เมล่อน เป็นพืชที่ชอบแสงแดด ตลอดวัน ฉะนั้นในการเลือกพื้นที่ ปลูกควรเป็นพื้น ที่โล่งแจ้ง และต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่ไม่เคยปลูกพืชตระกูลแตงมาก่อน เนื่องจากจะเป็นแหล่งสะสมของโรคทางดินได้ควรเป็นดินร่วน ปนทรายระบายน้ำ ได้ดี มีค่าความเป็น กรด - ด่าง อยู่ระหว่าง 5.8 - 6.8
ชนิดของเมล่อนจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ตามลักษณะผล คือ
1. ร็อคเมล่อน คือ เมล่อนที่มีลักษณะของเปลือกภายนอกแข็ง มีลายขรุขระเล็กน้อย
2. เน็ตเมล่อน คือ เมล่อนที่มีลักษณะของเปลือกภายมีลายร่างแหแผ่คลุมเปลือกด้านนอกไว้
3. เมล่อนผิวเรียบ หรือที่นิยมเรียกกันว่า แคนตาลูป
ทางเซนได้ทำการทดลองปลูกเมล่อนญี่ปุ่น แบบไฮโดรโพนิกส์ มีวิธีการดังนี้
1. การเพาะเมล็ดและการอนุบาลเกล้าพันธุ์เมล่อน
- นำเมล็ดที่แช่น้ำอุ่นมาแล้วห่อด้วยกระดาษชำระ หรือผ้าขาวบาง พรมน้ำให้พอมีความชื้นเล็กน้อยแต่อย่าให้แฉะ แล้วห่อด้วย ผ้าขนหนูที่เปียกพอหมาดๆ ห่อ และนำไปบ่มในอุณหภูมิ 28 - 34 องศาเซลเซียส บ่มนานประมาณ 24 - 36 ชม. เมล็ดเมล่อนจะเริ่มงอกรากยาวประมาณ 0.5 ซม. ก็สามารถย้ายลงวัสดุปลูกได้ การบ่มเมล็ดนั้นในช่วงที่มีอากาศเย็น อาจจะนำผ้าขนหนูที่ห่อเมล็ดนั้นไปใส่ไว้ในกระติกน้ำเพื่อรักษาอุณหภูมิให้เมล็ดอุ่นเพื่อให้เกิดการงอกได้ง่ายขึ้น
- ทางเซนฯ ใช้ฟองน้ำขนาด 1 x 1 นิ้ว สำหรับปลูกผักสลัดทั่วไปมาใช้เป็นวัสดุปลูก โดยอนุบาลต้นเกล้าในถาดอนุบาลประมาณ 10 - 14 วัน หรือมีใบจริงประมาณ 2 - 3 ใบก็สามารถย้ายลงแปลงปลูกได้
2. การย้ายลงปลูกและการไว้กิ่งแขนง
- ทางเซนฯ ทำการย้ายต้นเกล้าลงแปลงปลูกโดยทำสอบการปลูกในแปลงปลูกที่เป็นรางยาว 3 เมตร ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 40 ซ.ม. ในแปลงทดสอบนี้ใช้รางคู่ สามารถปลูกได้ 14 ต้น ใชระบบน้ำหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ เป็นระบบ DRFT ปริมาณน้ำในระบบปลูกประมาณ 120 ลิตร
- เชือกผยุงลำต้นผูกกับคานด้านบนของแปลง สูง 180 ซม. ใช้เชือกผูกหลวมๆ ใต้ข้อใบเมล่อนเพื่อพยุงให้ต้นเมล่อนไม่ล้ม (ผูกข้อเว้นข้อ ขึ้นไปตามแนวเชือก)
- ระหว่างนี้เด็ดกิ่งแขนงที่งอกออกมาจากข้อใบ ตั้งแต่ข้อที่ 1 - 8 และให้ไว้กิ่งแขนงตั้งแต่ข้อใบที่ 9 - 12 เพื่อให้ติดผลในข้อใบดังกล่าว และให้เหลือใบ กิ่งแขนงประมาณ 2 - 3 ใบ ส่วนยอดของกิ่งแขนงให้ตัดออกด้วย
