วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2560

มะเขือเทศ บิ๊กบีฟ (Big Beef Tomato)



หลังจากที่ได้รับเมล็ดจาก จากบริษัท Takii Co.Ltd. ประเทศญี่ปุ่น แล้วทางเซนฯได้ทำการทดลองปลูกมะเขือเทศบิ๊กบีฟ สายพันธุ์ "Grandeur F1"  เป็นมะเขือเทศที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อนบ้านเราได้ดี  เป็นสายพันธุ์ที่มีลำต้น ก้านผลแข็งแรงมาก ทนต่อโรคไวรัส ได้ดี ผลมีสีแดงเข้มขนาดใหญ่ รสชาดของเนื้อเนียนหวานอร่อยมาก อายุเก็บเกี่ยวรุ่นแรกประมาณ 80 วันนับจากวันเพาะเมล็ด






















วิธีการเพาะเมล็ด
1. การเพาะเมล็ดมะเขือเทศ
         นำเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศแช่ในน้ำสะอาดประมาณ ประมาณ ไม่เกิน 1 สัปดาห์ จะสังเกตุเห็นรากสีขาวโผล่ออกจากเมล็ดให้รีบย้ายลงวัสดุปลูกได้เลยครับ ด้วยถ้าปลูกลงดินก็ส่งลงถาดหลุมที่ใส่วัสดุเพาะเกล้า หรือถ้าปลูกแบบรากแช่ก็ย่ายใสวัสดุปลูกที่เป็นฟองน้ำ, ร็อควู้ด ฯลฯ และอนุบาลเกล้าแบบการปลูกผักไฮโดรฯ


2. การเพาะกล้า
 บรรจุวัสดุเพาะกล้า (พีทมอส, เพอร์ไลท์, ฟองน้ำ ฯลฯ) 

 นำเมล็ดทีบ่มการงอกมาหยอดลงในถาดเพาะโดยวางให้เมล็ดอยู่ในแนวนอนทำมุมประมาณ 45 องศา และปลายรากแทงลงวัสดุเพาะ ระวังอย่าให้รากอ่อนของเมล็ดหักหรือแห้ง กลบด้วยวัสดุเพาะกล้า แล้วกดทับเบาๆ

 รดน้ำให้ชุ่ม นำไปเก็บในโรงเรือนเพาะกล้า หรือบริเวณที่มีแสงแดดรำไร

 รดน้ำทุกวัน เพื่อให้วัสดุเพาะกล้าชุ่มอยู่เสมอ จนอายุกล้าได้ 20-30 วัน ก็สามารถย้ายปลูกได้เลยครับ


3. การย้ายกล้า
ควรย้ายกล้าเมื่อมีใบแท้ 4-5 ใบ หรืออายุไม่เกิน 20-30 วัน ข้อควรระวังในการย้ายกล้าลงปลูกในแปลง ควรปฏิบัติดังนี้
1. หากมีการเคลื่อนย้ายต้นกล้าจากโรงเรือนไปแปลงเพาะปลูกที่มีระยะห่างกันมาก ควรพักต้นกล้าก่อน  ปลูกอย่างน้อย 1 วัน

2. ก่อนปลูก 2 วัน ควรรดน้ำแปลงให้ชุ่ม และพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงและโรคพืช

3.  ควรย้ายกล้าในช่วงเย็น อากาศไม่ร้อนแดดไม่จัด

4.  หลุมปลูกควรมีความลึกและกว้าง เท่ากับขนาดหลุมของถาดเพาะกล้า

5. ควรระวังอย่าให้วัสดุเพาะแตกหรือรากขาด เพราะจะทำให้ต้นกล้าชะงักการเจริญเติบโต (ควรฉีดยาป้องกันเชื้อราร่วมด้วย)

6.  เวลาย้ายต้นกล้าจากถาดเพาะลงแปลง ให้จับบริเวณปลายยอดไม่ควรดึงหรือบีบบริเวณโคนต้นกลบดินครอบคลุมโดนต้นกล้า


