วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ความรู้เบื้องต้นในการปลูกพืชไร้ดิน




การปลูกพืชไร้ดินหลายท่านอาจจะคิดถึงการปลูกที่รากต้องแช่ในน้ำผสมสารละลายเท่านั้น  แต่ความเป็นจริงแล้วการปลูกพืชไร้ดินนั้น  มีความหมายรวมถึงการปลูกพืชในวัสดุปลูกอื่นๆ ที่นำมาใช้ทดแทนการปลูกด้วยดิน เช่น การปลูกในวัสดุธรรมชาติเช่น ขุยมะพร้าว, แกลบ, ทราย ฯลฯ  รวมถึงวัสดุสังเคราะห์เช่น ฟองน้ำ, ร็อควู้ด, เพอร์ไลท์ ฯลฯ ในบทความนี้ผมจะอธิบายถึงความหมาย, ความสำคัญ, ข้อดี, ข้อเสีย ของการปลูกพืชไร้ดินให้ทราบครับ

ความหมายของการปลูกพืชไร้ดิน คือ การปลูกพืชด้วยการเลียนแบบการปลูกพืชบนดินแต่ผู้ปลูกจะใช้วัสดุปลูกอื่นๆ มาใช้ทดแทนการปลูกด้วยดิน



ข้อแตกต่างระหว่างการปลูกพืชบนดิน กับการปลูกพืชไร้ดิน

          ตามธรรมชาติพืชจะเจริญเติบโตได้ต้องอาศัยปัจจัยที่เหมาะสมคือ  แสง, น้ำ, ธาตุอาหาร, อุณหภูมิ, ความเป็นกรดด่าง, อ๊อกซิเจน และ คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ทั้งในส่วนของรากและในส่วนที่อยู่เหนือดิน   สำหรับการปลูกพืชบนดินนั้นมักประสบปัญหาเรื่องคุณสมบัติของดินที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกพืช เช่น ดินมีปริมาณธาตุอาหารต่ำ  มีความเป็นกรดด่างไม่เหมาะสม  ทำให้เกิดความยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูงในการปรับปรุงดินเพื่อให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ทำให้การปลูกบนดินมักจะได้ผลผลิตที่ไม่สม่ำเสมอทั้งในด้านของปริมาณและคุณภาพ

          สำหรับการปลูกพืชแบบไร้ดินนั้น ผู้ปลูกจะให้พืชได้รับน้ำที่ผสมสารละลายธาตุอาหารโดยตรง ซึ่งการปลูกนั้นจะปลูกแบบรากสัมผัสกับน้ำโดยตรงหรือมีวัสดุปลูกผสมร่วมด้วยก็ได้ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ผู้ปลูกสามารถควบคุมการให้น้ำและธาตุอาหารพืชให้เหมาะสมและง่ายกว่าการปลูกบนดินมาก แต่การปลูกพืชแบบไร้ดินในประเทศเขตร้อน  โดยเฉพาะการปลูกแบบรากแช่ในสารละลายมักประสบปัญหาในเรื่องของปริมาณอ๊อกซิเจนที่รากไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในพืชที่ต้องการอ๊อกซิเจนที่รากมากเช่น พืชตะกูลแตง, มะเขือเทศ, พริกหวาน ฯลฯ แต่เราสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการเพิ่มวัสดุปลูกลงไปในระบบปลูกเพื่อให้รากมีพื้นที่ยึดเกาะและมีพื้นที่รับอ๊อกซิเจนเพิ่มขึ้น


          รูปแบบของการปลูกพืชไร้ดิน หรือการปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์ สามารถแบ่งออกตามลักษณะและวิธีการปลูกโดยแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้




ข้อดีของการปลูกพืชไร้ดินคือ

1. การปลูกโดยไม่ใช้ดิน สามารถปลูกพืชได้ในพื้นที่ซึ่งดินมีสมบัติไม่เหมาะสมต่อการปลูกพืช เช่น ดินเค็ม ดินเปรี้ยว หรือดินปนเปื้อนด้วยสารพิษ ฯลฯ  รวมทั้งพื้นที่ซึ่งไม่มีดิน เช่น บนอาคารสูง


