วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2560

วิธีการเพาะเมล็ดและอนุบาลต้นกล้า

เมล็ดพันธุ์ผักที่มีจำหน่ายกันอยู่ในท้องตลาดแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. เมล็ดแบบไม่เคลือบ
          เมล็ดประเภทนี้จะผ่านการลดความชื้นมาแล้ว สามารถเก็บรักษาในภาชนะที่ปิดสนิทในตู้เย็น (อุณหภูมิ 4 - 10 องศา C) ได้นาน ประมาณ 1 - 2 ปี  ข้อดีของเมล็ดแบบไม่เคลือบคือมีราคาถูกกว่าเมล็ดแบบเคลือบค่อนข้างมาก  การเพาะเมล็ดแบบไม่เคลือบนี้แนะนำให้กระตุ้นการงอกโดยใช้กล่องถนอมอาหารที่มีฝาปิดสนิท รองด้านในด้วยกระดาษชำระประมาณ 2 ชั้นแล้วพรมน้ำให้กระดาษเปียก และเทน้ำออก จากนั้นให้นำเมล็ดสลัดมาโรยลงบนกระดาษชำระ โดยไม่ต้องพรมน้ำซ้ำ แล้วปิดฝากล่องให้สนิท (แนะนำให้นำไปวางไว้ในที่มีอุณหภูมิต่ำ เช่น ห้องปรับอากาศ) ประมาณ 24 - 48 ชั่วโมงเมล็ดจะเริ่มงอกให้ย้ายลงวัสดุปลูกได้เลยครับ อย่าปล่อยให้เกิน 72 ชั่วโมง (3 วัน) เพราะรากผักสลัดจะยาวเร็วมากและทำให้ย้ายปลูกได้ยาก การกระตุ้นการงอกด้วยวิธีนี้จะทำให้เมล็ดที่เราเพาะมีเปอร์เซ็นต์การงอกและความสม่ำเสมอของการงอกสูงขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงจากเชื้อโรคที่จะเข้าทำลายเมล็ดจากการเพาะเมล็ดลงวัสดุปลูกโดยตรง ให้ผักที่ปลูกมีความสม่ำเสมอของต้นที่เท่ากัน มากกว่าการเพาะลงในวัสดุปลูกโดยตรง  เนื่องจากการเพาะลงวัสดุปลูกโดยตรงนั้นเมล็ดสลัดมีความเสี่ยงที่จะถูกทำลายโดยเชื้อโรคหรือแมลง อีกทั้งผู้ปลูกยังควบคุมปัจจัยการงอกของเมล็ดได้ยากกว่าด้วย



2. เมล็ดแบบเคลือบ
          เมล็ดชนิดนี้จะถูกคัดเลือกมาจากเมล็ดที่สมบูรณ์ แล้วนำมาเคลือบด้วยแป้งหรือดินเหนียว (Pelleted seed) เพื่อเป็นการรักษาสภาพของเมล็ดเอาไว้ ข้อดีของการใช้เมล็ดแบบเคลือบก็คือ สะดวกในการเพาะเมล็ดเนื่องจากขนาดที่ใหญ่ขึ้น วัสดุที่หุ้มเมล็ดยังช่วยนำพาความชื้นสู่เมล็ดได้อย่างทั่วถึงทั้งเมล็ด ช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยการงอกที่ไม่สม่ำเสมอของการเพาะเมล็ดลงได้  ส่วนข้อเสียของเมล็ดแบบเคลือบนี้คือ มีราคาแพง เนื่องจากเมล็ดแบบเคลือบจะเป็นสินค้าที่ถูกผูกขาดจากบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์จากยุโรป ปกติผู้ปลูกหลายท่านมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์สลัดว่า เมล็ดแบบเคลือบจะมีอัตราการงอกดีกว่าแบบไม่เคลือบ ซึ่งจริงๆ แล้วอัตราการงอกของเมล็ดทั้ง 2 แบบไม่ต่างกันเลย  ซึ่งมีบ่อยครั้งที่มักพบปัญหาในการเพาะเมล็ด ถ้าปัจจัยการงอกไม่สมบูรณ์ กล่าวคือการเพาะเมล็ดแบบเคลือบหากฝังเมล็ดในวัสดุปลูกลึกเกินไปก็ทำให้เมล็ดเน่า หรือถ้าหากฝังตื้นเกินไปก็ทำให้เมล็ดได้ความชื้นไม่เพียงพอก็ทำให้ไม่งอกเช่นกัน เมล็ดแบบเคลือบปกติจะเหมาะกับการนำไปเพาะกับวัสดุเพาะเกล้าพวกพีทมอส หรือเพอร์ไลท์ มากกว่าการนำไปเพาะลงฟองน้ำเนื่องจากปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการงอกของเมล็ดสลัดคือ "อ๊อกซิเจน" ด้วยการเพาะเมล็ดลงในฟองน้ำโดยตรงปัญหาที่พบคือเมล็ดไม่งอก หรืองอกไม่พร้อมกัน สาเหตุก็มาจากการที่เมล็ดสลัดจะถูกบีบอยู่ในฟองน้ำที่เปียกและแฉะ บวกกับถ้าช่วงที่เพาะถ้ามีอุณหภูมิของอากาศสูง (ร้อนอบอ้าว) เมล็ดสลัดที่เพาะนั้นก็มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่งอกเนื่องจากขาดอ๊อกซิเจนและมักจะมีเชื้อราเกิดขึ้นที่เมล็ดได้ง่าย

          ส่วนข้อเสียอีกประการของเมล็ดแบบเคลือบโดยส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์ลูกผสม หรือ Hybrid F1 ทำให้ต้นทุนการผลิตเมล็ดเคลือบจะสูงกว่าเมล็ดแบบไม่เคลือบ และเมล็ดแบบเคลือบนี้จะมีชนิดและสายพันธุ์ของผักสลัดให้เลือกค่อนข้างน้อยกว่าแบบไม่เคลือบมาก

          สรุป การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์แต่ละชนิด จึงควรเลือกให้เหมาะกับเรามากที่สุด คือหากเราปลูกเพื่อรับประทานเอง, ทำเป็นสลัดมิกส์ หรือใช้จำหน่ายเพื่อลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ ก็แนะนำให้เลือกใช้เมล็ดแบบไม่เคลือบก็พอเนื่องจากเก็บได้นาน, ราคาถูก มีหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือก   แต่หากต้องการปลูกเพื่อเป็นการค้าและต้องปลูกเป็นจำนวนมากเพื่อลดขั้นตอนการเพาะเมล็ดก็สามารถเลือกใช้เมล็ดแบบเคลือบแทนก็ได้  แต่ทั้งนี้ผักที่ปลูกจะมีคุณภาพทั้งทางด้านรูปลักษณ์, สีสรร รวมถึงน้ำหนัก จะดีหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และปัจจัยอื่นๆ ในการปลูก การดูแลพืชนั้นประกอบด้วยเป็นสำคัญ