ขั้นตอนการตัดแต่งแขนง
มะเขือเทศควรมีการตัดแต่งและเด็ดแขนงด้านข้าง และใบแก่ด้านล่างที่ต่ำกว่าช่อดอกออก (ตามภาพด้านล่าง) เพื่อทำให้ต้นพืชมีการระบายอากาศได้ดี ซึ่งช่วยลดการเข้าทำลายของโรค  และควรเด็ดแขนงด้านข้างก่อนยาวมากกว่า 5 ซม. ควรตัดแต่งในช่วงตอนเช้า เพื่อให้แสงแดดช่วยในการปิดบาดแผล และต้นพืชสามารถรักษาแผลได้เร็ว ป้องกันการเข้าทำลายของโรคผ่านทางบาดแผล  หลังจากต้นมะเขือสูงได้ประมาณ 1.8 ม. ให้ตัดยอดต้นมะเขือออกด้วย เนื่องจากผลผลิตที่ได้จากด้านบนคุณภาพจะเริ่มลดลง
 

หมายเหตุ  กิ่งแขนงหรือลำต้นส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นมะเขือเทศสามารถนำมาปลูกต่อได้โดยการนำกิ่งนั้นไปแช่น้ำประมาณ 7 - 10 วันจะเริ่มมีรากงอกออกมาจากกิ่งนั้น หลังจากนั้นสามารถนำกิ่งนั้นไปปลูกต่อได้โดยไม่ต้องเพาะเมล็ดใหม่



ขั้นตอนการผสมดอก
1. ในโรงเรือน การผสมเกสรของมะเขือเทศจะอาศัยผึ้งในการผสมเกสร โดยผึ้งจะถูกนำมาใส่ไว้ตั้งแต่เริ่มเกิดดอกแรก

2. ถ้าไม่ใช้ผึ้ง การผสมเกสรจะสามารถทำได้โดยการเขย่าดอก โดยทำการเขย่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์

หมายเหตุ:
เมื่ออุณภูมิกลางคืนต่ำกว่า 10 C และต่ำเป็นช่วงเวลายาวระหว่างกลางวัน จะทำให้มะเขือเทศลดจำนวนและความมีชีวิตของเกสรลง ถ้าไม่มีเกสรก็ไม่มีประโยชน์ในการใช้ผึ้งหรือการเขย่า ดังนั้นการใช้ฮอร์โมนจึงถูกนำมาใช้  ฮอร์โมนที่ใช้ช่วยให้ติดผลได้ แต่การใช้ฮอร์โมนช่วยในการติดผล จะส่งผลทำให้รูปร่างผลผิดปกติด้วย


การตัดแต่งมะเขือเทศ
สำหรับมะเขือเทศกลุ่มบิ๊กบีฟ จะตัดให้มีจำนวนผลต่อกิ่งประมาณ 5 - 6 ผล/กิ่ง เพื่อความสมบูรณ์ของผล


อายุการเก็บเกี่ยว

ขึ้นกับสายพันธุ์และชนิดของมะเขือเทศ
1. Cherry type   40-50 วันหลังย้ายกล้า
2. Seda type     50-60 วันหลังย้ายกล้า
3. Processing , Roma , BigBeef Table type   60-80 วันหลังย้ายกล้า



โรคและแมลงที่พบในมะเขือเทศ
1. โรคใบจุดวงชื่ออื่น    :    Early blight
สาเหตุของโรค     เกิดจากเชื้อรา Alternaria solani

ลักษณะอาการ
     สังเกตได้จากใบแก่เริ่มจากเป็นจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาล แผลค่อนข้างกลมแล้วขยายใหญ่ ออกไป การขยายตัวของจุดจะปรากฏรอยการเจริญของแผลเป็นวงสีน้ำตาลซ้อน ๆ กันออกไป ถ้าเกิดบนกิ่ง ลักษณะแผลรียาวไปตามลำต้น สีน้ำตาลปนดำเป็นวงซ้อน ๆ กัน ผลแก่ที่เป็นโรคแสดงอาการที่ขั้วผลเป็นแผลสีน้ำตาลดำ และมีลักษณะวงแหวนเหมือนบนใบ

