วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2559

สลัด กรีนบิวตี้ (Green Beauty)



ผักสลัด กรีนบิวตี้
กรีนบิวตี้   เกิดขึ้นจากเกษตรกรชาวอเมริกันเป็นผู้พัฒนาสายพันธุ์  ระหว่างผักสลัดกรีนโอ๊คและเรดโอ๊ค จนได้ลักษณะของ ผักสลัดที่มีใบมีพื้นสีเขียวอ่อน และส่วนปลายใบมีสีแดงน้ำตาล ลักษณะรูปทรงของใบเป็นแบบกรีนโอ๊ค ขอบใบโค้งมน ขอบใบเป็นริ้วระบาย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา นอกจากสีของใบที่สวยงามแล้ว ผักสลัดกรีนบิวตี้ยังเป็นผักสลัดที่มีทนทานต่อสภาพอากาศร้อนได้ดีมาก รวมถึงต้านทานโรคและแมลงต่างๆได้เป็นอย่างดี  

สภาพอากาศที่เหมาะสมสำหรับ อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 10 - 25′C ผักกาดหอมกรีนบิวตี้ หากปลูกในสภาพอากาศเย็น และได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ สีของปลายใบกรีนบิวตี้จะมีสีแดงเข้มสวยงามมาก

ดินที่เหมาะสมต่อการปลูก ควรร่วนซุย มีความอุดมสมบูรณ์ และมีอินทรีย์วัตถุสูง หน้าดินลึก และอุ้มน้ำได้ดีปานกลาง สภาพความเป็น กรด-ด่างของดินอยู่ระหว่าง 6 - 6.5 พื้นที่ปลูกควรโล่ง และได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ เนื่องจากใบผักกาดหอมมีลักษณะบาง ไม่ทน ต่อฝน ดังนั้นในช่วงฤดูฝนควรปลูกใต้โรงเรือน


การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร    ผักกาดหอมกรีนบิวตี้ เป็นพืชที่นิยมบริโภคสด โดยเฉพาะในสลัด หรือกินกับยำ นำมาตกแต่งในจานอาหาร ผักกาดหอมกรีนบิวตี้ จะมีน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก และมีวิตามินบี  วิตามินซีสูง อีกทั้งยังมีไฟเบอร์ ที่ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก และยังมีสารอาหารเช่นเดียวกับผักสลัดเรดโอ็คที่ช่วยบำรุงเลือดอีกด้วย


ทางเซนฯ ทดลองปลูกสลัด กรีนบิวตี้บนแปลงปลูก DRFT รุ่น 30 ช่อง ลักษณะของกรีนบิวตี้จะมีลักษณะคล้ายกรีนโอ้ค แต่ปลายใบจะมีสีน้ำตาลแดง สามารถเจริญเติบโตและทนต่ออากาศร้อนได้ในระดับปานกลาง


























ตัวอย่างการกำหนดค่า EC สำหรับผักสลัด กรีนบิวตี้ (ในพื้นที่อากาศร้อน)

1. หลังเพาะเมล็ดได้ประมาณ 7 วัน เริ่มให้ปุ๋ยอ่อนๆ โดยให้ค่า EC ประมาณ 1.0 - 1.2 ms/cm


2. เมื่อครบกำหนด 10 - 14 วัน หรือต้นเกล้าเริ่มมีใบจริงประมาณ 2 - 3 ใบ ก็สามารถย้ายลงแปลงปลูกได้เลย โดยกำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.2 - 1.3 ms/cm


3. ช่วงผักมีอายุได้ประมาณ 15 - 25 วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.3 - 1.4 ms/cm 

และควรฉีดพ่น แคลเซียม และโบรอน สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง เพื่อป้องกันอาการปลายใบไหม้ (Tip burn)


4. ช่วงผักมีอายุได้ประมาณ 26 - 30  วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.2 - 1.3 ms/cm 

และควรฉีดพ่น แคลเซียม และโบรอน สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง เพื่อป้องกันอาการปลายใบไหม้ (Tip burn)


6. เมื่อผักมีอายุได้ประมาณ 31 - 35  วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.1 - 1.2 ms/cm 