          เมล็ดพันธุ์ผักทุกชนิดที่เรานำมาเพาะต้องอาศัยปัจจัยในการทำให้เมล็ดงอกเป็นต้นอ่อน คือ น้ำ, อุณหภูมิ, ออกซิเจน  และสำหรับพืชบางชนิดอาจต้องใช้แสงช่วยในการกระตุ้นการงอกด้วย ตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่นได้มีการใช้แสงสีแดงช่วยกระตุ้นการงอกของเมล็ด และใช้แสงสีน้ำเงินช่วยในการเจริญเติบโตของต้นพืชด้วย


           โดยทั่วไปอุณหภูมิที่เหมาะสมและดีที่สุดในการเพาะเมล็ดสลัด จะอยู่ในช่วง 18  - 25 องศาเซลเซียส ปัญหาที่สำคัญในการเพาะเมล็ด คืออากาศของเมืองไทยค่อนข้างร้อน ซึ่งมีผลทำให้การงอกของเมล็ดเป็นไปได้ช้า และมีเปอร์เซ็นต์งอกต่ำ เนื่องจากขณะที่เมล็ดได้รับความชื้นจากน้ำ เมล็ดจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในตัวเมล็ด ในกระบวนการงอกนั้นเมล็ดต้องการอ๊อกซิเจนช่วยในกระบวนการดังกล่าวนี้ หากอุณหภูมิสูงจะทำให้อ๊อกซิเจนต่ำ บวกกับถ้าวัสดุปลูกแฉะมากเกินไป ทำให้เมล็ดมีโอกาสเสี่ยงกับการขาดอ๊อกซิเจน และเชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย  ดังนั้นการเพาะเมล็ดสลัดอย่าให้วัสดุที่ปลูกเปียกชื้นมากเกินไป  วิธีที่จะช่วยให้เพาะเมล็ดให้มีอัตราการงอกสูงขึ้นได้นั้น แนะนำให้เพาะเมล็ดในช่วงเย็นหรือช่วงกลางคืน เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวสภาพอากาศมีอุณหภูมิต่ำซึ่งเป็นผลดีต่อการงอกของเมล็ดสลัด
         
ตารางความสัมพันธ์ของอุณหภูมิที่มีผลต่อการงอกของเมล็ด
ตัวเลขนอกวงเล็บคือ % ในการงอกของเมล็ด, ตัวเลขในวงเล็บคือ จำนวนวันที่ใช้ในการงอก

สรุป จากตางรางด้านบนจะเห็นได้ว่าอุณหภูมิมีผลเป็นอย่างมากต่อระยะเวลาและเปอร์เซ็นต์ในการงอกของเมล็ดพืชแต่ละชนิด ตัวเลขสีแดงคือค่าเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดพืชที่ดีที่สุดในอุณหภูมินั้นๆ เช่น

- สลัด  อุณหภูมิที่เหมาะที่สุดคือ 20 - 25 องศาเซลเซียส โดยจะมีเปอร์เซ็นสูงสุดและใช้เวลาน้อยที่สุด
- ปวยเล้ง อุณหภูมิที่เหมาะที่สุดคือ 5 องศาเซลเซียส โดยจะมีเปอร์เซ็นสูงสุด แต่ใช้เวลาไม่สั้นที่สุด


     การปลูกพืชผักทุกชนิด ผู้ปลูกควรมีการจดบันทึกวันที่เริ่มมีการเพาะเมล็ดไว้ทุกครั้ง เพื่อใช้กำหนดขั้นตอนการดูแลผักในแต่ละวันเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลเป็นการวางแผนการปลูกในรอบต่อๆไป และช่วยให้เราทราบถึงอายุผักที่ปลูกได้อย่างถูกต้องอีกด้วย

*สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดที่แนะนำด้านล่างนี้เป็นเพียงวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยง จากการที่ต้องเพาะเมล็ดซ่อมในกรณีที่เราเพาะลงในฟองน้ำหรือวัสดุปลูกโดยตรง แล้วเมล็ดงอกไม่สม่ำเสมอกันหรือเมล็ดไม่งอก ทำให้เราต้องเสียเวลาในการเพาะซ่อมเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์หรือไม่งอกทำให้ผักในแปลงปลูกอายุไม่เท่ากัน  สำหรับผู้ที่ต้องการเพาะเมล็ดลงวัสดุปลูกโดยตรงสามารถทำได้ครับ แต่แนะนำให้เพาะเผื่อไว้กันพลาด อย่างเช่นการเพาะสลัดปกติกเราจะใส่ 1 เมล็ดต่องฟองน้ำ 1 ก้อน ก็ให้เราใส่ไปประมาณ 2 - 3 เมล็ด เมื่อต้นเกล้าอายุได้ประมาณ 7 วัน ก็ให้เลือกต้นที่สมบูรณ์ที่สุดไว้ 1 ต้น ที่เหลือก็ถอนออกครับ




อุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะเมล็ด 
1. ถาดพลาสติกสูงประมาณ 1 นิ้ว (สำหรับอนุบาลต้นกล้า)
2. กล่องถนอมอาหารที่มีฝาปิดสนิท (สำหรับเพาะเมล็ด)
3. กระดาษชำระสีขาว (ไม่มีการเคลือบน้ำยา)
4. เมล็ดผักสลัดที่จะทำการเพาะ (ทั้งแบบเคลือบ หรือ แบบไม่เคลือบ)
5. ฟองน้ำสำหรับปลูกพืช
6. คีมคีบขนาดเล็ก (สำหรับใช้คีบเมล็ด)


  วิธีการเพาะเมล็ดผักสลัด (แบบเคลือบ และไม่เคลือบ)

1. นำกระดาษชำระวางลงด้านในกล่องถนอมอาหาร โดยวางกระดาษชำระซ้อนกันประมาณ 2 - 3 ชั้น