การแพร่ระบาด
     เชื้อสาเหตุโรคนี้สามารถติดมากับเมล็ดพันธุ์ได้ โรคนี้จะเกิดมากในสภาพที่ความชื้นและ อุณหภูมิสูง ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะต่อการระบาดของโรคมาก ๆ จะทำให้อาการจุดวงขยายตัวอย่างรวดเร็วจนต่อเนื่องกันเกิดเป็นอาการใบแห้ง

การป้องกันกำจัด
1. คลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่สามารถกำจัดเชื้อสาเหตุที่ติดมากับ เมล็ดพันธุ์ได้ เช่น แมนโคเซบ ไอโพรไดโอน
2. ถ้าระบาดในแปลงปลูก พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชบางชนิด เช่น ไอโพรไดโอน คลอโรทาโลนิล


2. โรคใบจุด
ชื่ออื่น    :    Leaf spot
สาเหตุของโรค    เกิดจากเชื้อรา Corynespora  cassiicola

ลักษณะอาการ
      อาการของโรคนี้ใกล้เคียงกับโรคใบจุดวงมาก แต่แผลบนใบมักมีขนาดเล็ก การขยาย ตัวของโรคใบจุดเกิดเป็นวงไม่ค่อยชัดเจน และแผลมักมีสีเหลืองล้อมรอบ อาการบนผลเป็นจุดเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไป แผลสีครีม หรือน้ำตาลอ่อน

การแพร่ระบาด
     โรคนี้พบระบาดมากในภาคเหนือ โดยเฉพาะถ้ามีความชื้นสูง หรือมีฝนตก โรคจะ ระบาดอย่างรวดเร็ว ใบที่เป็นโรคมาก ๆ จะร่วงหลุดไป

การป้องกันกำจัด
1. พยายามรักษาความชื้นในแปลงปลูกอย่าให้สูงมากเกินไป
2. เมื่อพบโรค พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น เบนโนมิล   คาร์เบนดาซิม       


3. โรคแห้งดำ
ชื่ออื่น    :    Leaf blight
สาเหตุเกิดจาก       เกิดจากเชื้อรา Stemphylium sp.

ลักษณะอาการ
    เริ่มต้นจากจุดเหลี่ยมเล็กๆสีดำบนใบมะเขือเทศเมื่ออาการรุนแรงแผลขยายขนาดใหญ่และมีจำนวนจุดมากขึ้นเนื้อใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแห้งกรอบ และดำในที่สุดแต่ส่วนของลำต้นยังเขียวอยู่  ไม่พบอาการบนลำต้นและผล

การแพร่ระบาด
     เชื้อสาเหตุโรคนี้สามารถติดมากับเมล็ดพันธุ์ได้ ส่วนการระบาดในแปลงจะเกิดได้ รุนแรงและรวดเร็วเมื่อมีความชื้นและอุณหภูมิสูง

การป้องกันกำจัด
1. คลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่สามารถกำจัดเชื้อสาเหตุที่ติดมากับ เมล็ดพันธุ์ได้ เช่น แมนโคเซบ ไอโพรไดโอน
2. ถ้าระบาดในแปลงปลูก พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชบางชนิด เช่น ไอโพรไดโอน คลอโรทาโลนิล


4. โรคใบไหม้
ชื่ออื่น    :    Late blight
สาเหตุของโรค    เกิดจากเชื้อรา Phytophthora infestans

ลักษณะอาการ
     จะพบปรากฏอยู่บนใบส่วนล่าง ๆ ของต้นก่อน โดยเกิดเป็นจุดฉ่ำน้ำสีเขียวเข้มเหมือน ใบถูกน้ำร้อนลวก รอยช้ำนี้จะขยายขนาดออกไปอย่างรวดเร็วทางด้านใต้ใบ โดยเฉพาะขอบ ๆ แผล จะสังเกตเห็นเส้นใยสีขาวอยู่รอบ ๆ รอยช้ำนั้น เมื่อเชื้อเจริญมากขึ้นใบจะแห้ง อาการที่กิ่งและลำต้นเป็นแผลสีดำ อาการบนผลมีรอยช้ำเหมือนถูกน้ำร้อนลวก

