เบบี้แครอท (Baby Carrot) ลักษณะทั่วไปของ เบบี้แครอท มีรูปทรงยาวรี โคนใหญ่ ปลายเรียวแหลม หัวมีสีส้ม เนื้อกรอบ รสชาดหวาน ใช้ส่วนรากที่เติบโตเป็นหัวในการบริโภค ปลูกในพื้นที่ขนาดเล็กได้ ให้ผลตอบแทนสูง ใช้เวลาในการปลูกสั้น
เบบี้แครอท เจริญได้ดีในดินละเอียด และร่วนซุย หน้าดินลึก มีอินทรีย์วัตถุสูง ระบายน้ำได้ดี ความเป็นกรด-ด่าง ของดิน 6.5 - 7.5 การปลูกในดินเหนียว หรือโครงสร้างดินแข็งจะทำให้หัวแตก มีรูปทรงผิดปกติ หากแปลงปลูกมีความชื้นสูง หัวจะมีแผลสีดำเน่า
เบบี้แครอท เป็นพืชที่มีสาร Beta carotene มาก โดยเฉพาะบริเวณส่วนของเปลือกแก่ ซึ่งสามารถเปลี่ยนวิตามินเอได้สูง(11,000 IU) นอกจากนี้ยังมีวิตามิน บี 1 บี 2 และวิตามินบี วิตามินเอ ช่วยทำให้ร่างกายมีภูมิต่อต้านโรคหวัด ป้องกันโรคมะเร็งป้องกันอาการผิดปกติในกระดูก โรคผิวหนังและรักษาสายตา
เบบี้แครอท นิยมนำมารับประทานสด ในสลัด หรือนำมาประกอบอาหารชนิดอื่นๆ เช่น ผัด ต้มซุป แกงจืด ช่วยเพิ่มสีสรรในจานอาหาร
การปลูก และดูแลรักษา เบบี้แครอท (Baby Carrot)
การเตรียมดิน เบบี้แครอทสามารถปลูกลงกระถางปลูกได้ โดยเลือกกระถางสูงประมาณ 1 ฟุตขึ้นไปโดยดินที่ใช้ปลูกให้ผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ และแกลบดำ เพื่อให้ดินร่วนซุย การปลูกจะเพาะในถาดอนุบาลก่อน หรือหว่านลงวัสดุปลูกก็ได้ แล้วค่อยถอดต้นเกล้าที่ขึ้นเบียดกันเมื่อเกล้าได้อายุประมาณ 15 - 20 วัน โดยระยะปลูกต่อต้นประมาณ 3 - 5 ซม. โดยแปลงปลูกประมาณ 1 ตารางเมตรสามารถปลูกได้ประมาณ 300 ต้น
การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอทุกวันในระยะต้นอ่อน แล้วลดเหลือ 2 - 3 วัน/ครั้ง โดยสังเกตุที่วัสดุปลูกอย่าให้แฉะมากจะทำให้หัวแครอทเน่าได้
การถอนแยกปลูกและให้ปุ๋ย
หลังจากเมล็ดงอก มีใบจริง 2 - 5 ใบ หรือประมาณ 15 - 20 วันหลังจากปลูก ให้ถอนแยกต้น ให้มีระยะห่างระหว่างต้น 3 - 5 เซนติเมตร หลักจากนั้น ใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 50 กรัม/ตร.ม. หรือปุ๋ยอินทรีย์ 100 กรัม/ตร.ม. พร้อมกำจัดวัชพืช หลังจากการใส่ปุ๋ยครั้งแรก 15 - 20 วัน ใส่ปุ๋ย 13-13-21 อัตรา 50 กรัม/ตร.ม. โรยในร่องลึก 2-3 เซนติเมตร
การเก็บเกี่ยว
ทยอยเก็บเมื่ออายุได้ 60 - 70 วัน โดยการขุดต้นที่ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ ตัดแต่งให้เหลือก้านใบยาว 3 เซนติเมตร ล้างหัวให้สะอาด และผึ่งให้แห้งก่อนบรรจุส่ง
* ข้อควรระวังในการปลูก
- การหยอดเมล็ดอย่าให้เมล็ดติดกัน ระยะห่างประมาณ 3 - 5 เซนติเมตร
- ควรให้น้ำสม่ำเสมออย่าให้แฉะเกินไป
- ควรเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษในการเตรียมแปลงปลูก และตอนถอนแยก
- หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยยูเรียในช่วงฤดูฝน เนื่องจากจะทำให้แครอทสร้างใบมากเกินไปทำให้การเจริญเติบโตทางหัวลดลง
- กลบดินที่โคนต้นให้ดี เนื่องจากถ้าหัวแครอทถูกแสงแดดมากจะทำให้หัวมีสีเขียวไม่สวยงาม
โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญในระยะการเจริญเติบโตต่างๆ ของ เบบี้แครอท (Baby Carrot)
ระยะหยอดเมล็ด-ถอนแยก 15-20 วัน โรคใบจุด, โรคราแป้ง, โรครากปม
ระยะตั้งตัว 21-28 วัน โรคใบจุด, โรคราแป้ง, โรครากปม, เสี้ยนดิน
ระยะลงหัว 28-60 วัน โรคใบจุด, โรคราแป้ง, โรครากปม, โรคหัวเน่า, เสี้ยนดิน
ระยะโตเต็มที่ 60-90 วัน โรคใบจุด, โรคราแป้ง, โรครากปม, โรคหัวเน่า, เสี้ยนดิน
http://www.youtube.com/watch?v=d6PnnaAnkgQ การปลูกแครอท
http://www.youtube.com/watch?v=m_Oldp6HcVU การปลูกเบบี้แครอทในกล่องพลาสติก
http://www.youtube.com/watch?v=sWOaJZGYulI การปลูกเบบี้แครอทและการย้ายปลูก
http://www.youtube.com/watch?v=zW08MYhsX80 การปลูกแครอท
http://www.youtube.com/watch?v=17UyCILnwcM การปลูกแครอทด้วยระบบอะควอโพนิกส์