2. เสปรย์น้ำลงบนกระดาษชำระ หรือใช้วิธีค่อยๆ เทน้ำลงไปบนกระดาษให้ทั่ว ให้กระดาษซับน้ำไว้ในตัว แล้วเทน้ำที่เหลือออกจากกล่องให้หมด อย่าให้มีน้ำขังอยู่ในกล่อง (ให้กระดาษซับน้ำไว้อย่าให้กระดาษแฉะมากเกินไป)  น้ำที่ใช้เป็นน้ำดื่มสะอาด ห้ามใช้น้ำประปาที่มีคลอรีนโดยเด็ดขาด เนื่องจากคลอรีนในน้ำประปาจะทำให้เมล็ดเน่า และไม่งอกได้ แนะนำให้ใช้น้ำดื่มขวดใส อย่าใช้น้ำดื่มขวดขุ่นเพราะน้ำขวดขุ่นจะกรองด้วยเรซิน ซึ่งใช้เกลือในการล้างสารกรอง เกลือจะมีผลต่อการงอกของเมล็ดสลัด


3. นำเมล็ดวางลงบนกระดาษชำระที่เปียกน้ำนั้น สำหรับเมล็ดสลัดแบบไม่เคลือบหลังจากวางลงบนกระดาษแล้วไม่จำเป็นต้องเสปรย์น้ำซ้ำอีกรอบ เนื่องจากเมล็ดสลัดจะมีขนอ่อนๆที่จะดูดน้ำขึ้นมาจากกระดาษได้เอง (สำคัญที่กระดาษชำระอย่าให้แห้ง หรือแฉะเกินไป)   ส่วนเมล็ดแบบเคลือบควรที่จะเสปรย์น้ำซ้ำอีกรอบเพื่อให้วัสดุหุ้มเมล็ดเปียก แต่อย่าให้กระดาษที่รองแฉะมากเกินไป  จากนั้นให้ปิดฝากล่องเพาะเมล็ดให้สนิท ถ้าเป็นไปได้ช่วง 12 - 24 ชม.แรกในการเพาะเมล็ดนี้ให้นำกล่องเพาะนี้ไปวางไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิประมาณ 18 - 25 องศา C (ห้องปรับอากาศ) จะทำให้อัตราการงอกสูงขึ้นครับ

** สำหรับเมล็ดเคลือบถ้าต้องการลดขั้นตอนในการเพาะนี้ แนะนำให้เพาะลงเพอร์ไลท์ หรือถ้าปลูกลงดินก็เพาะลงพีทมอสได้เลยครับ **




4. เมื่อผ่านไปประมาณ 24 - 48 ชั่วโมง หลังจากเพาะเมล็ด ให้สังเกตุดูที่เมล็ด จะเริ่มมีรากสีขาวของต้นกล้างอกออกมาประมาณ 2 มิลลิเมตร ก็สามารถย้ายลงปลูกในก้อนฟองน้ำได้เลย อย่าปล่อยให้เกิน 2 วัน เพราะช่วงนี้รากของสลัดจะยาวเร็วมาก ถ้าย้ายช้ากว่านั้นรากจะติดกับกระดาษชำระทำให้ดึงออกได้ยาก แต่ถ้ารากยาวมากให้เราแก้ไขโดยใช้ฟ็อคกี้ค่อยเสปรย์น้ำลงไปให้กระดาษฉุ่มน้ำพอกระดาษอ่อนนิ่มแล้วจะทำให้เราใช้คีมเล็กๆค่อยๆ ดึงเมล็ดออกมาได้ง่ายโดยที่รากจะไม่ขาด





5. ให้นำฟองน้ำที่จะใช้ในการปลูกเรียงในถาดเพาะ แล้วเทน้ำสะอาดให้เต็มถาดอนุบาล (น้ำที่ใช้เป็นน้ำดื่มสะอาด ห้ามใช้น้ำประปาที่มีคลอรีนโดยเด็ดขาด เนื่องจากคลอรีนในประปาจะทำให้รากเน่าได้) จากนั้นใช้มือกดก้อนฟองน้ำเพื่อไล่อากาศจากก้อนฟอง และให้น้ำดูดซับน้ำเข้าไปแทน  แล้วเทน้ำลงไปในถาดเพิ่ม ใช้มือกดก้อนฟองน้ำอีกครั้งเพื่อให้ก้อนฟองน้ำอิ่มน้ำ แล้วเทน้ำในถาดอนุบาลให้สูงเกือบท่วมก้อนฟองน้ำ โดยห่างจากด้านบนฟองน้ำประมาณ 2 - 3 มิลลิเมตร




7. นำเมล็ดที่เพาะได้ประมาณ 1 - 2 วัน ที่มีรากสีขาวงอกออกมา (เลือกเมล็ดที่งอกใกล้เคียงกัน) นำไม้จิ้มฟัน หรือคีมเล็กๆ ค่อยๆ คีบเมล็ดที่มีรากงอก นำรากไปสอดในช่องตรงกลางของฟองน้ำ (ต้องระมัดระวังอย่าให้รากหักหรือพับงอ)  โดยสอดเมล็ดลงไปให้ส่วนท้ายของเมล็ดโผล่จากก้อนฟองน้ำเล็กน้อย ช่วงนี้แนะนำให้ถาดเพาะโดนแสงสว่างธรรมชาติช่วงเช้าหรือเย็น บ้างอย่างน้อย 2 - 4 ชั่วโมงต่อวัน

- ผักสลัดให้ใส่ 1 เมล็ดต่อฟองน้ำ 1 ก้อน
- ผักไทย,ผักจีนให้ใส่ 2 - 3 เมล็ดต่อฟองน้ำ 1 ก้อน



8. เมื่อครบ  4 - 5 วัน หลังจากเพาะเมล็ด ต้นกล้าจะงอกใบเลี้ยงคู่ออกมาให้คอยรักษาระดับน้ำในถาดให้สูงประมาณ 1/2 ของฟองน้ำอย่าให้น้ำในถาดแห้ง ให้ใช้น้ำเปล่าเติมลงในถาด (น้ำที่ใช้เป็นน้ำดื่มสะอาด ห้ามใช้น้ำประปาที่มีคลอรีนโดยเด็ดขาด เนื่องจากคลอรีนในประปาจะทำให้เกิดโรครากเน่า และโคนเน่าได้)   ให้นำถาดอนุบาลต้นกล้า ไปวางรับแสงแดดในตอนเช้าหรือช่วงเย็น ประมาณ 3 - 4 ชั่วโมงต่อวัน (ความถี่แสงสีแดงช่วยเร่งอัตราการเจริญเติบโตของต้นกล้าได้ดี โดยเฉพาะแสงแดดในช่วงเช้าประมาณ 6.00 - 9.00 โมง และช่วงเย็น 16.00 - 18.00 เป็นช่วงที่มีแสงสีแดงมากที่สุด)