การแพร่ระบาด
     โรคนี้พบระบาดมากทางภาคเหนือของประเทศไทยในฤดูหนาว เพราะสภาพแวดล้อม เหมาะต่อการเกิดโรค โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ย 18-28 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 90 % ในเขตที่อุณหภูมิต่ำและความชื้นต่ำโรคจะไม่ระบาดนอกจากมีฝนโปรยลงมาโรคจะระบาดอย่างรุนแรงและรวดเร็วภายหลังจากที่มีฝน ส่วนของพืชที่ถูกเชื้อเข้าทำลายจะตายภายใน 1 สัปดาห์

การป้องกันกำจัด
1. ถ้าปลูกมะเขือเทศแบบยกค้าง ควรตัดแต่งใบล่างให้โปร่ง
2. เมื่อเริ่มพบโรค ควรใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น คลอโรทาโลนิล เมตาแลกซิล + แมนโคเซบ พ่นให้ทั่วทั้งต้น


5. โรครากำมะหยี่
ชื่ออื่น    :    Leaf mold
สาเหตของโรค    เกิดจากเชื้อรา Cladosporium  fulvum

ลักษณะอาการ
     ผิวด้านบนของใบแก่เป็นจุดสีขาว ซึ่งขยายออกอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ใต้ใบบริเวณที่เห็นเป็นสีเหลืองมีขุยสีกำมะหยี่ เมื่อโรคระบาดรุนแรงมากขึ้นใบจะแห้ง

การแพร่ระบาด
      โรคนี้จะพบมากในมะเขือเทศที่ปลูกในฤดูฝน หรือมีฝนตกระหว่างฤดูปลูกปกติ เชื้อรา จะสร้างสปอร์จำนวนมากทางด้านใต้ใบ สปอร์นี้สามารถทนต่อสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม และมีชีวิตอยู่ได้นานหลายเดือน เชื้อราเข้าทำลายใบแก่ที่อยู่ทางตอนล่าง ๆ ของต้น และอยู่ทางด้านใต้ใบ

การป้องกันกำจัด
1. ตัดแต่งกิ่งมะเขือเทศเพื่อให้การหมุนเวียนของอากาศในแปลงดีขึ้น
2. เมื่อเริ่มพบโรค ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชบางชนิด เช่น แมนโคเซบ เบนโนมิล คาร์เบนดาซิม


6. โรคราเขม่า
ชื่ออื่น    :    Grey leaf mold
สาเหตุของโรค    เกิดจาก เชื้อรา Cercospora fuligena.

ลักษณะอาการ
     คล้ายกับอาการของโรครากำมะหยี่มาก โดยอาการมักเริ่มที่ใบแก่ตอนล่างของ ลำต้นก่อน แล้วจึงลามขึ้นไปยังใบที่อยู่ตอนบน ใบที่เป็นโรค แสดงอาการจุดสีเหลืองแล้วขยายใหญ่ออก ด้านใต้ใบตรงจุดสีเหลืองมีเชื้อราขึ้นอยู่ เส้นใยของเชื้อราที่เกิดขึ้นเป็นขุยสีเทาเข้มจนถึงดำ ซึ่งเป็นอาการที่แตกต่างจากโรครากำมะหยี่ อาการบนกิ่งเป็นขุยสีเทาดำ ใบที่เป็นโรคจะแห้งตาย

การแพร่ระบาด
     เป็นโรคที่พบทั่วไป แต่มักจะพบระบาดและทำความเสียหายในภาคตะวันออก เฉียงเหนือมากกว่าแหล่งอื่น

การป้องกันกำจัด
1. ตัดแต่งใบล่าง ๆ ของมะเขือเทศออกบ้าง เพื่อให้มีการระบายอากาศดีขึ้น
2. เมื่อเริ่มพบโรคในแปลง พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชบางชนิด เช่น แมนโคเซบ เบนโนมิล คาร์เบนดาซิม


7. โรคราแป้ง
ชื่ออื่น    :    Powdery mildew
สาเหตุของโรค    เกิดจากเชื้อรา Oidiopsis sp.