- เมื่อยอดเมล่อนมีใบประมาณ 25 ข้อใบแล้วให้ตัดยอดทิ้งหรือต้นสูงประมาณ 1.8 ม.เพื่อหยุดการเจริญเติบโตทางด้านบน
- หลังจากผสมเกสรจนติดผลได้ประมาณ 7 - 10 วันให้ตัดใบล่างที่ต่ำกว่าผลออกให้หมดเพื่อให้สารอาหารมาเลี้ยงที่ผลได้เต็มที่ และเป็นการระบายอากาศระหว่างต้นเมล่อนให้โปร่ง เป็นการป้องกันโรคและแมลง
- การให้ปุ๋ย เมล่อนจะมีการแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ
1. ช่วงเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ ช่วงแรกนี้เป็นการให้ปุ๋ย A,B สูตรผักทานใบปกติ ในอัตราส่วน A,B อย่างละ 2 - 3 ซีซีต่อน้ำ 1 ลิตร หรือควบคุม EC ให้อยู่ที่ 1.5 - 1.8 และค่า pH ให้อยู่ที่ประมาณ 6.0 - 6.3
2. ช่วงก่อนดอกและหลังผสมเกสร เมื่อย้ายลงปลูกได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ให้เราเสริมด้วยปุ๋ย C โดยฉีดพ่นทางใบ สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง หลังผสมเกสรได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ก็ให้หยุดการฉีดพ่นทางใบได้ หลังแล้วเปลี่ยนมาให้เสริมปุ๋ย C ลงในระบบน้ำแทน โดยใช้ปริมาณ 2 - 3 ซีซี / น้ำ 1 ลิตร และ ปรับ A,B เป็น 5 - 6 ซีซีต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ EC เป็น 2.0 - 2.5 และค่า pH ให้อยู่ที่ประมาณ 6.4 - 6.6
3. ช่วงพัฒนาคุณภาพผล เมื่อผลเมล่อนมีการขยายตัวเต็มที่แล้ว ก่อนเก็บเกี่ยว 7 - 10 วัน ใช้ปุ๋ย K ในอัตราส่วน 2 - 3 ซีซี/น้ำ 1 ลิตร (โดยให้ทางระบบรากหรือจะใช้การฉีดพ่นก็ได้)
3. การผสมเกสร
เมล่อน เป็นพืชตระกูลแตงที่มีดอกไม่สมบูรณ์เพศ คือมีการแยกเพศระหว่างดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย ในกรณีที่ปลูกในโรงเรือนหรือมีมุ้งคลุม ผู้ปลูกจะต้องช่วยผสมเกสรให้กับต้นแตงด้วย ลักษณะของดอกตัวเมียจะดูได้จากฐานรองดอกจะมีลักษณะมีลูกกลมรีเล็กๆ เห็นได้ชัดเจน ในวันที่ดอกตัวเมียบานให้เราช่วยต้นเมล่อนในการผสมเกสรดอก โดยให้เด็ดดอกตัวผู้ ออกมาแล้วดึงกลีบดอกออกให้หมด แล้วนำช่อเกสรดอกตัวผู้ที่อยู่ด้านใน มาเขี่ยกับเกสรของดอกตัวเมียก็ได้ หรือจะใช้พูกันขนอ่อนๆ เขี่ยที่เกสรดอกตัวผู้แล้วนำมาแต้มเขี่ยที่ตัวรับเกสรของดอกตัวเมียก็ได้ และต้องทำในช่วงเช้าที่ดอกตัวเมียบาน ไม่เกินเที่ยงวัน เมื่อเลยเที่ยงวันไปแล้วดอกตัวเมียจะไม่ค่อยรับการผสมจากดอกตัวผู้แล้ว และดอกตัวเมียจะบานอยู่แค่วันเดียวเท่านั้น (ในที่นี้เซนฯ ปลูกแบบเปิด มีผึ้งมาช่วยในการผสมเกสร) หลังจากย้ายปลูกประมาณ 2 สัปดาห์ จะเริ่มมีดอกตัวเมียบานที่กิ่งแขนง
- หลังจากผสมเกสรแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ถ้าผสมติดผลเมล่อนจะเริ่มใหญ่ขึ้น โดยมีขนาดเท่ากับผลไข่ไก่ ให้เราเลือกไว้ผลที่สมบูรณ์ที่สุดไม่บิดเบี้ยวหรือ ผลที่มีขั้วผลแข็งแรง ในหนึ่งต้นให้เหลือไว้แค่ 1 ลูก เท่านั้น ส่วนที่เหลือให้ตัดทิ้ง ลูกที่เลือกไว้กรณีปลูกนอกโรงเรือนแนะนำให้ห่อผลไว้เลยครับ แนะนำแขนงที่ดีที่สุดสำหรับการไว้ผลคือ 9 และ 10 (สูตรจากญี่ปุ่น)
- หลังติดผล 1 สัปดาห์ ทางเซนฯ ให้มีการปรับสูตรปุ๋ยในช่วงนี้ คือ A,B 4 ซีซีต่อน้ำ 1 ลิตร และเพิ่มปุ๋ย Ca+ จำนวน 3 ซีซี/น้ำ 1 ลิตร ลงไปในระบบปลูก และเพิ่มค่า pH ให้อยู่ที่ประมาณ 6.5 - 6.8 เพื่อให้ผลได้รับ Ca+ มากขึ้นเพื่อให้ผลมีการขยายและพัฒนาได้อย่างเต็มที่ และเป็นการป้องกันการเกิดภาวะผลแตกเนื่องจากการขาดแคลเซียมด้วย
- ก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 7 - 10 วัน หยุดการให้ปุ๋ย A, B, C แต่ให้ปุ๋ย K ประมาณ 2 - 3 ซีซี/น้ำ 1 ลิตร เพื่อให้เมล่อนพัฒนาเรื่องสีและความหวานให้ดีขึ้น โดยจะพ่นทางใบหรือให้ทางรากก็ได้ และก่อนเก็บประมาณ 5 - 7 วัน หยุดจ่ายน้ำให้ต้นเมล่อนแห้ง และเป็นการลดปริมาณน้ำในผลเมล่อนเพื่อให้เนื้อมีความหวานมากขึ้น
4. การเก็บเกี่ยว
1.มีตาข่ายคลุมเต็มผล
2.จับที่ก้นผลไม่แข็งหรือนิ่มเกินไป
3.ที่มือจับหรือหนวดที่ขั้วผลจะแห้งเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลโดยเริ่มจากปลายเส้น
4.มีกลิ่นหอมออกมาจากผลหรือขั้วผล
- เมล่อนก่อนการเก็บเกี่ยวเมล่อนประมาณ 1 สัปดาห์ ให้เราหยุดการให้ปุ๋ย A,B กับต้นเมล่อน แต่มาใช้เป็นปุ๋ย K แทนในอัตราส่วน 200- 300 มิลิกรัม/น้ำ 1 ลิตร หรือ 2 - 3 ซีซี/น้ำ 1 ลิตร (โดยให้ทางระบบรากหรือจะใช้การฉีดพ่นก็ได้) หากปลูกในวัสดุให้ลดการให้น้ำกับต้นเมล่อนลง โดยสังเกตุให้ใบเมล่อนเหี่ยวลงในช่วงกลางวัน การทำเช่นนี้เพื่อเร่งให้เมล่อนเร่งกระบวนการเปลี่ยนแป้งที่สะสมในผลให้เป็นน้ำตาล ทำให้เมล่อนมีปริมาณความหวานเพิ่มมากขึ้น (การใช้ปุ่๋ย K ต้องระวังอย่าให้มากเกินไป และหลีกเลี่ยงการให้ K ในช่วงผลขยายตัว เพราะอาจจะทำให้ผลแตก หรือเน่าได้)
* การทานเมล่อนให้อร่อยหลังเก็บเมล่อนมาแล้วให้ทิ้งผลไว้ที่อุณหภูมิปกติ จนขั้วผลเริ่มแห้งจากสีเขียวเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ประมาณ 4 - 5 วัน จะทำให้เมล่อนมีความหวาน มากกว่าเมล่อนที่ตัดมาจากต้นใหม่ๆ และก่อนจะรับประทานให้ปฎิบัติดังนี้