9. เมื่อครบ 7 วัน หลังจากเพาะเมล็ด ต้นกล้าเริ่มมีใบจริง งอกออกมาให้เทน้ำเก่าในถาดอนุบาลออกให้หมด แล้วนำน้ำผสมธาตุอาหาร A, B แบบเจือจาง เติมลงไปในถาดแทนน้ำเดิม และลดระดับน้ำให้เหลือ 1/3 ของก้อนฟองน้ำ และเพิ่มระยะเวลาในการรับแสงแดดของต้นกล้า 5 - 6 ชั่วโมง/วัน การเพิ่มปริมาณแสงแดดให้ต้นเกล้าจะทำให้ต้นเกล้าแข็งแรงและเคยชินกับแสงแดดทำให้เวลาย้ายลงปลูกผักจะไม่มีอาการเฉี่ยวเฉาได้ง่ายเมื่อถูกแสงแดดแรงๆ

          - ผักสลัด  ปุ๋ย A, B อย่างละ 1 - 2 ซีซี/น้ำ 1 ลิตร
          - ผักไทย   ปุ๋ย A, B อย่างละ 2 - 3 ซีซี/น้ำ 1 ลิตร




10. เมื่อครบ 14 วัน (2 สัปดาห์) ต้นกล้าก็พร้อมที่ย้ายลงแปลงปลูกได้แล้ว มีข้อปฎิบัติดังนี้
(ระยะเวลาการอนุบาลในแต่ละฤดูอาจจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเป็นปัจจัย บางฤดูอาจใช้เวลาอนุบาลเพียง 10 วันก็สามารถย้ายลงปลูกได้เลย โดยเราจะสังเกตุได้จากต้นเกล้าเป็นหลักถ้าต้นเกล้ามีใบจริงอย่างน้อย 2 ใบก็สามารถย้ายปลูกได้เลยครับ)  สำหรับฟาร์มใหญ่ๆ มักจะมีแปลงอนุบาลในแต่ละช่วงอายุผัก ก็สามารถย้ายลงอนุบาลได้ตั้งแต่เกล้าอายุได้ประมาณ 5 - 7 วัน จะทำให้รอบการปลูกแต่ละรอบสั้นลง  โดยก่อนย้ายเกล้าผักลงแปลงให้ปฎิบัติดังนี้

          - ให้สเปรย์น้ำให้ทั่วก้อนฟองน้ำก่อนย้ายลงแปลงปลูก  และควรเลือกย้ายในช่วงเย็น  เนื่องจากช่วงเย็นจนถึงค่ำ พืชจะปรับตัวได้ดีกว่าช่วงกลางวัน และลดความเสี่ยงที่ต้นเกล้าจะเฉาตายจากแดดได้

          - ให้เลือกต้นกล้าที่สมบูรณ์และมีขนาดต้นใกล้เคียงกันลงแปลงปลูก


11. นำต้นกล้าใส่กระถางปลูก (สอดต้นกล้าจากด้านล่างกระถางเพื่อป้องกันการพับหักงอของรากพืชจากการใส่ฟองน้ำจากด้านบนกระถาง) โดยให้ก้นของฟองน้ำโผล่ออกมาจากก้นกระถาง



12. นำต้นกล้าที่สวมกระถางปลูกแล้วไปใส่ในช่องปลูกของรางปลูก โดยสังเกตุว่าก้นของฟองน้ำสัมผัสกับน้ำในรางปลูกหรือไม่ หากยังไม่สัมผัสก็ให้ขยับฟองน้ำลงมาเพื่อให้ก้นของฟองน้ำแตะกับน้ำในรางปลูก (ให้น้ำในรางปลูกสัมผัสกับฟองน้ำประมาณ 2 - 3 มิลลิเมตร)



เทคนิคการเพาะเมล็ดของผักแต่ละชนิด
1. ผักบุ้ง        นำเมล็ดใส่ถุงพลาสติกแจาะรู แช่น้ำอุ่น ประมาณ 6 - 12 ชั่วโมง ในระหว่างแช่ให้หาวัตถุกดทับถุงใส่เมล็ดให้จมอยู่ในน้ำเสมอ
ผักบุ้งจะใช้เวลางอกประมาณ 5 - 14 วัน 
อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกคือ 18 - 25 องศาเซลเซียส
อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 25 - 30 วัน


2. คื่นช่าย     นำเมล็ดแช่น้ำเย็นประมาณ 4 - 5 ชั่วโมง แล้วห่อด้วยผ้า หรือเพาะบนกระดาษทิชชูแบบเดียวกับการเพาะเมล็ดสลัด หรือจะนำไปเพาะบนกระบะทรายก็ได้เช่นกัน
คื่นฉ่ายจะใช้เวลางอกประมาณ 7 - 14 วัน
อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกคือ 15 - 20 องศาเซลเซียส
อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 70 - 80 วัน


3. ผักชี         นำเมล็ดมาห่อด้วยกระดาษหรือผ้าแล้วใช้ท่อพีวีซี กลิ้งคลึงเมล็ดให้แตกเป็น 2 ซีก แล้วนำไปแช่น้ำอุ่นประมาณ 6 - 12 ชั่วโมง  แล้วนำไปเพาะตามปกติจะทำให้ผักชีงอกได้เร็วขึ้น ปกติผักชีจะใช้เวลางอกประมาณ 7 - 14 วัน หรือจะนำไปเพาะบนกระบะทรายก็ได้
          - ผักชีไทย                           อายุเก็บเกี่ยวประมาณ   40 - 50 วัน
          - ผักชีลาว                            อายุเก็บเกี่ยวประมาณ   55 - 60 วัน 


4. ผักชีฝรั่ง    นำเมล็ดแช่น้ำอุ่นประมาณ 6 - 12 ชั่วโมง แล้วนำไปเพาะตามปกติ  
ผักชีฝรั่ง จะใช้เวลางอกประมาณ 7 - 14 วัน
อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 100 - 120 วัน


5. พืชตระกูลแตง  ได้แก่  แตงกวา, แตงโม, แคนตาลูป, เมล่อน, แตงไทย, ฟักทอง, น้ำเต้า  ฯลฯ  
โดยธรรมชาติเมล็ดพืชตระกูลแตง หรือฟัก จะมีเปลือกหุ้มเมล็ดค่อนข้างแข็ง. มีหลายๆ ที่แนะนำให้แช่เมล็ดในน้ำอุ่นเพียง 3-4 ชม. จริงๆแล้วเวลาเพียงเท่านั้นจะไม่เพียงพอที่จะนำพาน้ำและความชื้นเข้าสู่เมล็ดได้พอ ซึ่งจะมีผลทำให้เมล็ดที่เพาะงอกช้า และงอกไม่พร้อมกัน ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการวางแผนการปลูกได้.

