วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556

ปลูกผักไร้ดินในฤดูร้อน

ฤดูร้อน เป็นฤดูที่การปลูกพืชต่างๆ มีปัญหามากที่สุด โดยเฉพาะในการปลูกด้วยระบบ Hydroponics  ซึ่งหลายท่านมักเรียกฤดูนี้ว่าเป็นฤดูปราบเซียน  หากเราศึกษาทำความเข้าใจการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด  ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในฤดูนี้

1. การปลูกผักไทยในฤดูร้อนนี้ปัญหาอาจจะน้อยหน่อยในเรื่องของอุณหภูมิ  เพราะ ผักไทยเป็นพืชผักที่คุ้นเคยกับอากาศร้อนได้ดีกว่าผักสลัดต่างประเทศ  แต่ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของแมลงศัตรูพืชต่างๆ ที่มักจะระบาดมากในฤดูนี้ ซึ่งมีทั้ง หนอน และเพลี้ยต่างๆ  โดยเราอาจจะใช้สารสกัดจากธรรมชาติเช่น สารสกัดจากสะเดา, สารสกัดใบยาสูบ หรือใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย ช่วยป้องกันและยับยั้งการระบาดของแมลงในแปลงผักได้ รวมไปถึงการกางมุ้งป้องกันและใช้แผ่นกาวดักแมลง

2. การปลูกผักสลัด ในฤดูร้อนนี้ สิ่งที่ต้องควบคุมมากที่สุดก็คือ อุณหภูมิของสารละลายธาตุอาหาร  พยายามรักษาให้อยู่ในระดับไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส เนื่องจากอุณหภูมิน้ำ มีผลต่อปริมาณของออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ กล่าวคือถ้าอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นปริมาณอ๊อกซิเจนในน้ำก็จะลดต่ำลง ซึ่งจะมีผลต่อการการทำงานของรากพืช ทำให้รากพืชอ่อนแอเป็นสาเหตุของการชักนำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าได้ (ซึ่งอุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสมคือประมาณ 24 - 28 องศาเซียสเซส)



แนวทางปฎิบัติในการดูแลแปลงผักในช่วงฤดูร้อน
  • ในช่วงฤดูร้อน อัตราการงอกของเมล็ดพืชแต่ละชนิดจะลดลงโดยเฉพาะผักสลัด เปอร์เซ็นต์การงอกอาจจะลดลงเหลือแค่ 30% - 50% เท่านั้น โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกของเมล็ดสลัดคือ 20 - 25 องศา C   (ดูรายละเอียดเพิมเติมเกี่ยวกับอุณหภูมิในการเพาะเมล็ดได้ที่ คลิ๊ก)

  • พลางแสงแปลงปลูกในช่วงเวลา ประมาณ 10.00 -  14.00 น. เพื่อลดการคายน้ำ ซึ่งมีผลต่อการทำงานของรากพืช และเป็นการช่วยลดอุณหภูมิของน้ำในระบบปลูก   โดยเลือกใช้แสลนพรางแสงไม่เกิน 50% หลีกเลี่ยงการใช้แสลนสีเขียวเพราะมีผลกระทบต่อการสังเคราะห์แสงของพืช แนะนำให้ใช้แสลนสีดำเนื่องจากจะกรองแสงได้ดีกว่าสีอื่นๆ

  • การสเปรย์น้ำบริเวณแปลงปลูก เพื่อลดอุณหภูมิ และช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ โดยจะสเปรย์ ทุกๆ  10 นาที  นานครั้งละ 30 - 40 วินาที บางช่วงเวลา ที่อุณหภูมิขึ้นสูงมาก   ซึ่งจะช่วยลดอุณหภูมิได้ประมาณ 3 - 6 องศา C หากมีการระบายอากาศดีจะช่วยได้มาก  แต่ควรระวัง กรณีที่การระบายอากาศไม่ดี ถ้ามีหยดน้ำเกาะที่ใบผักมากเกินไป อาจทำให้เกิดเชื้อรา ที่เป็นสาเหตุของโรคใบจุดได้

  • เพิ่มปริมาณออกซิเจนให้สารละลาย  เช่นในระบบ NFT อาจใช้วิธีการเพิ่มความลาดเอียดของแปลงปลูก จาก 2% เป็น 3 - 5 %  และในระบบ DRFT ใช้การลดระดับน้ำในแปลงปลูกลงเพื่อเพิ่มช่องว่างของรากอากาศให้พืช  และอาจมีการใช้ปั๊มอากาศช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในถังเก็บสารละลายธาตุอาหารด้วยก็ได้