1. นำผลเมล่อนล้างและเช็ดทำความสะอาด ผึ่งให้แห้ง ทิ้งไว้ในอุณหภูมิปกติประมาณ 3 - 5 วัน
2. นำผลเมล่อนใส่ในตู้เย็น (ช่องแช่ผัก) ทิ้งไว้ประมาณ 1 - 2 วัน การนำเมล่อนไปแช่ตู้เย็นจะทำให้เนื้อเมล่อนมีความฉ่ำน้ำเวลาทานจะอร่อยมากขึ้น
3. นำผลเมล่อนมาผ่าออกเป็น 6 - 8 ซีก
4. เขี่ยเมล็ดออก โดยไม่ต้องปาดไส้ในทิ้ง (เพราะส่วนที่อร่อยที่สุดของเมล่อนคือส่วนเนื้อด้านในสุด)
5. ใช้มีดปาดเนื้อให้ห่างจากผิวเปลือกประมาณ 1 เซนติเมตร หรือจะใช้ช้อนตักทานเลยก็ได้ครับ
เมล่อนญี่ปุ่น อิชิบะ โคจิ ที่ทางเซนฯ ทดลองปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์ (DRFT)
มีน้ำหนักเฉลี่ยต่อผลอยู่ที่ 1,800 - 2,300 กรัม วัดความหวานได้ 17%
เนื้อนุ่มฉ่ำน้ำ รสหวานจัด มีกลิ่นหอมมากเวลาทาน
โรคและแมลงศัตรูของเมล่อน
1. โรคเหี่ยวจากเชื้อรา (Fusarium Wilt) เป็นโรคที่เกิดกับพืชตระกูลแตง
เชื้อสาเหตุ : Fusarium oxysporum f.sp. melonis : เป็นเชื้อสาเหตุ ของโรคเหี่ยวที่พบในเมล่อน ลักษณะอาการ : เชื้อสาเหตุเข้าสู่ต้นพืชทางราก ในระยะต้นอ่อนใบเลี้ยงจะเหี่ยว เปลี่ยนเป็นสีเหลือง ร่วง พืชแสดงอาการเหี่ยวเฉาจากส่วนยอดลงมา ส่วนของเถาของต้นที่โตแล้วจะแสดงอาการใบล่างเหลืองโดยอาการเริ่มต้นแสดงหลายอย่างเช่น ต้นแตก เกิดอาการเน่าที่โคนและซอกใบ ถ้าเกิดอาการเน่า และพบเชื้อราสีขาวบริเวณรอยแตก หลังจากนั้นพืชจะแสดงอาการเหี่ยวและตาย การป้องกันกำจัด• ปรับสภาพความเป็นกรด – ด่าง ของดินปลูกให้เหมาะสมคืออยู่ที่ pH 6.5 • ใส่ปุ๋ยไนเตรท และไนโตรเจน จะสามารถลดความรุนแรงของโรค • ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน • ถอนต้นที่เป็นโรค(เผา)ทิ้ง และป้องกันโรคโดยการใช้สารจุลินทรีย์ เช่น ไตรโคเดอร์มา • ใช้ เบนเลทผสม แคปแทน หรือ เทอร์ลาคลอร์ ราดโคนก่อนปลูกและหลังปลูก 15 วัน |
2. โรคต้นแตกหรือยางไหล ( Gummy Stem Blight ) เชื้อสาเหตุ : Mycosphaerella melonis ( Didymella bryoniae ) เป็นโรคที่มีการระบาดอย่างกว้างขวางในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน เป็นโรคที่ติดสามารถติดมากับเมล็ดพันธุ์ โรคนี้จะเข้าทำลายพืชทางแผลที่ใบและลำต้น โรคต้นแตกยางไหลจะระบาดรุนแรงในสภาพแปลงปลูกที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูง หรือสภาพของแปลงที่มีอุณหภูมิกลางคืนต่ำ และมีความชื้นสูง ลักษณะอาการ : อาการที่แสดงในใบแก่ แผลจะมีลักษณะกลม สีน้ำตาลอมแดง หรือมีสีดำ ขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตร รอบแผลจะมีสีเหลือง หลังจากนั้นแผลจะฉีกขาดหรือร่วง อาการเริ่มแรกจะปรากฏที่ขอบใบและขยายเข้าไปที่ส่วนกลางของใบ การเข้าทำลายส่วนของลำต้น อาการที่ปรากฏคือ จะมีแผล เชื้อสาเหตุจะสร้างเมือกเหนียวสีน้ำตาล หรือน้ำตาลอมแดง การป้องกันกำจัด: การป้องกันและกำจัดสามารถทำได้ดังต่อไปนี้คือ • การปลูกพืชหมุนเวียน • ใช้พันธุ์ต้านทานโรค • ใช้สารเคมีฉีดพ่นเช่น อ็อกเทพ โนมิลดิว ไดแทน เอ็ม - 45, บราโว , เทอร์รานิล หรือ เอคโค |
3. โรคราแป้ง ( Powdery Mildew ) เชื้อสาเหตุ : Erysiphe cichoracearum De candolle Sphaerotheca fuliginea : เป็นเชื้อสาเหตุของราแป้งในเมล่อน การแพร่กระจาย : โดยทั่วไปจะมีการแพร่กระจายโดยลม จะระบาดอย่างกว้างขวางในสภาพที่มีอุณหภูมิสูง ความชื้นสัมพัทธ์ 50 – 90 % ความเข้มของแสงต่ำ มีน้ำค้างและมีการปลูกพืชในอัตราที่จำนวนต้นสูงจนเกินไป อย่างไรก็ตามโรคราแป้งสามารถที่จะระบาดได้ดีภายใต้สภาพการปลูกที่ไม่มีน้ำค้างได้เช่นเดียวกัน ลักษณะอาการ : เชื้อสาเหตุเข้าทำลายพืชตระกูลแตงทุกชนิด ลักษณะอาการขั้นต้น จะปรากฏเป็นจุดเหลืองอ่อนที่ ลำต้น ยอดอ่อน ทั้งด้านบนและด้านล่างของใบ เมื่อแผลมีการขยายใหญ่ขึ้น จะมี สปอร์ของเชื้อราสีขาวคล้ายแป้งปกคลุม หลังจากนั้นใบจะเปลี่ยน เป็นสีเหลืองอมน้ำตาลและแห้งกรอบ • การใช้สายพันธุ์ต้านทานโรค • บาวีซาน อัตรา 10 – 20 กรัม ต่อ น้ำ 20 ลิตรฉีดพ่น • ฉีดพ่นด้วย กำมะถัน ชนิดละลายน้ำอัตรา 30- 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดในสภาพอุณหภูมิต่ำ ในกรณีที่อุณหภูมิสูงจะมีผลให้ใบของเมล่อนใหม้ • ใช้ ทอปซิน, เบเลตันฉีดพ่นตามอัตราที่กำหนด |
4. โรคราน้ำค้าง ( Downy Mildew) เชื้อสาเหตุ : Pseudoperonospora cubensis ( Berkeley & Curtis ) Roslowzew เป็นโรคที่ สำคัญของพืชตระกูลแตงในเขตร้อนและกึ่งร้อน แพร่กระจายโดยลม ฝน และเครื่องมือการเกษตร ลักษณะอาการ : อาการเริ่มแรกจะพบที่ใบล่าง โดยเกิดเป็นจุดสีเหลืองหรือสีน้ำตาลขนาดเล็ก แล้วขยายขนาดใหญ่ขึ้นเป็นรูปเหลี่ยมอยู่ระหว่างเส้นใบ นอกจากนี้สามารถตรวจสอบบริเวณใต้ใบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเช้ามืด จะปรากฏเส้นใยเชื้อราสีขาว หรือสีเทา ใบพืชจะแห้งตายแต่ก้านใบจะชูขึ้น ขอบใบม้วน ใบจะร่วง