2. ให้ผลผลิตในการปลูกสูง และมีความสม่ำเสมอ เนื่องจากผู้ปลูกสามารถควบคุมปัจจัยการเจริญเติบของพืชได้ดีกว่าการปลูกบนดิน

3. ใช้ระยะเวลาการปลูกสั้น และมีรอบการปลูกใน 1 ปีมากกว่าการปลูกบนดิน เนื่องจากการปลูกแบบไร้ดินนี้ผู้ปลูกสามารถปลูกพืชต่อเนื่องกันในพื้นที่เดิม   โดยไม่ต้องมีการพักการปลูกเพื่อฟื้นฟูดินหลังเพาะปลูก

4. ลดปัญหา ของโรคและแมลงที่มักจะมีสาเหตุมามาจากดินที่มีการเพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง

5. ประหยัดแรงงาน, เวลา และค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูก เช่น เรื่องการเตรียมดินก่อนปลูก, การกำจัดวัชพืช, การรดน้ำ,  การเติมปุ๋ย

6. การใช้น้ำและธาตุอาหารพืชมีประสิทธิภาพและมีความประหยัดมากกว่าการปลูกพืชบนดินมาก

7. ประหยัดค่าขนส่งผลผลิต เนื่องจากผู้ปลูกสามารถเลือกสถานที่เพาะปลูกให้ใกล้กับแหล่งรับซื้อทำให้สามารถลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งไปได้มาก



ข้อจำกัดของการปลูกพืชไร้ดิน

1. เป็นการปลูกที่มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นสำหรับอุปกรณ์ในการปลูกค่อนข้างสูง

2. ผู้ปลูกต้องศึกษาทำความเข้าใจในระบบการปลูกให้ดีเสียก่อน  และต้องอาศัยประสบการณ์ในการปลูกเพื่อนำมาช่วยพัฒนาผลผลิตให้ดีขึ้น



ตัวอย่างการปลูกพืชไร้ดินในต่างประเทศ

1. บริษัท Secon High-Plant จำกัด  ในประเทศญี่ปุ่น ได้สร้างโรงงานผลิตพืชสมุนไพรขึ้นที่เมืองชิโรอิชิ จังหวัดมิยากิ   โรงงานแห่งนี้มีโรงผลิตพืช  2 โรงเรือน โรงเรือนหนึ่งปลูกโดยใช้แสงจากดวงอาทิตย์ มีพื้นที่ปลูก 1,000 ตารางเมตร ส่วนอีกโรงหนึ่งปลูกโดยใช้แสงจากหลอดโซเดียมความดันสูง มีพื้นที่ปลูก 650 ตารางเมตร บริษัทแห่งนี้ปลูกสมุนไพรทั้งหมด 13  ชนิด อาทิเช่น มินต์, เบซิล, โรสแมรี ฯลฯ ถึงแม้สมุนไพรเหล่านี้สามารถปลูกโดยใช้ดินได้  แต่มีคุณภาพของผลผลิตที่ได้จะไม่ดีเหมือนสมุนไพรที่ผลิตในโรงงานที่ควบคุมปัจจัยการเจริญเติบโต  



          โดยพบว่าสมุนไพรที่ปลูกแบบไร้ดินนั้นมีคุณภาพสม่ำเสมอและตรงตามที่ต้องการของตลาดมากกว่าการปลูกบนดิน  ข้อสำคัญสามารถปลูกได้ทั้งปีโดยไม่มีโรคและแมลงรบกวน อีกทั้งยังสามารถผลิตสมุนไพรได้มากกว่าการปลูกโดยใช้ดิน 30 เท่า ในขณะที่ใช้แรงงานเพียงครึ่งหนึ่งของการปลูกแบบเดิม ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่จะใช้ในขั้นตอนเพาะเมล็ดและเก็บเกี่ยวผลผลิต ในกระบวนการปลูกทางบริษัทใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ทั้งหมด ภายในโรงเรือนบริษัทฯ ควบคุมให้มีอุณหภูมิช่วงกลางวัน 23 °C กลางคืน 18 °C ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % และความเร็วลม 0.5 เมตร/วินาที  อีกทั้งยังมีการควบคุมปริมาณแสงให้เพียงพอต่อความต้องการของสมุนไพรแต่ละชนิดอีกด้วย

