วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2557

ต้นหอมญี่ปุ่น Japanese Bunching Onions


ต้นหอมญี่ปุ่น (Japanese Bunching Onions)

ในเมนูอาหารญี่ปุ่นเกือบทุกชนิดสิ่งที่มักขาดไม่ได้เลยคือ ต้นหอมญี่ปุ่น ซึ่งชาวญี่ปุ่นจะนำมาเป็นส่วนประกอบเพื่อเพิ่มกลิ่นและรสชาดของอาหาร ไม่ว่าจะผสมในซุป หรือซอสที่ใช้รับประทาน รวมถึงการนำมาใส่ในสุกี้ยากี้ และเนื้อย่างประเภทต่างๆ อีกด้วย

ต้นหอมญี่ปุ่นจะมีลักษณะที่แตกต่างจากต้นหอมไทยตรงที่ ลำต้นของต้นหอมญี่ปุ่นจะมีขนาดใหญ่ ที่โคนต้นจะไม่ป่องออกเป็นกระเปราะเหมือนหอมไทย ต้นหอมญี่ปุ่นจะมีลักษณะที่คล้ายกับต้นหอมฝรั่ง  ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นคนละชนิดกัน โดยต้นหอมฝรั่งจะเรียกว่า รีคิ (Riiki)  ส่วนต้นหอมญี่ปุ่นจะเรียกว่า เนกิ (Negi)  โดยมีข้อสังเกตุระหว่างต้นหอมฝรั่ง กับต้นหอมญี่ปุ่นดังนี้

1. ใบของต้นหอมญี่ปุ่นจะเป็นหลอดกลวง เนื้อละเอียดในขณะที่ใบของต้นหอมฝรั่งจะแบนและหยาบกว่า
2. ต้นหอมญี่ปุ่นจะมีกลิ่นหอม และรสหวาน ส่วนต้นหอมฝรั่งจะมีกลิ่นฉุนกว่า

ต้นหอมญี่ปุ่นเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ปัจจุบันรู้จักแพร่หลายทั่วโลก หอมญี่ปุ่นเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ลำต้นจริงมีลักษณะเป็นแผ่นอยู่ระหว่างรากและใบ ใบลักษณะเป็นหลอดกลวงปลายแหลม คล้ายใบหอมหัวใหญ่ แต่มีขนาดใหญ่กว่า มีลำต้นเทียมคือส่วนของกาบใบ ลักษณะกลมยาวสีขาวขยายตัวตามยาว ทำหน้าที่สะสมอาหาร เป็นส่วนที่นำมาใช้บริโภค ทำแกงจืด ผัดกับ เนื้อต่าง ๆ ตุ๋นแบบจับฉ่ายหรือทำสลัด เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศค่อนข้างเย็น ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและการแยกกอ ที่สำคัญจะต้องได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ดินมีการระบายน้ำได้ดี เช่น ดินร่วนปนทราย มีหน้าดินลึก มีอินทรีย์วัตถุสูง  ไม่ชอบดินที่เป็นกรดสูง โดยค่า pH ที่เหมาะสมกับการปลูกต้นหอมคือ 6.8  พื้นทีๆ มีการปลูกต้นหอมญี่ปุ่นมากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่  จังหวัดเลย, เชียงใหม่,  เชียงราย, แม่ฮ่องสอน

ต้นหอมจะมีลำต้นจริงอยู่ระหว่างรากและใบ  โดยที่ใบจะมีลักษณะเป็นหลอดยาว มีใบจำนวน 6 - 7 ใบต่อต้น  โดยใบนอกหรือใบแก่มี 4 ใบ และใบด้านในหรือใบอ่อน 2 - 3 ใบ  ลำต้นเทียม คือส่วนของกาบใบที่ทำหน้าที่สะสมอาหารเป็นส่วนที่นิยมนำมาบริโภคมากที่สุด เพราะเป็นส่วนที่น้ำตาล, แคลเซียม, ฟอสฟอรัส วิตามิน A, C, K ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และลดคลอเลสเตอรอลในเลือดได้อีกด้วย


วิธีเพาะเมล็ด
แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำสะอาดประมาณ 15 - 20 นาที ผึ่งเมล็ดไว้ประมาณ 30 นาที แล้วห่อด้วยผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ ห่อทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน นำเมล็ดที่บ่มมาแล้ว 1 คืน มาเพาะลงแปลงปลูกได้เลย โดยเมล็ดจะงอกภายในเวลาประมาณ 5 - 7 วัน


การปลูกต้นหอมญี่ปุ่น
- กรณีที่ปลูกในช่วงฤดูฝนแนะนำให้ทำหลังคาพลาสติกป้องกันฝนที่จะตกมากระทบใบต้นหอมหักเสียหายได้ อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้น้ำฝนชะล้างหน้าดินออกไปได้อีกด้วย

- อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 100 - 150 วัน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น