  • ระบบถังแยก ให้ใช้ฉนวนป้องกันความร้อนปิดหุ้มถังส่วนที่แดดส่องถึง และลดปริมาณน้ำในถังลงเพื่อเพิ่มความสูงของระยะการตกกระทบน้ำลงสู่ถัง

  • รักษาระดับอุณหภูมิของสารละลายธาตุอาหารอย่าให้สูงเกิน 30 องศาเซลเซียส จากงานวิจัยพบว่า  สารละลายที่มีอุณหภูมิ 24 - 28 องศา C  พืชจะมีการเจริญเติบโต และการดูดซึมธาตุอาหารขึ้นไปใช้งานได้ดีที่สุด

  • ปรับค่า pH ของสารละลายไปที่ 6.0 และลดค่า EC ลงให้ต่ำกว่าระดับเดิมที่เคยปลูก เพื่อป้องกันไม่ให้รากพืชต้องทำงานหนักในช่วงที่อากาศร้อนและแสงแดดจัด เช่น เดิมเคยปลูกสลัดโดยใช้ค่า EC = 1.5 - 1.6  ก็ให้ลดลงเหลือประมาณ 1.2 ถึง 1.4 แทน และให้เสริมธาตุอาหารพืชทางใบแทนเพื่อป้องกันการขาดธาตุอาหาร (บางฟาร์มอาจใช้เทคนิคนี้คือ ลดค่า EC ให้ต่ำๆ ในช่วงเวลากลางวัน และเพิ่มค่า EC ให้สูงในช่วงเวลากลางคืน) 

  • ใช้ธาตุอาหารเสริมทางใบ ปุ๋ย C (แคลเซียม-โบรอนพลัส) เนื่องจากในฤดูร้อนพืชจะดูดซึมธาตุอาหารทางรากได้ไม่เต็มที่  จึงมักพบอาการขาดธาตุอาหารในช่วงฤดูร้อน (โดยเฉพาะผักในกลุ่มของสลัดต่างๆ) ดังนั้นจึงควรมีการเสริมธาตุอาหารโดยฉีดพ่นทางใบทุกๆ 5 - 7 วัน

  • ใช้ธาตุเหล็ก ที่สามารถทนค่า pH สูงๆ ได้ เช่น เหล็ก Fe-EDDHA ที่สามารถทนค่า pH ได้สูงกว่าเหล็กทั่วๆ ไป (เหล็ก EDDHA ทนค่า pH สูงสุดได้ประมาณ 10.0) เนื่องจากในฤดูร้อนค่า pH ในสารละลายจะเพิ่มสูงขึ้นเร็วมาก  ถ้าหากค่า pH ในสารละลายสูงเกิน 7.0 นานติดต่อกันเกิน 3 วัน จะมีผลทำให้ธาตุเหล็ก และธาตุอาหารอื่นๆ โดยเฉพาะแมงกานีส ตกตะกอนจนพืชไม่สามารถดูดซึมไปใช้งานได้

  • ใช้สูตรสารละลายธาตุอาหารที่มีโมโนแอมโมเนียมเป็นส่วนผสม ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการรักษาสมดุล pH ในช่วงฤดูร้อน  ทำให้ไม่ต้องปรับค่า pH ในน้ำบ่อยๆ (เป็นการประหยัด pH Down)

  • ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาใส่ในถังเก็บสารละลายธาตุอาหารเพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นกับรากพืชในช่วงฤดูร้อน โดยใส่ทุก 7 - 14 วัน

  • รักษาค่า pH ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมคือ 6.0 - 6.5 ในช่วงเจริญเติบโต และ pH 6.5 - 7.0 ช่วงผลผลิต (สลัดก็ในช่วงอายุ 28 -30 วันขึ้นไป)  และปรับลดค่า EC ให้ต่ำลงกว่าระดับเดิมที่เคยปลูก เพื่อให้รากพืชสามารถดูดซึมน้ำได้ดีขึ้นเนื่องจากในฤดูร้อนพืชมีอัตราการคายน้ำสูง ทำให้พืชจะดูดน้ำทางรากเพื่อชดเชยการคายน้ำทางใบ หากค่า EC สูงมากเกินไปจะทำให้รากพืชดูดน้ำได้ลำบากจนทำให้พืชเกิดอาการเหี่ยวและเกิดอาการ Tip burn ได้ โดยปรับลดค่า EC สำหรับผักสลัดให้อยู่ในช่วง 1.2 - 1.4 ก็พอครับ การปลูกสลัดด้วย EC ต่ำๆ และลดลงเรื่อยๆเมื่อสลัดอายุได้ 30 วันขึ้นไป ทำให้เราได้ประโยชน์หลายทาง เช่น ช่วยให้เราประหยัดปุ๋ย, ผักไม่มีอาการเหี่ยวในช่วงแดดจัดหรืออากาศร้อน, ผักไม่เกิดอาการทิปเบรินส์ และที่สำคัญผักสลัดจะไม่ขม