*******************************************************************************

2. Fodder Factory ฟาร์มปศุสัตว์แห่งหนึ่งในออสเตรเลียสร้างโรงเรือนปลูกหญ้า เพื่อผลิตหญ้าใช้เลี้ยงสัตว์ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเป็นช่วงที่หญ้าแห้งและธัญพืชขาดแคลนและมีราคาแพง 



โดยนำเอาเมล็ดหญ้าหว่านในถาดปลูกแล้วนำไปวางบนชั้น อุปกรณ์อัตโนมัติจะจ่ายสารละลายปุ๋ยด้วยหัวพ่นที่ติดตั้งอยู่เหนือชั้นวางถาด เป็นเวลา 1 นาที ทุกๆ 3 ชั่วโมง อุณหภูมิภายในโรงเรือนถูกควบคุมให้อยู่ที่ 21 °C เมื่ออุณหภูมิต่ำกว่านี้ เครื่องทำความร้อนที่ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงจะทำงานโดยอัตโนมัติ ในทางตรงกันข้ามเมื่ออุณหภูมิสูงกว่าค่าที่กำหนด ระบบทำความเย็นด้วยแผ่นระเหยน้ำ (evaporative cooling) จะทำงานแทน เมล็ดหญ้าที่หว่านไว้จะงอกยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ในเวลา 8 วัน เมล็ดหญ้า 1 กิโลกรัม สามารถผลิตหญ้าสดได้ 6-10 กิโลกรัม


*******************************************************************************
3. ทางตอนเหนือของบลูคลิน  ประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าของอาคารโรงโบล์วลิ่งเก่าได้ดัดแปลงหลังคาโรงโบล์วลิ่งนี้ให้เป็นฟาร์มปลูกผักบนดาดฟ้าเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งผักมาใช้จำหน่ายในร้านอาหาร เนื่องจากการจราจรในนิวยอร์คติดขัดอย่างมากทำให้ผักที่ขนส่งมา ไม่สดและเน่าเสียได้เจ้าของอาคารจึงได้ลงทุนสร้างโรงเรือนปลูกผักในดาดฟ้าอาคารแห่งนี้ขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว  โดยระบบไฟฟ้าที่ใช้ในฟาร์มแห่งนี้ก็ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า  ผักที่ปลูกในฟาร์มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผักสลัด ใช้ระบบปลูกแบบน้ำตื้น หรือ NFT




* บทความต่อไป  ผมจะกล่าวถึงประเภทของการปลูกพืชไร้ดินแบบต่างๆ

วันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ธาตุ Calcium ในระบบ Hydroponics


ความสำคัญของธาตุแคลเซียม ในระบบ Hydroponics

            ปัญหาการขาดธาตุ Ca ในระบบ Hydroponics เป็นปัญหาที่พบบ่อยมากโดยเฉพาะ ในผักสลัดจะเกิดอาการ Tip burn (ขอบใบไหม้) ในมะเขือเทศและพริกหวานเกิด Blossom-end rot อาการขาด Ca มักเกิดจากมีปริมาณ Ca ไม่เพียงพอในพืช แต่ไม่ได้หมายความว่า Ca ในสารละลายไม่เพียงพอนะครับ แต่เป็นปัญหาส่วนใหญ่ที่พบเกิดจากอัตราการดูดใช้ Ca ของพืชไม่เพียงพอ กล่าวคือแม้ในสารละลายธาตุอาหารจะมีธาตุ Ca ในปริมาณมากพอเพียงกับความต้องการของพืชแต่มีปัญหาอัตราการดูดใช้ Caไม่เพียงพอ ซึ่งอาจเป็นปัญหาของสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม หรือความไม่สมดุลของธาตุอาหารในสารละลายไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอัตราส่วนของธาตุแคลเซียม กับธาตุอาหารตัวอื่นเช่น NH4+  ,K+,Mg++ 