เทคนิคการเพาะพืชตระกูลแตงให้มีอัตราการงอกสูง และมีการงอกอย่างสม่ำเสมอ โดยปกติแล้วพืชในตระกูลแตง อาทิเช่น เมล่อน, ฟักทอง, แตงโม, บวบ ฯลฯ พืชพวกนี้จะมีเปลือกหุ้มเมล็ดแข็งมาก การแช่น้ำเพียงไม่นานมักจะทำให้เมล็ดได้รับน้ำไม่พอที่จะทำให้เปลือกนุ่มลงได้ ทำให้เมล็ดต้องใช้พลังงานในการงอกสูง เกิดปลทำให้การงอกไม่สมบูรณ์ เมล็ดจะงอกช้า งอกไม่สม่ำเสมอ หรืออาจจะไม่งอกเลย  ฉะนั้นก่อนที่เราจะทำการเพาะเมล็ดเราควรเปิดปลายเมล็ดออกเล็กน้อยเพื่อช่วยลดการสูญเสียพลังงานของพืชในการงอกจากเมล็ดมีขั้นตอนและวิธีตามลิงค์ด้านล่างดังนี้




ปัจจัยหลักๆ ของการงอกของพืชในกลุ่มนี้จะมีส่วนสำคัญ 3 ปัจจัยใหญ่ๆคือ

1.เรื่องของน้ำที่ใช้แช่เมล็ด โดยปกติน้ำที่เหมาะสมในการนำมาแช่เมล็ดหรือใช้เพาะเมล็ดควรเป็นน้ำที่สะอาด ปราศจากคลอรีน ส่วนเรื่องอุณหภูมิของน้ำจะอุ่น หรือไม่อุ่น ไม่ค่อยสำคัญเท่ากับระยะเวลาในการแช่เมล็ดครับ มีหลายครั้งที่เราแช่เมล็ดด้วยน้ำอุ่นเพียงไม่กี่ ชม. แต่เมล็ดยังคงไม่อิ่มน้ำหรือยังไม่จมตัว แล้วนำไปเพาะผลที่ได้ก็ตามที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้นคือ งอกช้า และไม่พร้อมกัน ฉะนั้นการแช่เมล็ดพืชตระกูลแตง และฟักส่วนใหญ่ผมแนะนำให้แช่น้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 1 คืน (12 ชม.) หรืออาจจะนานกว่านั้นก็ได้แต่ไม่เกิน 30 ชม. (สังเกตุที่เมล็ดถ้าอิ่มตัวแล้วจะจมน้ำอยู่ก้นภาชนะ)

2.ความชื้นในการบ่มเมล็ด มีหลายท่านแนะนำให้ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำบิดหมาดๆ ห่อเมล็ดไว้ วิธีการนี้ใช้ได้ครับ แต่ต้องระวังในเรื่องของความชื้นของผ้าที่มากเกินไปก็อาจทำให้เมล็ดเน่าและเกิดเชื้อราได้ เนื่องจากการห่อไว้ในผ้าที่เปียกน้ำ เมล็ดมักจะเกิดการขาดอ๊อกซิเจนซึ่งเป็นปัจจัยอีกตัวในกระบวนการงอกของเมล็ดได้. ปกติแล้วส่วนตัวผมเองมักจะแนะนำให้เพาะในกล่องถนอมอาหารที่มีฝาปิดสนิท โดยรองด้านกล่องด้วยกระดาษทิขชู 3-4 ชั้นพรมน้ำให้พอชุ่ม แต่ไม่แฉะหรือมีน้ำขังในกล่อง แล้วนำเมล็ดที่ผ่านการแช่น้ำมาแล้วมาวางเรียงในกล่องนั้นโดยไม่ต้องพรมน้ำซ้ำ ซึ่งวิธีการนี้มีข้อดีความเมล็ดจะมีพื้นที่ได้รับอ๊อกซิเจนมากขึ้น ทำให้ปัจจัยการงอกสมบูรณ์และดีกว่าการห่อผ้า.

3.อุณหภูมิ ในการงอกของเมล็ดในพืชตระกูลแตงและฟัก โดยปกติพืชในกลุ่มนี้จะงอกสมบูรณ์ได้ในอุณหภูมิประมาณ 30 - 34 องศา C ถ้าสูงหรือต่ำกว่านั้น อัตราการงอกจะเริ่มลดลง. โดยปกติถ้าต้องการกระตุ้นให้เมล็ดเกิดการงอกผมจะแนะนำวิธีการบ่มร้อนดังนี้ นำกล่องถนอมอาหารที่เราทำจากข้อ 2 ด้านบน มาวางในกระติกน้ำเปล่า หรือกล่องโฟมเปล่า ปิดฝาให้สนิทแล้วนำกล่องนั้นไปตากแดดไว้ประมาณ 6 - 8 ชม. เมื่อเมล็ดถูกกระตุ้นด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นกระจะทำให้เกิดการงอกได้สมบูรณ์ เมื่อเมล็ดเริ่มมีปลายรากสีขาวโผล่ออกมา ก็สามารถย้ายไปลงวัสดุปลูกได้เลยครับ 

null

*** ไม่แนะนำให้นำเมล็ดที่ยังไม่มีปลายรากออกมาไปใส่ในวัสดุเพาะนะครับเนื่องจากวัสดุเพาะมักจะมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าปัจจัยในการงอก บวกกับความชื้นของวัสดุและพื้นที่ของอ๊อกซิเจนน้อยกว่าการกระตุ้นในกล่องที่ปิดฝา ส่งผลทำให้เมล็ดไม่งอกและเน่าได้ครับ ***


พืชตระกูลแตง จะใช้เวลางอกประมาณ 2 - 10  วันเมื่อเมล็ดเริ่มงอกก็นำไปเพาะลงวัสดุปลูกต่อไป
- แตงโมเปลือกลาย, แตงโมเปลือกดำ  อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 35 - 40 วันหลังจากดอกบาน
- แตงไทย  อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50 - 55 วันหลังจากหยอดเมล็ด
- แตงกวา   อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 6 - 7 วันหลังดอกบาน
- เมล่อน, แคนตาลูป อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 40 - 60 วันหลังผสมเกสร (แล้วแต่ชนิดของสายพันธุ์)
- ฟักทองญี่ปุ่น 45 - 50 วัน หลังดอกบาน