และควรฉีดพ่น แคลเซียม และโบรอน สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง


7.เมื่อผักมีอายุได้ประมาณ 36 - 40  วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.0 - 1.1 ms/cm 

และควรฉีดพ่น แคลเซียม และโบรอน สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง


8.เมื่อผักมีอายุได้ประมาณ 41 - 50  วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ต่ำกว่า 0.5 ms/cm 
หรือจะใช้น้ำเปล่าเลี้ยงประมาณ 3 วัน ก่อนเก็บเกี่ยวก็ได้ครับ

ข้อแนะนำในการปลูก

1. หลังเพาะเมล็ดได้ประมาณ 2 - 3 วัน แนะนำให้นำต้นเกล้าได้รับแสงแดดตอนเช้าหรือเย็นประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง/วัน เพื่อให้ต้นเกล้าไม่ยืดและแข็งแรงมากขึ้น

2. ในพื้นที่อากาศร้อนเมื่อผักสลัดมีอายุปลูกได้ประมาณ 20 วัน มักมีอาการขอบใบไหม้ แนะนำให้ปรับค่า EC ให้ต่ำและให้ลดการคายน้ำทางใบของพืชลง ด้วยการพลางแสง หรือเสปรย์น้ำเพื่อลดอุณหภูมิและเพิ่มความชื้นในอากาศ และควรมีการฉีดพ่น ธาตุแคลเซียม-โบรอน เสริมทางใบเพื่อป้องกันอาการขอบใบไหม้

3. ศัตรูพืชที่สำคัญของ ผักสลัด คือ เพลี้ยไฟ และหนอนใยผัก แนะนำให้ฉีดพ่นสารสกัดจากธรรมชาติเพื่อป้องกัน และกำจัด ควรหลีกเลี่ยงสารเคมีจำกัดศัตรูพืช เนื่องจากสลัดเป็นพืชอายุสั้นและต้องบริโภคส่วนที่เป็นใบจึงอาจเป็นอัตรายต่อผู้บริโภคได้

4. การปลูกสลัดแนะนำให้เปลี่ยนน้ำผสมธาตุอาหารใหม่ในช่วงที่ผัก อายุได้ 28 วัน (หรืออายุผัก 4 สัปดาห์) โดยลดปริมาณการใช้ปุ๋ย A,B ลงทุกๆ ช่วงอายุปลูก ข้อดีของการลดการปลูกสลัดโดยใช้ EC สูง ไปหาต่ำมีข้อดีคือ
4.1 ประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้ธาตุอาหาร
4.2 เพื่อป้องกันการเกิด Tip burn โดยเฉพาะผักที่เกิดอาการดังกล่าวได้ง่ายเช่น ผักในกลุ่มคอส, บัตเตอร์เฮด และผักกาดแก้ว
4.3 ช่วยให้ผักเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
4.4 ทำให้ผักสลัดที่ปลูกไม่มีรสขม หรือมีความขมลดลงในช่วงฤดูร้อน 

5.แนะนำให้เปลี่ยนน้ำผสมปุ๋ยใหม่เมื่อผักมีอายุได้ประมาณ 25 วัน

หมายเหตุ  ผักสลัดเป็นพืชทานใบที่มีอายุปลูกสั้น การใช้ปุ๋ยในระดับสูงเกิน 1.5 ms/cm หลังจากผักอายุได้ 30 วันไม่ได้เกิดประโยชน์ใดกับผักสลัดเลย กลับทำให้ผักมีอาการขาดธาตุแคลเซียม (Tipburn) มากขึ้นเพราะเพื่อความเข้มข้นของธาตุอาหารในระบบมีสูงเกินไป  ช่วงเวลาที่ผักสลัดสะสมอาหารมากที่สุดคือช่วงที่ผักมีอายุได้ประมาณ 10 - 30 วันแรก ซึ่งหลังอายุ 30 วันไปแล้วผักสลัดจะใช้ปุ๋ยน้อยลง ส่วนที่ผักสลัดต้องการมากที่สุดคือ น้ำ