  • ตรวจดูแมลงศัตรูพืชต่างๆ โดยเฉพาะเพลี้ยอ่อนที่มักซ่อนตัวอยู่ใต้ใบ หากพบให้ใช้สารสกัดจากธรรมชาติฉีดพ่นเพื่อกำจัดและเป็นการป้องกันการระบาดต่อไป

  • ควรเปลี่ยนถ่ายสารละลายธาตุอาหารที่ใช้ปลูกในถังเก็บทุกๆ 10 วัน เพื่อรักษาสมดุลของธาตุอาหารพืชในถังเก็บ การปลี่ยนถ่ายน้ำในถังปลูกจะบ่อยหรือไม่จะมีตัวแปรสำคัญคือ
- ขนาดของถังสารละลาย และจำนวนผักที่ปลูก คือถ้าถังใบเล็กแต่จำนวนผักที่ปลูกในแปลงมีมากเกินไป ไม่สัมพันธ์กันก็จะทำให้สมดุลของธาตุอาหารเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ทำให้เราต้องเปลี่ยนน้ำบ่อยขึ้น

- คุณภาพของแหล่งน้ำ คือถ้าน้ำมีความบริสุทธิ์ต่ำ เช่นน้ำบาดาล ที่มีปริมาณของสารละลายในน้ำสูงเกินไปก็จะทำให้ สมดุลของธาตุอาหารบางตัวเสียไปได้ และเป็นอุปสรรค์ต่อการใส่ปุ๋ยในการปลูกพืชเพราะจะใส่ปุ๋ยได้น้อยลง เพราะกังวลว่าค่า EC จะสูงเกินไปในการปลูกพืชนั้นๆ  โดยค่ามาตราฐานที่ดีของน้ำที่เหมาะจะนำมาใช้ปลูกพืชไฮโดรฯ ควรมีค่า EC เริ่มต้นก่อนใส่ธาตุอาหารไม่เกิน 0.3 ms/cm

- ค่า pH ของน้ำ ในกรณีที่น้ำมีการปล่อยให้ค่า pH สูง หรือต่ำเกินไปเป็นเวลานานๆ ในระหว่างปลูกจะมีผลต่อการละลายตัวของธาตุอาหารต่างๆ ที่พืชต้องใช้ในการเจริญเติบโตในช่วงนั้น ทำให้สมดุลของธาตุบางตัวเสียไปทำให้เราต้องทำการเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ

- อุณหภูมิของน้ำ กรณีที่น้ำมีอุณภูมิที่สูงมากๆ ติดต่อกันหลายวันทำให้พืชมีการคายประจุลงในน้ำปริมาณมากทำให้ธาตุอาหารบางตัวเสียสมดุลไป เป็นเหตุให้เราต้องมีการเปลี่ยนน้ำ อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการดูดซึมธาตุอาหารได้เป็นปกติ คือ 24 - 28 องศาเซลเซียส

สรุป การเปลี่ยนน้ำในระบบปลูก เราต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อใช้ประกอบในการกำหนดระยะเวลาการเปลี่ยนน้ำเพื่อให้ผักที่ปลูกสามารถเจริญเติบโตได้เป็นปกติ และผู้ปลูกไม่สิ้นเปลืองน้ำและปุ๋ย มากเกินไป  ผมให้แนวทางในการเปลี่ยนน้ำง่ายๆ ดังนี้ครับ เช่น เราปลูกสลัด ในช่วงฤดูร้อนซึ่งมีอายุปลูกประมาณ 40 - 50 วัน  แนะนำให้เปลี่ยนน้ำอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงผักอายุประมาณ 28-30 วัน และคอยควบคุมการใช้ EC อย่าให้เกิน 1.3 ms/cm คือในระหว่างปลูกถ้าน้ำในถังลดลงไม่ต้องเติมปุ๋ยเพิ่มให้เติมแต่น้ำเปล่าอย่างเดียวก็พอครับ ส่วนฤดูอื่นๆ ส่วนตัวผมไม่เปลี่ยนครับใช้วิธีควบคุม EC และ pH แทน


อาการขอบใบไหม้ Tip burn
          ในหน้าร้อนจะพบอาการ Tip burn บ่อยกว่าฤดูอื่น ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้กับพืชทุกชนิด  โดยต้นเหตุของอาการ   Tip burn เกิดจากการขาดธาตุแคลเซียมในพืช  แต่โดยมากไม่ได้เกิดจากธาตุแคลเซียมในระบบปลูกไม่เพียงพอ แต่เกิดจากอัตราการดูดใช้ธาตุแคลเซียม ทางรากพืชต่ำ  สาเหตุเกิดจากปัญหาของสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม  คืออากาศร้อน, แสงแดดจัดเกินไป  ทำให้สมดุลของการคายน้ำทางใบ กับการดูดน้ำและสารอาหารทางรากไม่สมดุลกัน ประกอบกับความเข้มข้นสารละลายหรือค่า EC ในระบบปลูกสูงเกินไป ทำให้พืชไม่สามารถดูดซึมไปใช้งานได้