6. พืชกลุ่มพริก, มะเขือม่วง นำเมล็ดใส่ถุงพลาสติกแจาะรู แช่น้ำอุ่น 40 - 50 องศาเซลเซียส ประมาณ 6 - 12 ชั่วโมง ในระหว่างแช่ให้หาวัตถุกดทับถุงใส่เมล็ดให้จมอยู่ในน้ำเสมอ  จากนั้นให้นำเมล็ดมาเพาะในกล่องพลาสติกถนอมอาหาร ที่รองด้วยกระดาษชำระพรมน้ำให้กระดาษพอมีความชื้น แต่อย่าให้เปียกหรือ มีน้ำขัง นำเมล็ดที่ผ่านการแช่น้ำมาแล้ววางลงบนกระดาษชำระโดย ไม่ต้องทับกระดาษลงอีกชั้น จากนั้นปิดฝาให้สนิท นำไปตากแดด จะทำให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น
เมล็ดพริก, มะเขือ จะใช้เวลาในการงอกประมาณ 5 - 10 วัน เมื่อเมล็ดเริ่มงอกก็นำไปเพาะลงวัสดุปลูกต่อไป
- พริก              อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50 - 60 วันหลังจากหยอดเมล็ด
- พริกหวาน     อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 80 - 100 วันหลังจากหยอดเมล็ด
- มะเขือเปราะ อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50 - 60 วันหลังจากหยอดเมล็ด
- มะเขือม่วง    อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50 - 60 วันหลังจากหยอดเมล็ด


7. มะเขือเทศ เตรียมน้ำสะอาดที่ไม่มีคลอรีน ใส่แก้วน้ำดื่มประมาณ 2/3 แก้ว ใส่เมล็ดมะเขือเทศแช่ลงไปในน้ำสะอาดนั้น ให้แช่ทิ้งไว้อย่างนั้น โดยเราเปลี่ยนน้ำประมาณ 50% ทุกวัน วิธีการนี้จะทำให้เมล็ดมะเขือเทศงอกเร็วกว่าการเพาะแบบปกติ  จะใช้เวลาในการงอกประมาณ 5 - 10 วัน คอยสังเกตุที่เมล็ดเมื่อเริ่มงอกก็นำไปเพาะลงวัสดุปลูกต่อไปได้เลย


7. ปวยเล้ง   เป็นพืชที่หลายคนคิดว่าเพาะได้ยาก แต่จริงๆแล้วการเพาะปวยเล้งไม่ยากอย่างที่คิดแต่อาจจะใช้เวลา และเทคนิคยุ่งยากกว่าเมล็ดพืชชนิดอื่น โดยมีขั้นตอนดังนี้

- นำเมล็ดใส่ถุงพลาสติกแจาะรู แช่น้ำอุ่น 40 - 50 องศาเซลเซียส ประมาณ 6 - 12 ชั่วโมง ในระหว่างแช่ให้หาวัตถุกดทับถุงใส่เมล็ดให้จมอยู่ในน้ำเสมอ  จากนั้นให้นำเมล็ดมาเพาะในกล่องพลาสติกถนอมอาหาร ที่รองด้วยกระดาษชำระพรมน้ำให้กระดาษพอมีความชื้น แต่อย่าให้เปียกหรือ มีน้ำขัง นำเมล็ดที่ผ่านการแช่น้ำมาแล้ว ผึ่งให้เมล็ดแห้งพอหมาดๆ วางลงบนกระดาษชำระโดย ไม่ต้องทับกระดาษลงอีกชั้น จากนั้นปิดฝาให้สนิท 

- นำกล่องถนอมอาหารนี้ไปใส่ในตู้เย็น (ช่องแช่ผักธรรมดา) อุณหภูมิของตู้เย็นปกติจะอยู่ที่ประมาณ 4 - 7 องศา C  ซึ่งเป็นอุณหภูมิทีเหมาะต่อการงอกของเมล็ดปวยเล้งอยู่แล้ว

- ประมาณ 7 - 14 วัน เมล็ดปวยเล้งจะเริ่มแตกออก และมีปลายรากโผล่ออกมาจากเมล็ด จึงสามารถนำเมล็ดที่มีรากงอกออกมานั้นไปเพาะลงวัสดุปลูกได้ครับ

อายุเก็บเกี่ยวปวยเล้งประมาณ 40 - 45 วัน (นับจากวันปลูก)


8. บรีทรูท, สวิชชาร์ด   เป็นพืชที่มีเปลือกหุ้มเมล็ดค่อนข้างแข็งเช่นจึ้งต้องทำการแช่น้ำอุ่นก่อนเพื่อเป็นการกระตุ้นการงอกโดยมีขั้นตอนดังนี้

- นำเมล็ดใส่ถุงพลาสติกแจาะรู แช่น้ำอุ่น 40 - 50 องศาเซลเซียส ประมาณ 6 - 12 ชั่วโมง ในระหว่างแช่ให้หาวัตถุกดทับถุงใส่เมล็ดให้จมอยู่ในน้ำเสมอ  จากนั้นให้นำเมล็ดมาเพาะในกล่องพลาสติกถนอมอาหาร ที่รองด้วยกระดาษชำระพรมน้ำให้กระดาษพอมีความชื้น แต่อย่าให้เปียกหรือ มีน้ำขัง นำเมล็ดที่ผ่านการแช่น้ำมาแล้ว ผึ่งให้เมล็ดแห้งพอหมาดๆ วางลงบนกระดาษชำระโดย ไม่ต้องทับกระดาษลงอีกชั้น จากนั้นปิดฝาให้สนิท 

- นำกล่องถนอมอาหารนี้ไปตากแดด ประมาณ 7 - 14 วัน เมล็ดจะมีปลายรากโผล่ออกมา จึงสามารถนำเมล็ดไปเพาะลงวัสดุปลูกต่อไปได้ครับ (อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับบรีทรูทและสวีทชาร์ด ค่อนข้างต้องใช้อุณหภูมิสูง โดยใช้อุณหภูมิของวัสดุปลูกอยู่ที่ประมาณ 30 องศา C) ดังนั้นการเพาะในวัสดุที่เป็นฟองน้ำหรือดินที่เปียกซึ่งมีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ  ทำให้เมล็ดงอกช้า หรือไม่งอกได้ครับ

อายุเก็บเกี่ยว สวีทชาร์ด ประมาณ 50 - 55 วัน (นับจากวันปลูก)
อายุเก็บเกี่ยวบรีทรูท       ประมาณ 50 - 60 วัน (นับจากวันปลูก)


การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืช
          เมล็ดพันธุ์พืชทุกชนิดปกติแล้วเมื่อเปิดบรรจุภัณฑ์ แล้วแนะนำให้ใช้ให้หมดเนื่องจากเมล็ดจะเริ่มสูญเสียความชื้น ทำให้อัตราการงอกลดลง หากใช้ไม่หมดการเก็บเมล็ดพันธุ์พืช แนะนำให้เก็บในภาชนะที่ปิดสนิท เช่น กระปุกยา, กล่องถนอมอาหารที่มีฝาปิดสนิท เก็บในตู้เย็น (ช่องแช่ผัก) อุณหภูมิ 4 - 10 องศาเซลเซียส  โดยเมล็ดพันธุ์พืชที่เก็บในภาชนะปิดสนิทและเก็บในอุณหภูมิต่ำ สามารถเก็บได้นานประมาณ 1 - 2 ปี

* สามารถดูวิธีการปลูกพืชเพิ่มเติมได้จาก http://zen-hydroponics.blogspot.com/2013/01/blog-post.html  หรือสอบถามเพิ่มเติมมาได้ที่ zen-hydroponics@hotmail.com ก็ได้ครับ

64 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ5 พฤษภาคม 2556 เวลา 01:11

    ขอบคุณมากคะ อ่านเข้าใจง่าย มีเนื้อหาสาระโดยตรงดีคะ

    ตอบลบ
  2. เข้าใจง่ายดีครับ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ30 พฤษภาคม 2556 เวลา 13:31

    เป็นประโยชน์มากค่ะ ขอบพระคุณมากนะคะ <3

    ตอบลบ
  4. เราแชร์บน Wall เราด้วยค่ะ อ่านง่าย น่ารักด้วย

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ9 กรกฎาคม 2556 เวลา 09:40

    ในที่สุดก็เจอแล้ว ค้นหาเว็บที่แนะนำการเพาะละเอียดแบบนี้มานาน ต้องขอบคุณมากๆครับและมันจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆเพื่อความฝันที่ยิ่งใหญ่ของผม

    ตอบลบ
  6. ไม่ระบุชื่อ5 สิงหาคม 2556 เวลา 23:42

    ได้ความรู้มากๆ ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  7. ไม่ระบุชื่อ6 กันยายน 2556 เวลา 16:24

    ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

    ตอบลบ
  8. ขอบคุณมากครับ ไปอบรมมาแล้ว 1วันยังไม่ระเอียดและเข้าใจง่าย
    เท่านี้เลย

    ตอบลบ
  9. ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  10. ไม่ระบุชื่อ14 มกราคม 2557 เวลา 22:43

    จากที่ตระเวนอ่านมาหลายลิงค์ ลิงค์นี้เข้าใจง่ายที่สุดเลยค่ะ ประทับใจการแนะนำการใช้อุปกรณ์มากๆ ค่ะ ดูง่าย ประหยัด และปลูกได้จริง ขอบคุณมากค่ะ

    ตอบลบ
  11. ไม่ระบุชื่อ21 มกราคม 2557 เวลา 18:50

    ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  12. ปลูกผักกินเองง่ายถ้าลงมือทำ

    ตอบลบ
  13. ทดลองเพาะปวยเล้งขึ้นดีค่ะแต่เกือบไม่รอดปลูกกลางแดดใบเริ่มเหี่ยวพอย้ายเข้าร่มที่บังแดดด้วยแสลนใบเริ่มเขียวโตขึ้นทุกวันค่ะโตแค่ไหนนะถึงจะกินใด้ค่ะ

    ตอบลบ
  14. ปวยเล้ง เป็นพืชที่ชอบอากาศเย็น โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 15-21 องศาเซลเซียส ถ้าอากาศร้อนแนะนำให้พลางแสลนลดความร้อนครับ อายุปลูกประมาณ 30 - 45 วันครับ (นับจากวันปลูกนะครับ) ไม่รวมวันเพาะเมล็ด

    ตอบลบ
  15. ไม่ระบุชื่อ14 มีนาคม 2557 เวลา 00:21

    ให้ข้อมูลและคำแนะนำต่างๆดีมากค่ะ

    ตอบลบ
  16. กำลังทดลองปลูกผักสลัดฝรั่งครับ แต่อัตราการงอกค่อนข้างน้อย คาดว่าอากาศน่าจะร้อนในช่วงนี้ใช่หรือเปล่าครับ
    แต่ต้องขอขอบคุณสำหรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์

    ตอบลบ
  17. สุดยอดเลย ที่แนะนำสิ่งดีๆให้สังคม

    ตอบลบ
  18. ข้อมูลมีประโยชน์มากเลยค่ะ

    ตอบลบ
  19. ข้อมูลเป็นประโยชน์มาก เห็นภาพชัดเจนค่ะ

    ตอบลบ
  20. ถามค่ะ พอดีหนูซื้อแคนตาลูปมากินแล้วมีเมล็ดเยอะ เลยอยากจะลองเพาะเมล็ดดู จะทำได้มั้ยคะ แล้วต้องทำไงคะ ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. กรณีที่เป็นเมล่อนสายพันธุ์เดิม ที่ไม่ใช่ลูกผสมสามารถนำมาปลูกต่อได้ครับ แต่ถ้าเป็นพันธุ์ลูกผสม F1 ถ้านำมาปลูกต่อจะได้ผลที่ไม่เหมือนต้นแม่ครับ ส่วนมากจะมีแต่ลักษณะด้อยครับ

      ลบ
  21. ขอบคุณสำหรับความรู้มากๆครับ

    ตอบลบ
  22. ไม่ระบุชื่อ17 สิงหาคม 2557 เวลา 21:33

    ขอบคุณมากคะ ข้อมูลเยี่ยม กำลังหาข้อมูลเพื่อจะลองปลูกอยู่คะ thanks you

    ตอบลบ
  23. ขอบคุณมากครับ ข้อมูลเยี่ยมอ่านแล้วละอียดเข้าใจง่าย

    ตอบลบ
  24. ไม่ระบุชื่อ18 กันยายน 2557 เวลา 16:59

    มีประโยชน์มากคับ ขอบคุณมากเลย

    ตอบลบ
  25. ขอบคุณครับ ที่แบ่งปันความรู้ ขอให้เจริญๆ ร่ำรวยครับ

    ตอบลบ
  26. ได้ความรู้มากมาย ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  27. แน่นด้วยทักษะ...ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  28. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  29. ขอบคุณมากกับข้อมูลดีมากๆ ขออนุญาตเพยแพร่ข้อมูลต่อนะคะ

    ตอบลบ
  30. ไม่ระบุชื่อ10 กันยายน 2558 เวลา 08:17

    ขอบคุณครับ ข้อมูลดีๆที่กำลังต้องการเรียนรู้

    ตอบลบ
  31. กำลังทดลองปลูกอยู่คะ คาดว่าจะได้ผล ก่อนหน้านี้ลองปลูกแล้วแต่ไม่ได้ทำตามลิ้งค์นี้ ต้นยืดหมดเลย ตอนนี้จะลองทำตามลิ้งค์นี้อยู่นะคะ ขอบคุณมากนะคะสำหรับข้อมูล

    ตอบลบ
  32. ได้ความรู้มากเลยครับกำลังจะทดลองปลูกผักสลัดพอดีขอบคุณมากครับ

    ตอบลบ
  33. ปุ๋ยA-B สำหรับเมล่อนช่วงย้ายกล้าใช้ส่วนผสมเท่าไรครับ

    ตอบลบ
  34. การปลูกผักไร้ดิน

    ตอบลบ
  35. ขอบคุณมากครับมีประโยชน์มากๆ

    ตอบลบ
  36. ขอบคุณมากครับมีประโยชน์มากๆ

    ตอบลบ
  37. ขอบคุณครับละเอียดมากกับมือใหม่

    ตอบลบ
  38. ขอบคุณค่ะ อยากทราบว่าการปลูกแบบนี้ใช้ได้ทั้งน้ำนิ่ง และนำ้หมุนเวียนใช่ไหมคะ แล้วพอจะอธิบายเพิมเติมได้ไหมคะ ว่าการปลูกผักแบบน้ำนิ่ง กับ น้ำหมุนเวียน อันไหนได้ผลผลิตดี หรือต่างกันอย่างไรบ้างคะ ... ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สาเหตุของการหมุนเวียนน้ำเพื่อเป็นการเติมอากาศ (อ๊อกซิเจน) ให้กับรากพืช เพ่อให้พืชได้เจริญเติบโตได้เป็นปกติ เพราะการปลูกโดยที่รากพืชแช่ในน้ำปริมาณอ๊อกซิเจนในน้ำจะมีน้อยกว่าการปลูกในวัสดุปลูก ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณอ๊อกซิเจนที่รากพืช จึงได้มีการคิดค้นระบบการหมุนเวียนน้ำขึ้นมาครับ กรณีที่เราปลูกแบบไม่หมุนเวียนน้ำก็สามารถทำได้ครับแต่ถ้าหากเราต้องการให้พืชเจริญเติบโตได้เร็วขึ้นผมแนะนำให้ใส่หัวทรายปั๊มลม (ที่ใช้ในการเลี้ยงปลา) ลงไปในน้ำที่เราปลูกด้วยจะดีกว่าครับ

      ลบ
    2. ขอบคุณมากๆค่ะ

      ลบ
  39. ปวยเล้ง เอาเมล็ดใส่ถุงพลาสติกเจาะรูแช่ในน้ำอุ่น คือ ถุงก้อมีน้ำอุ่นเข้าไปได้ใช่ไหมคะ มันต่างยังไงกับแช่ในน้ำอุ่นเรย? แล้วการทำแบบนี้คือการกระตุ้นการงอกเหรอคะ?
    เคยเพาะในฟองน้ำ3-4วันมีรากออกมา แต่พอโดนแสงนิดหน่อยรากแห้งตายหมดเรย
    ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เข้าใจว่าจุดประสงค์ให้เมล็ดอยู่ภายใต้อุณภูมิทั้งเมล็ด ไม่ใส่ถุงเมล็ดอาจจะลอยบนผิวน้ำ

      ลบ
    2. เข้าใจว่าจุดประสงค์ให้เมล็ดอยู่ภายใต้อุณภูมิทั้งเมล็ด ไม่ใส่ถุงเมล็ดอาจจะลอยบนผิวน้ำ

      ลบ
  40. ขอบคุณครับ ดี มี ประโยชน์

    ตอบลบ
  41. ขอบคุณครับ ดี มี ประโยชน์

    ตอบลบ
  42. ไม่ระบุชื่อ31 พฤษภาคม 2559 เวลา 16:17

    ช่วงนำต้นกล้าลงรางปลูก ต้องเพิ่มปุ๋ย อัตราส่วนเท่าไหร่คะ ช่วยตอบด้วยค่ะ

    ตอบลบ
  43. อยากสั่งซื้อของค่ะ

    ตอบลบ
  44. อยากสั่งซื้อของค่ะ

    ตอบลบ
  45. ข้อมูลละเอียดดีมากเลยค่ะ ทำงานมีคุณภาพแบบนี้ต้องอุดหนุนกันนานๆค่ะ ขอบคุณมากๆค่ะ

    ตอบลบ
  46. ผักสลัดไม่โตเลยครับ สลัดแก้วไม่ห่อ ขอคำแนะนำหน่อย ผมเช็คค่า PH คุมให้อยู่ในระดับ 6.5-7.0 เติิมปุ๋ย AB อย่างละ 1:1000ml

    ตอบลบ
  47. ขอบคุณมากๆเลยนะคะเป็นข้อมูลที่ดีมาก ชัดเจน

    ตอบลบ
  48. ขอบคุณมากครับ
    อธิบายได้ชัดเจน เข้าใจง่าย

    ตอบลบ
  49. มีเมล็ดพันธ์เรดโอ๊คสายพันธ์ุออสการ์ดเแบบไม่เคลือบจำหน่ายไหมคะ

    ตอบลบ
  50. อธิบายได้ละเอียดดีมากอ่านแล้วเข้าใจจะรีบไปทำตามค่ะขอบคุณมากนะคะ

    ตอบลบ
  51. มีประโยชน์จนต้องเก็บไว้เป็นตำราเลยค่ะ
    ขอบคุณนะคะ

    ตอบลบ
  52. มีเทคนิคเพาะเมล็ดสะระแหน่ให้งอกไหมคะ

    ตอบลบ
  53. ไม่ระบุชื่อ29 มีนาคม 2564 เวลา 20:56

    ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูลมีประโยชน์มากๆค่ะเพิ่งหัดปลูกผักค่ะ

    ตอบลบ