หน้าที่ของธาตุแคลเซียมที่มีผลต่อพืช
            หน้าที่ของ Ca คือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของผนังเซลล์ คือส่วนของ Calcium Pectate ทำหน้าทีคล้ายกาวเชื่อมผนังเซลล์ให้ติดกันซึ่งทำให้เซลล์มีความแข็งแรง ดังนั้น Ca เป็นตัวทำให้ผลและใบแข็งแรง  ถ้าขาดธาตุนี้จะทำให้ส่วนของเซลล์หลวมอ่อนแอและตายเป็นสีน้ำตาลหรือดำ และธาตุ Ca เป็นธาตุที่ไม่เคลื่อนที่ในพืช ดังนั้นจะต้องมีปริมาณ Ca ในพืชอย่างพอเพียงตลอดเวลา พืชไม่สามารถเคลื่อนย้าย Ca ไปยังเซลล์ใหม่ได้  อาการขาด Ca จึงมักจะเกิดและแสดงอาการในส่วนยอดของพืช  โดยเฉพาะยอดผักสลัดใบยอดจะมีอาการขอบใบไหม้มีสีน้ำตาลหรือดำ ในมะเขือเทศและพริกหวานจะเกิดที่ปลายผลเซลตายเป็นสีดำและเน่าในที่สุด เรียกว่า Blossom-end rot ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยมากทั้งที่ปลูกในดิน และการปลูกแบบ Hydroponics ที่ไม่มีการเพิ่มปริมาณ C ในระบบ

การดูดใช้งานธาตุแคลเซียมของพืช
          ธาตุ Ca เมื่อถูกดูดซึมเข้าสู่ต้นพืชทางรากแล้ว  ส่วนใหญ่จะเคลื่อนที่อยู่ใน Xylem แบบ Passive Transport ไปตามกระแสการไหลเวียนของสารละลายใน Xylem สู่ส่วนยอดของต้นพืช  การไหลเวียนของน้ำและธาตุอาหารในเซลส์พืช ต้องอาศัยการคายน้ำของพืชทางใบ เพื่อให้เกิดการเคลื่อนที่ของน้ำและธาตุอาหารใน Xylem ถ้าการคายน้ำของพืชช้าลง จะมีผลต่อการลำเลียงธาตุ Ca ไปส่วนต่างๆ ของพืชด้วย  โดยปกติส่วนยอดของใบอ่อนของพืชที่ถูกห่อหุ่มด้วยใบอ่อน ก็มีโอกาสที่จะขาด Ca ได้สูง เนื่องจากใบอ่อนจะมีการคายน้ำน้อยกว่าใบแก่ เราจึงมักพบว่าส่วนยอดอ่อนจะเกิดอาการขาดแคลเซียม ซึ่งจะพบมากในพืชประเภทสลัด   ดังนั้นการฉีดพ่นแคลเซียมไปโดยตรงในส่วนยอด หรือส่วนต่างๆของพืช เพื่อให้ดูดซึมเข้าสู่เซลส์บริเวณนั้นๆ ได้โดยตรงจะช่วยลดอาการขาดแคลเซียมในบริเวณนั้นๆ ของพืชได้ดี

อาการขาดแคลเซียม (อาการ Tip burn ในพืชผัก)


          เนื่องจากธาตุ Ca  เป็นธาตุที่มีการเคลื่อนที่ได้ช้าในพืช  กล่าวคือเมื่อพืชใช้ Ca เป็นองค์ของเซลส์ในส่วนต่างๆในพืช หากภาวะที่พืชมีปริมาณ Ca ไม่เพียงพอ ในส่วนต่างๆ นั้น เช่น  ที่ใบอ่อน หรือส่วนยอด ดังนั้นอาการขาดแคลเซียมก็จะแสดงอาการให้เห็น คือ เกิดความผิดปกติของใบอ่อน ใบอ่อนจะโค้งงอลง  ขอบใบเป็นสีเหลืองและเมื่อขาดนานเข้าจะแสดงอาการใหม้เป็นสีน้ำตาล จนถึงดำ ซึ่งภาวะการขาด Ca  จะพบบ่อยมากในผักสลัด เป็นอาการที่เรียกว่า Tip burn   ส่วนในไม้ผล  เช่น มะเขือเทศ, พริกหวาน จะเรียกว่า Blossom-end rot โดยจะแสดงอาการในส่วนของก้นผลจะเน่า และการเจริญของรากที่ขาด Ca จะเจริญไม่ดีรากสั้นและเป็นสีน้ำตาล

          พืชที่มักแสดงอาการ Tip burn ได้แก่พวกผักสลัด (Lettuce) โดยเฉพาะชนิดที่มีลักษณะเป็นหัวห่อและอาจพบในพืชจำพวกกะหล่ำ (Cabbage) อาการขาดจะเกิดที่ใบที่อยู่ด้านในโดยขอบใบจะไหม้เป็นสีน้ำตาล ส่วนในผักพวก Spinach ใบอ่อนจะแสดงขอบใบไหม้

            ในฤดูร้อนจะพบอาการ Tip burn มากที่สุด  แต่ในฤดูอื่นก็อาจพบ Tip burn ได้เช่นกัน ต้นเหตุสำคัญของอาการ    Tip burn เกิดจากการขาด Ca   แต่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากสารละลายที่ใช้เลี้ยงมี Ca ไม่เพียงพอ แต่สาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากค่า EC ของสารละลายสูงเกินไปทำให้พืชไม่สามารถดูดซึมน้ำและอาหารไปเลี้ยงส่วนยอดได้ทันต่อการเจริญเติบโต ดังนั้นแนะนำให้มีการปรับลดค่า EC ลงเมื่อผักสลัดมีอายุปลูกมากขึ้น โดยแนะนำไว้ที่ 1.2 - 1.5 ms/cm

            การเกิด Tip burn จะเกิดในช่วงที่อัตราการคายน้ำของพืชสูงกว่าอัตราการดูดน้ำของราก หรือในสภาพตรงข้ามคือในสภาพที่มีความชื้นในอากาศสูงจนอัตราการคายน้ำของพืชต่ำมาก กล่าวคือทั้งสองสาเหตุ จะมีผลให้การเคลื่อนที่ของสารละลายธาตุอาหารพืชจากรากสู่ยอดถูกจำกัด   ทำให้พืชก็มีแนวโน้มเกิด Tip burn ได้   

          โดยปกติ Tip burn จะพบเมื่อผักสลัดที่มีอายุใกล้เก็บเกี่ยว ใบอ่อนที่อยู่ภายในหัวผักสลัด จะคายน้ำได้ยากและน้อยกว่าใบส่วนอื่นๆ ทำให้ธาตุอาหาร โดยเฉพาะ Ca เคลื่อนย้ายไปที่ยอดได้ยากกว่าส่วนอื่น จึงทำให้เกิดภาวะยอดอ่อนขาด Ca ได้   

          นอกจากนี้สาเหตุอีกอย่างที่อาจทำให้เกิด Tip burn คือค่าความเข้มข้นสารละลายสูง เกินไป รวมถึงปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างที่สำคัญมากคือชนิดและสายพันธุ์ของพืชที่ปลูกนั้นมีการสภาวะการเกิด Tip burn ได้มากน้อยขนาดไหนผู้ปลูกจึงควร เลือกสายพันธุ์ที่สามารถทนต่อการเกิด Tip burn มาปลูกให้ เหมาะสมกับสภาพอากาศ

จากข้อมูลสามารถสรุปปัจจัยที่ก่อให้เกิด Tip burn คือ
1.      สภาพอุณหภูมิสูงและแสงแดดจัด
2.      มีลมร้อนและแห้งทำให้พืชมีการคายน้ำสูง ทำให้ขาดสมดุลน้ำและอาหารในเซลส์
3.      ค่า EC สารละลายสูง
4.    รากพืชเจริญเติบโตไม่ดีเนื่องจากรากขาดออกซิเจน ซึ่งมีผลมาจากอุณหภูมิของน้ำที่สูง
5.      มีปริมาณ K+ และไนโตรเจนในรูป NH4+ สูง เนื่องจากทั้งสองตัวจะยับยั้งการดูด Ca ++
6.      สภาพที่อากาศมีความชื้นสัมพัทธ์สูง ทำให้การคายน้ำลดลง
7.      ลักษณะสายพันธุ์ของพืชชนิดนั้นๆ