          ธาตุแคลเซียม  เป็นธาตุอาหารที่ไม่เคลื่อนที่ไปสู่ส่วนยอดใบได้ด้วยตนเองต้องอาศัยการนำพาโดยธาตุอาหารอื่น  กล่าวคือเมื่อพืชใช้แคลเซียม ซึ่งเป็นองค์ประกอบของส่วนต่างๆในพืช เมื่อใดที่ปริมาณแคลเซียมในส่วนต่างๆของพืชไม่เพียงพอโดยเฉพาะที่ใบอ่อน หรือส่วนยอด อาการขาดแคลเซียมจะแสดงให้เห็นคือ มีการเจริญเติบโตผิดปกติ, ใบอ่อนจะโค้งงอลง, ขอบใบจะเป็นสีเหลือง และเมื่อขาดนานเข้าจะแสดงอาการใหม้เป็นสีน้ำตาลถึงดำ ซึ่งจะพบบ่อยมากในผักสลัด โดยเฉพาะสลัดกุล่มที่เข้าหัว เช่น คอสโรเมน, บัตเตอร์เฮด, ผักกาดแก้ว ฯลฯ  


          การให้ธาตุแคลเซียม ร่วมกับธาตุโบรอน ฉีดพ่นเสริมทางใบเพื่อเป็นการป้องกันและลดอาการ Tip burn  ในพืชโดยฉีดพ่นในช่วงเย็น-ค่ำ แนะนำให้ใช้สารจับใบร่วมด้วยเพื่อการซึมผ่านของธาตุอาหารลงสู่เนื้อเยื้อของพืชในส่วนต่างๆ ได้ดีขึ้น (ดูข้อมูลสารจับใบเพิ่มเติม คลิ๊ก)


ปัจจัยที่ก่อให้เกิด Tip burn
1. อุณหภูมิของอากาศสูง มีแสงแดดจัด

2. มีลมร้อนและแห้งทำให้พืชมีอัตราการคายน้ำสูง

3. ค่า EC สารละลายสูงเกินไป ทำให้พืชนำพาธาตุอาหารและนำจากรากสู่ใบได้ยากขึ้น

4. สภาพรากพืชเจริญเติบโตและทำงานไม่ดีเนื่องจากรากขาดออกซิเจน (สาเหตุมาจากอุณหภูมิของสารละลายสูงเกินไป)


5. สารละลายธาตุอาหารมีปริมาณโพเทสเซียม (K+) และ แอมโมเนีย อิออน (NH4+) มากเกินไปเนื่องจากธาตุอาหารทั้ง 2 ชนิดนี้จะไปยับยั้งการนำพาแคลเซียม (Ca++)


วิธีป้องกันการเกิด Tip burn
1. พลางแสงให้กับพืชเมื่ออุณหภูมิและแสงแดดจัดเกินไป

2. เลือกพันธุ์พืชที่ทนต่อการเกิด Tip burn ได้ดีเช่น แกรนด์แรปิดส์, เรดเซลส์, สลัดโอ๊คลีฟต่างๆ หรือเลือกปลูกผักไทยก็ได้

3. ปรับลดค่า EC อย่าให้สูงเกินไป โดยเฉพาะช่วงที่พืชมีการคายน้ำสูง (ช่วงกลางวัน)
โดยสลัดแนะนำให้ EC ไม่เกิน 1.4 ms/cm

4. ฉีดพ่นปุ๋ย C (แคลเซียม+โบรอน) เสริมทางใบเพื่อป้องกันและลดอาการขาดธาตุแคลเซียม

5. รักษาอุณหภูมิของสารละลายธาตุอาหารไม่ให้สูงเกินไปเนื่องจากมีผลต่อปริมาณอ๊อกซิเจน


          จากการทดลองปลูกผักสลัดในระบบ DRFT โดยในช่วงกลางวันมีการปรับค่าสารละลายธาตุอาหารพืชให้ค่า  EC = 1.2 ถึง 1.4 และในเวลากลางคืนให้แคลเซียมไนเตรท Ca(NO3)2 ที่ความเข้มข้น 100 - 200 mg/l  เสริมโดยการฉีดพ่นทางใบพบว่าการเกิดอาการ Tip burn ลดลงมากกว่าการให้เสริมในช่วงเวลากลางวัน