วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

ความปลอดภัยของผักไฮโดรโพนิกส์


          เรื่องความปลอดภัยของการบริโภคผักที่ปลูกในสารละลายธาตุอาหาร เป็นสิ่งที่ถูกถามกันมากคำถามหนึ่ง ด้วยความกังวลที่ว่าผักที่ปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์นี้ต้องแช่กับสารละลายธาตุอาหารซึ่งจัดเป็นสารเคมีอย่างหนึ่ง เมื่อผู้บริโภครับประทานเข้าไปอาจทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้หรือไม่   โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักจะนำไปเปรียบเทียบกับการปลูกพืชในดินแบบให้ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด หรือปุ๋ยคอก)


          ในความเป็นจริงแล้ว พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดูดกินอาหารผ่านทางรากในรูปของแร่ธาตุที่อยู่ในรูปของอิออน หรือ ประจุ (ion) เท่านั้น  ซึ่งมีทั้งธาตุประจุบวก ได้แก่ NH4+, K+, Ca+2, Mg+2 , Fe+2 เป็นต้น และธาตุประจุลบ ได้แก่  NO3-, SO4-2,  H2PO4-, BO3-3   ดังนั้น แม้ว่าเราจะปลูกพืชลงในดินแล้วทำการให้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยเหล่านั้นจะยังไม่เป็นประโยชน์ต่อพืชจนกว่าจะถูกการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในดินจนกระทั่งเปลี่ยนเป็นแร่ธาตุต่างๆ ที่อยู่ในลักษณะของเคมีธาตุอาหารพืช แล้วละลายอยู่ในน้ำในดิน จากนั้นพืชจึงจะดูดซึมไปใช้งานได้


          สรุปก็คือ ไม่ว่าเราจะปลูกพืชในดินหรือในสารละลาย พืชก็ดูดใช้อาหารในรูปของประจุของแร่ธาตุ (ซึ่งก็เรียกว่าเป็นเคมีเช่นกัน)  โดยที่พืชจะนำเอาแร่ธาตุต่างๆ เหล่านั้นไปใช้สร้างสารประกอบอินทรีย์โมเลกุลใหญ่อื่นๆ ได้แก่ เป็นแป้ง โปรตีน ไขมัน วิตามิน ต่างๆ ให้มนุษย์นำมารับประทานอีกที   ดังนั้น หากเราไม่กังวลที่จะรับประทานผักที่ปลูกจากดินแล้วใส่ปุ๋ยหมัก, ปุ๋ยคอก เราก็ไม่ควรที่จะกังวลกับการบริโภคผักที่ปลูกในสารละลาย เช่นกัน   


          ส่วนเรื่องการสะสมของไนเตรทที่เป็นอนุมูลของไนโตรเจน ที่พืชต้องการใช้มากในช่วงของการพัฒนาด้านลำต้น,กิ่ง,ใบ ไม่ว่าจะปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์ หรือปลูกในดิน ก็จะต้องพบว่ามีไนเตรทอยู่บ้างไม่มากก็น้อย  แต่หากมีไม่เกิน 2,500 - 3,000 มก. ต่อ 1 ก.ก. น้ำหนักสดของผัก ก็ถือว่าปลอดภัยครับ ประเทศไทยมีแสงแดดค่อนข้างจัด พืชจึงมีการสังเคราะห์แสงจึงค่อนข้างสูง ทำให้อัตราการเปลี่ยนแปลงไนเตรทในต้นพืชกลายมาเป็นกรดอะมิโนกลูตาเมทเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว


          การปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์ สามารถลดไนเตรทก่อนเก็บเกี่ยวได้ง่าย โดยการงดให้ธาตุอาหารหรือเลี้ยงพืชในอัตรา EC ที่ต่ำกว่า 1.0 ประมาณ 1 - 2 วัน ก่อนเก็บเกี่ยวพืชก็สามารถเปลี่ยนไนเตรทให้เป็นธาตุอาหารที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ได้ในเวลาอันสั้น  ในทางกลับกันการปลูกในดินซึ่งมีการสะสมของไนเตรทเช่นเดียวกับการปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์กลับควบคุมและลดระดับไนเตรทได้ยากกว่าการปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์เสียอีก  (ไนเตรทจะลดลงและหมดไปด้วยการให้พืชสังเคราะแสงและงดให้ธาตุอาหาร หรือผ่านความร้อนจากการประกอบอาหาร)

ที่มา : ผู้ช่วยศาสตราจาย์ ดร.ธรรมศักดิ์ ทองเกตุ

2 ความคิดเห็น:

  1. ถ้าเราปลูกพืชที่กินผล อย่าง แตงกวา ถั่วฝักยาว ฟักทอง แตงโม ต้นไม้พวกนี้มันมีการสะสมไนเตรทที่ลูกมันมั้ยครับ

    ต้องทำการลดปุ๋ยก่อนเก็บรึเปล่าครับ

    ตอบลบ