การป้องกันและการลดภาวะการขาดแคลเซียม   ผู้ปลูกควรมีการปฎิบัติดังนี้
1. มีการฉีดพ่น Ca (แคลเซียม-โบรอน) ทางใบ สัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง (แนะนำช่วงเช้าหรือก่อนค่ำ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวพืชจะดูดซึมธาตุอาหารทางใบได้ดีกว่าช่วงเวลากลางวัน) 

2.ปรับลดค่าความเข้มข้นของสารละลาย EC เมื่อผักเริ่มมีอายุปลูกมากขึ้น โดยปกติการปลูกสลัดในเขตร้อน หรือในช่วงที่มีอุณหภูมิสูง แนะนำให้ใช้ EC ดังนี้ 
- วันที่ 1 - 7       ใช้น้ำเปล่าเลี้ยง
- วันที่ 8 - 14     EC = 0.7 - 1.0  ms/cm
- วันที่ 15 - 21   EC = 1.4 - 1.5  ms/cm
- วันที่ 22 - 28   EC = 1.3 - 1.4  ms/cm
- วันที่ 29 - 35   EC = 1.2 - 1.3  ms/cm
วันที่ 36 - 42   EC = 1.0 - 1.2  ms/cm
* ให้ใช้ค่า EC ดังกล่าว ร่วมกับการฉีดพ่นปุ๋ย C (แคลเซียม-โบรอน) ทางใบ  สัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง จะช่วยลดและป้องกันการเกิดภาวะขาด Ca ได้ครับ

3. ลดการคายน้ำทางใบของพืชลง ด้วยการพรางแสงและมีการเสปรย์น้ำเพื่อลดอุณหภูมิในแปลงปลูกลง 

4. รักษาอุณหภูมิของน้ำอย่าให้สูงเกินไป เนื่องจากน้ำในระบบปลูกถ้าสูงเกินไปจะมีผลทำให้การดูดซึมธาตุอาหารพืชลดลงจนทำให้เกิดภาวะขาด Ca ได้

5. ในฤดูร้อนอาจจะมีการปลี่ยนน้ำผสมธาตุอาหารใหม่ ทุกๆ 7 - 10 วัน ขึ้นอยู่กับขนาดของถังและปริมาณของผักที่ปลูกเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อเป็นการปรับสมดุลของธาตุอาหารที่มักมีความผิดเพี้ยนในช่วงอากาศร้อน 

6. ใช้ธาตุอาหารที่มี ปริมาณ K+ และไนโตรเจนในรูป NH4+  ที่เหมาะสมกับปริมาณ Ca  กล่าวคือถ้าปริมาณ  K+ และไนโตรเจนในรูป NH4+ สูงเกินไปในระบบ จะส่งผลทำให้ภาวะการดูดซึม Ca ของพืชผิดปกติ จนนำไปสูงการเกิด Tip burn ได้


วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2557

กรีนซัมเมอร์ (Green Summer)


ตัวอย่างการกำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดกรีนซัมเมอร์ (ในพื้นที่อากาศร้อน)

1. หลังเพาะเมล็ดได้ประมาณ 7 วัน เริ่มให้ปุ๋ยอ่อนๆ โดยให้ค่า EC ประมาณ 1.0 - 1.2 ms/cm

2. เมื่อครบกำหนด 10 - 14 วัน หรือต้นเกล้าเริ่มมีใบจริงประมาณ 2 - 3 ใบ ก็สามารถย้ายลงแปลงปลูกได้เลย โดยกำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.4 - 1.6 ms/cm

3. ช่วงผักมีอายุได้ประมาณ 15 - 20 วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.4 - 1.5 ms/cm และควรฉีดพ่น แคลเซียม และโบรอน สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง เพื่อป้องกันอาการปลายใบไหม้ (Tip burn)

4. ช่วงผักมีอายุได้ประมาณ 21 - 25 วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.3 - 1.4 ms/cm และควรฉีดพ่น แคลเซียม และโบรอน สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง เพื่อป้องกันอาการปลายใบไหม้ (Tip burn)

5. ช่วงผักมีอายุได้ประมาณ 30 - 35  วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.2 - 1.3 ms/cm และควรฉีดพ่น แคลเซียม และโบรอน สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง เพื่อป้องกันอาการปลายใบไหม้ (Tip burn)

6. เมื่อผักมีอายุได้ประมาณ 40 - 45  วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.0 - 1.2 ms/cm และควรฉีดพ่น แคลเซียม และโบรอน สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง เพื่อป้องกันอาการปลายใบไหม้ (Tip burn) 

* ก่อนเก็บเกี่ยว 2 - 3 วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ ให้ต่ำกว่า 1.0 หรือจะใช้น้ำเปล่าเลี้ยงประมาณ 2 - 3 วันก่อนเก็บเกี่ยวก็ได้ครับ


ข้อแนะนำในการปลูก

1. หลังเพาะเมล็ดได้ประมาณ 2 - 3 วัน แนะนำให้นำต้นเกล้าได้รับแสงแดดตอนเช้าหรือเย็นประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง/วัน เพื่อให้ต้นเกล้าไม่ยืดและแข็งแรงมากขึ้น


2. ในพื้นที่อากาศร้อนเมื่อผักสลัดมีอายุปลูกได้ประมาณ 20 วัน มักมีอาการขอบใบไหม้ แนะนำให้ปรับค่า EC ให้ต่ำและให้ลดการคายน้ำทางใบของพืชลง ด้วยการพลางแสง หรือเสปรย์น้ำเพื่อลดอุณหภูมิและเพิ่มความชื้นในอากาศ และควรมีการฉีดพ่น ธาตุแคลเซียม-โบรอน เสริมทางใบเพื่อป้องกันอาการขอบใบไหม้

3. ศัตรูพืชที่สำคัญของ ผักสลัด คือ เพลี้ยไฟ และหนอนใยผัก แนะนำให้ฉีดพ่นสารสกัดจากธรรมชาติเพื่อป้องกัน และกำจัด ควรหลีกเลี่ยงสารเคมีจำกัดศัตรูพืช เนื่องจากสลัดเป็นพืชอายุสั้นและต้องบริโภคส่วนที่เป็นใบจึงอาจเป็นอัตรายต่อผู้บริโภคได้

4. การปลูกสลัดแนะนำให้เปลี่ยนน้ำผสมธาตุอาหารใหม่ในช่วงที่ผัก อายุได้ 28 วัน, 35 วัน โดยลดปริมาณการใช้ปุ๋ย A,B ลงทุกๆ ช่วงอายุปลูก ข้อดีของการลดการปลูกสลัดโดยใช้ EC สูง ไปหาต่ำมีข้อดีคือ
4.1 ประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้ธาตุอาหาร
4.2 เพื่อป้องกันการเกิด Tip burn โดยเฉพาะผักที่เกิดอาการดังกล่าวได้ง่ายเช่น ผักในกลุ่มคอส, บัตเตอร์เฮด และผักกาดแก้ว
4.3 ช่วยให้ผักเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
4.4 ทำให้ผักสลัดที่ปลูกไม่มีรสขม หรือมีความขมลดลงในช่วงฤดูร้อน

หมายเหตุ  ผักสลัดเป็นพืชทานใบที่มีอายุปลูกสั้น การใช้ปุ๋ยในระดับสูงเกิน 1.5 ms/cm หลังจากผักอายุได้ 30 วันไม่ได้เกิดประโยชน์ใดกับผักสลัดเลย กลับทำให้ผักมีอาการขาดธาตุแคลเซียม (Tipburn) มากขึ้นเพราะเพื่อความเข้มข้นของธาตุอาหารในระบบมีสูงเกินไป  ช่วงเวลาที่ผักสลัดสะสมอาหารมากที่สุดคือช่วงที่ผักมีอายุได้ประมาณ 15 - 30 วันแรก ซึ่งหลังอายุ 30 วันไปแล้วผักสลัดจะใช้ปุ๋ยน้อยลง ส่วนที่ผักสลัดต้องการมากที่สุดคือ น้ำ