การป้องกันกำจัด :
• ใช้สารเคมีฉีดพ่น โดยใช้ แทนเอ็ม 15 กรัม + โนมิลดิว 25 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นใต้ใบทุกๆ 7 วัน หากมีการระบาดรุนแรง ใช้ ลอนมิเนต 1- 2 ช้อนชาผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น ให้ทั่วทุก 7 วัน ประมาณ 2- 3 ครั้ง • ฉีดพ่นด้วย ริดโดมิล โกล เอ็ม แซด , บราโว 82 W, เทอรานิล หรือ เอคโค เมื่อโรคเข้าทำลาย 3- 7 วัน • ใช้พันธุ์ต้านทาน |
แมลงศัตรูที่สำคัญ
1. เพลี้ยไฟ (Thrips)
เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมากเท่าปลายเข็ม ตัวอ่อนมีสีแดง ตัวแก่เป็นสีดำ ดูดน้ำเลี้ยงที่ปลายยอดอ่อนของต้น ทำให้ยอดชะงักการเจริญเติบโต หดสั้น บิดเบี้ยว ระบาดมาในสภาพอากาศร้อนและแห้งของฤดูร้อน โดยมีลมเป็นพาหนะพาเพลี้ยไฟเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น ป้องกันกำจัดได้ด้วยการปลูกพืชที่กันชนที่ต้านทานเพลี้ยไฟ เช่น มะระ ล้อมรอบแปลง และ ฉีดพ่นป้องกันกำจัดแมลงโดยใช้ ยาเส้น 1 ขีด ต่อน้ำ 5 ลิตร แช่ 1 คืน ฉีดพ่นทุกๆ 3 - 7 วัน
2. ด้วงเต่าแตง (Leaf beatle)
เป็นแมลงปีกแข้ง ลำตัวยาวประมาณ 1 ซม. ปีกมีสีเหลืองปนส้ม กัดกินใบแตงให้แหว่งเป็นวงๆ ถ้าระบาดและทำความเสียหายให้กับใบจำนวนมาก ให้ฉีดพ่นด้วยเชื้อราบิวเวอร์เรีย
3. หนอนชอนใบ (Leaf minor)
เป็นแมลงตัวเล็กที่ชอนไชอยู่ใต้ผิวใบ กัดกินเนื้อใบเป็นทางยาวคดเคี้ยวไปทั่วทั้งผืนใบ โดยทั่วไปไม่พบว่ามีการระบาดมากในพืชตระกูลแตงเท่าใดนัก แต่ในกรณีที่มีการระบาดมาก และเกิดขึ้นในระยะแรกของการเจริญเติบโตจะทำให้พื้นที่ใบเสียหายส่งผลให้กระทบกระเทือนต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตต่อไปของต้นแตงเทศ วิธีการกำจัดต้องใช้สารสกัดจากสะเดา, ยาเส้น หรือบิวเวอร์เรีย
4. แมลงวันผลไม้ (Melon fruit fly)
เป็นแมลงที่ทำความเสียหายแก่ผลไม้มากที่สุดชนิดหนึ่ง ตัวเมียจะวางไข่ในผลไม้ใกล้สุก ทำให้เกิดตัวหนอนชอนไชอยู่ในผล ทำให้เกิดแผล เน่าเสียราคา วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันคือการห่อผลก่อนที่ผลไม้จะสุกแก่
ตัวอย่างการปลูกเมล่อนด้วยวิธีต่างๆ
http://www.youtube.com/watch?v=exmNdxzViEw การปลูกเมล่อนโดยไม่ใช้ดินhttp://www.youtube.com/watch?v=g-i1rT2YTIY การปลูกเมล่อนโดยไม่ใช้ดิน