ลักษณะอาการ
     อาการที่มองเห็นด้านบนใบจะปรากฏเป็นจุดสีเหลือง จุดเหลืองนี้จะขยายออกและจำนวนจุดบนใบจะมีมากขึ้น เมื่อโรคระบาดรุนแรงขึ้น จนบางครั้งมองเห็นเป็นปื้นสีเหลืองด้านบนใบ ตรงกลางปื้นเหลืองนี้อาจจะมีสีน้ำตาล ต่อมาใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทางด้านใต้ใบ ตรงบริเวณที่แสดงอาการปื้นเหลือง จะมีผงละเอียดคล้ายผงแป้งเกาะอยู่บาง ๆ มองเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้นใบจะเหลือง จากส่วนล่างของต้นไปยังส่วนบนและใบที่เหลืองนี้จะร่วงหลุดไป ในสภาพอากาศเย็นบางครั้งจะพบผงสีขาวเกิดขึ้นบนใบได้ และลุกลามไปเกิดที่กิ่งได้

การแพร่ระบาด
     โรคนี้มักพบในระยะเก็บผลผลิต ทำให้ต้นโทรมเร็วกว่าปกติ

การป้องกันกำจัด
1. ลดความชื้นบริเวณโคนต้นหรือในทรงพุ่ม โดยการตัดแต่งกิ่ง
2. กำจัดวัชพืชที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อสาเหตุ เช่น น้ำนมราชสีห์ และหญ้ายาง
3. เมื่อพบโรค ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชบางชนิด เช่น กำมะถันผง ไดโนแคป


8.โรคใบด่างเรียวเล็ก
ชื่ออื่น    :    Cucumber Mosaic Virus
สาเหตุของโรค    เกิดจากเชื้อไวรัส

ลักษณะอาการ
     ต้นมะเขือเทศแคระแกรน ใบมะเขือเทศม้วนงอ ถ้าอาการรุนแรงมากขึ้น ใบมะเขือเทศจะ เรียวเล็กกว่าปกติ

การแพร่ระบาด
     โรคนี้สามารถถ่ายทอดโดยเพลี้ยอ่อน และวิธีการสัมผัสต้นมะเขือเทศที่แสดงอาการใบเรียวเล็กนี้ตั้งแต่ระยะเล็ก ๆ จะไม่ติดผล หรือถ้าติดผลจะเล็ก

การป้องกันกำจัด
- พ่นด้วยสารฆ่าแมลงที่สามารถกำจัดเพลี้ยอ่อนได้



9. โรคใบหงิกเหลือง
ชื่ออื่น     :    Tomato Yellow Leaf Curl
สาเหตุของโรค     เกิดจากเชื้อไวรัส

ลักษณะอาการ
     ใบยอดหงิกเหลือง ม้วนงอ ใบมีขนาดเล็กลง ยอดเป็นพุ่ม และต้นแคระแกรน

การแพร่ระบาด
     โรคนี้สามารถถ่ายทอดได้โดยวิธีทาบกิ่ง และมีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะ วิธีทาบกิ่งสามารถ ถ่ายทอดโรคได้ 22% แมลงหวี่ขาวสามารถถ่ายทอดโรคได้ 88% จะต้องป้องกันมะเขือเทศมิให้เป็นโรคก่อนอายุ 60 วัน เพราะการเป็นโรคนี้ในระยะต้นโตและเริ่มติดผลแล้ว ไม่กระทบกระเทือนต่อผลผลิตมากนัก

การป้องกันกำจัด
1. รักษาความสะอาดแปลงปลูก ควรเก็บเศษซากพืชที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ปลูก ออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะฟางข้าว
2. ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยคอกและปูนขาว
3. ถ้าปรากฏต้นมะเขือเทศที่เป็นโรคนี้ ควรรีบถอนทำลายด้วยการเผา
4. แปลงที่มีโรคนี้ระบาดควรงดปลูกมะเขือเทศไม่น้อยกว่า 4 ปี
5. สารป้องกันกำจัดโรคพืช พีซีเอ็นบี เอทริไดอาโซล พีซีเอ็นบี + เอทริไดอาโซล สามารถลดอัตราการเป็นโรคลงได้ แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

1 ความคิดเห็น: