ส่วน ต่อน้ำสะอาด 2 ส่วน ข้าวที่หุงออกมาได้จะมีลักษณะกึ่งสุกกึ่งดิบ สาเหตุที่ต้องให้ข้าวออกมาดิบนั้นเพราะเวลาทำการหมักเชื้อจะมีหยดน้ำเกิดขึ้นในถุงจะทำให้ข้าวแฉะและทำให้ข้าวบูดได้





2. เมื่อหม้อข้าวดีดให้ใช้ทัพพีซุยข้าวในหม้อให้ร่วน แล้วรีบตักข้าวขณะร้อนๆ ใส่ถุง โดยตักและชั่งให้ได้น้ำหนักประมาณ 200 - 250 กรัม ถ้าหากไม่มีเครื่องชั่งให้ตักข้าวประมาณ 3 ทัพพีพูนๆ





3. ให้พับปากถุงแล้วแผ่ข้าวให้กระจายเต็มถุง (อย่าใช้มือกดแรงจนเม็ดข้าวบี้แบน) 





4. เมื่อข้าวเริ่มเย็นแล้วให้ใส่หัวเชื้อราไตรโครเดอร์มาลงในข้าวเล็กน้อย 





5. พับปากถุงลงประมาณ 2 พับ จากนั้นให้เย็บปากถุงด้วยที่เย็บกระดาษ จากนั้นให้คลุกสปอร์เชื้อราให้กระจายไปทั่วเมล็ดข้าว ใช้วิธีการเขย่าถุงให้สปอร์เชื้อรากระจายทั่วถุง





6. เมื่อเขย่าข้าวในถุงจนเชื้อรากระจายดีแล้วให้ใช้ไม้จิ้มฟัน ทิ่มที่บริเวณปากถุงประมาณ 10 รู





7. เกลี่ยข้าวในถุงให้กระจายทั่วถุง แต่อย่าใช้มือกดเมล็ดข้าวจนแน่นเกินไปจะทำให้เชื้อรากระจายตัวได้ไม่ดีเท่าที่ควร ใช้มือกดไล่อากาศในถุงออก แล้วใช้มือค่อยๆ ถุงตรงกลางถุงขึ้นเพื่อดูดอากาศใหม่เข้าไปและให้ทำถุงในลักษณะเป็นโดมมีอากาศอยู่ด้านในถุงตามภาพด้านล่างนี้





8. นำถุงข้าวที่เกลี่ยจนแบนและดึงถุงให้มีอากาศด้านในถุงแล้ว ไปวางเรียงในที่ๆ มีแสงสว่าง แต่ห้ามโดนแสงแดดโดยเด็ดขาด เนื่องจากแสงแดดจะทำให้เชื้อราตายได้ หรืออาจจะใช้แสงจากหลอดไฟนีออนก็ได้เช่นกัน





9. หลังจากนั้นประมาณ 3 วัน จะเริ่มสังเกตุเห็นเส้นใยราสีขาวขุ่นเกาะที่บริเวณเมล็ดข้าว ให้เรากระตุ้นเชื้อราด้วยการเขย่าเมล็ดข้าวในถุงอีกครั้งให้สปอร์สีขาวกระจายทั่วเมล็ดข้าว แล้วทำขั้นตอนที่ 7, 8 อีกครั้งเพื่อเลี้ยงเชื้อต่อ





10. หลังจากบ่มเชื้อได้ประมาณ 5 - 7 วัน (นับจากวันแรกที่เพาะ) สปอร์สีขาวก็จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม คลุมเต็มเมล็ดข้าว ก็แสดงว่าเชื้อรานี้พร้อมจะนำไปใช้งานได้แล้ว


 



วิธีการใช้งานเชื้อสดไตรโครเดอร์ม่า

การนำเชื้อสดมาใช้งานผู้ใช้ต้องแยกสปอร์สีเขียวออกจากเมล็ดข้าว ด้วยมีขั้นตอนดังนี้


1. นำเชื้อสดไตรโครเดอร์ม่า เทใส่ภาชนะ แล้วเทน้ำสะอาดที่ไม่มีคลอรีนลงไปผสมให้พอท่วมเชื้อสด


 



2. แช่เชื้อสดกับน้ำสะอาดประมาณ 5 นาที่ แล้วใช้ช้อนหรือส้อมคนให้เมล็ดข้าวแตกตัวออกจากกัน แต่อย่าใช้มือบี้เมล็ดข้าวจนเละ ให้คนจนสปอร์สีเขียวหลุดออกจากเมล็ดข้าวให้มากที่สุด จากนั้นใช้กระชอนตาถี่กรองเอาเฉพาะน้ำสปอร์สีเขียวไปใช้งาน


 


3. น้ำสปอร์สีเขียวของเชื้อราไตรโครเดอร์ม่า ในกรณีนำไปใช้ไม่หมดให้กรอกใส่ขวดปิดฝาให้สนิทนำไปแช่ในตู้เย็น (ช่องธรรมดา) เก็บได้นานประมาณ 1 - 2 เดือน ส่วนเชื้อสดที่ยังไม่ได้ล้างออกจากเมล็ดข้าวให้ใส่ถุงปิดสนิทแช่ในตู่เย็นเก็บได้นานประมาณ 3 - 4 เดือน ส่วนเมล็ดข้าวสามารถนำไปโรยใต้ต้นไม้เพื่อปองกันโรครากเน่าให้กับต้นไม้ใหญ่ได้





การนำเชื้อสดไตรโครเดอร์มาไปใช้งาน

1. นำไปผสมกับปุ๋ยอินทรีย์  อัตราส่วนคือ  เชื้อสด 1 ส่วน /  รำข้าว 4 ส่วน / ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 100 ส่วน
นำส่วนผสมดังกล่าวผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วพรมน้ำให้พอประมาณไม่ให้แฉะเกินไป เก็บใส่กระสอบหรือถุงไว้ใช้งานต่อไป

2. นำไปรดต้นไม้หรือใส่ในถังปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ ให้ใช้เชื้อสด 100 กรัม (กรองเอาแต่น้ำ)  ผสมกับน้ำที่จะใช้รดหรือปลูก 200 ลิตร

3. กรณีฉีดพ่น ให้ใช้เชื้อสด (กรองเอาแต่น้ำ)  อัตราส่วนคือ
- กรณีป้องกันโรค ฉีดพ่น 7 - 10 วันครั้ง อัตราส่วน เชื้อสด 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
- กรณีรักษาและมีการระบาดมาก ฉีดพ่น ติดต่อกัน 3 - 5 วัน อัตราส่วน เชื้อสด 200 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร


วีดีทัศน์การใช้งานและการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา
1. การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มากับผักไฮโดรโพนิกส์  คลิ๊ก 
2. การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มากับกล้วยไม้ คลิ๊ก  
3. การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มากับนาข้าว คลิ๊ก
4. การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มากับสวนทุเรียน คลิ๊ก
5. การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มากับหน่อไม้ฝรั่ง คลิ๊ก
6. การผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา (เชื้อสด) คลิ๊ก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น