จากการทดลองปลูกเมล่อนฮันนี่ดิว ในช่วงฤดูฝน (สภาพอากาศร้อนอบอ้าว ความชื้นสูง แสงแดดน้อย) เมล่อนยังคงสามารถเจริญเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตได้เร็ว มีความต้านทานต่อโรคเชื้อราได้ดีมาก ที่สำคัญคือทำความหวานได้ง่ายมาก ทางเซนฯ จึงแนะนำให้เป็นเมล่อนอีกสายพันธุ์ สำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นปลูกเมล่อนใหม่ๆ ได้ทดลองปลูก
เมล่อน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา เป็นพืชที่ชอบ อากาศอบอุ่นถึงร้อน อุณหภูมิที่เหมาะสำหรับการปลูกเมล่อนคือ 25 - 30 องศา C (ในเวลากลางวัน) และ 18 - 20 องศา C (ในเวลากลางคืน) โดยที่อุณหภูมิที่ต่างกันของเวลา กลางวันกับกลางคืนนี้จะมีผลต่อ ความหวาน และคุณภาพของเมล่อนเป็นอย่างมาก ถ้าความแตกต่างของอุณหภูมิยิ่งมีมากจะทำให้ความหวาน และคุณภาพของเมล่อนยิ่งสูงขึ้น แต่สภาพอากาศ หรือพื้นที่ๆ มีอากาศหนาวเย็นมากๆ โดยอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 15 องศา C จะทำให้ผลเมล่อนไม่โต และหยุดชะงักการเจริญเติบโต แต่อุณหภูมิที่สูงเกินไปก็มีผลไม่ดีต่อเมล่อนเหมือนกัน คือถ้าอุณภูมิสูงมากเกิน 35 องศา C จะทำเมล่อนสร้างดอกตัวเมียน้อยลง
เมล่อน เป็นพืชที่ชอบแสงแดด ตลอดวัน ฉะนั้นในการเลือกพื้นที่ ปลูกควรเป็นพื้น ที่โล่งแจ้ง และต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่ไม่เคยปลูกพืชตระกูลแตงมาก่อน เนื่องจากจะเป็นแหล่งสะสมของโรคทางดินได้ควรเป็นดินร่วน ปนทรายระบายน้ำ ได้ดี มีความเป็น กรด-ด่าง อยู่ระหว่าง 6.0 - 6.8
ชนิดของเมล่อนจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ตามลักษณะผล คือ
1. ร็อคเมล่อน คือ เมล่อนที่มีลักษณะของเปลือกภายนอกแข็ง มีลายขรุขระเล็กน้อย
2. เน็ตเมล่อน คือ เมล่อนที่มีลักษณะของเปลือกภายมีลายร่างแหแผ่คลุมเปลือกด้านนอกไว้
3. เมล่อนผิวเรียบ หรือที่นิยมเรียกกันว่า แคนตาลูป
1. การเพาะเมล็ดและการอนุบาลเกล้าพันธุ์เมล่อน
- ให้นำเมล็ดเมล็ดพันธุ์บรรจุลงในถุงพลาสติก หรือถุงซิบที่เจาะรูพรุน หรือถุงตาข่าย ลงแช่ในน้ำอุ่นนานประมาณ 4 - 6 ชม.
- นำเมล็ดออกมาสลัดน้ำทิ้งใช้ผ้าขนหนูที่เปียกพอหมาดๆ ห่อ และนำไปบ่มในอุณหภูมิ 28 - 34 องศาเซลเซียส บ่มนานประมาณ 24 - 30 ชม. เมล็ดแคนตาลูปจะเริ่มงอกรากยาวประมาณ 0.5 ชม. ก็สามารถย้ายลงวัสดุปลูกได้
- นำเมล็ดมาฝังลงในวัสดุเพาะเกล้า โดยให้ปลายเมล็ดด้านแหลมทิ่มลงไปในวัสดุเพาะ สำหรับวัสดุเพาะที่นิยมและได้ผลดีที่สุดคือการเพาะเมล่อนคือ พีทมอส เนื่องจากคุณสมบัติที่ดูดซับความชื้นได้ดี มีความร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี และยังมีธาตุอาหารพืชอยู่ด้วยทำให้เมล่อนที่เพาะด้วยวัสดุปลูกนี้มีความแข็งแรง และเจริญเติบโตได้ดี ในกรณีที่ไม่สามารถหาพีทมอสได้อาจจะใช้ขุยมะพร้าวที่ใช้ตะแกรงร่อนเอาเศษใยมะพร้าวออกก่อน มาใช้เป็นวัสดุเพาะได้เช่นกัน
- รดน้ำเช้า - เย็นให้พอชุมวัสดุเพาะ ประมาณ 3 - 5 วัน เมล็ดจะดันตัวออกมาจากวัสดุเพาะ ให้เราอนุบาลเกล้าไปประมาณ 14 - 20 วัน ต้นเกล้าจะมีใบจริงประมาณ 2 - 3 ใบ ก็สามารถย้ายลงปลูกได้
2. การย้ายปลูก
- เตรียมถุงปลูกขนาด 10 - 12 นิ้ว นำวัสดุปลูก ขุยมะพร้าว จำนวน 2 ส่วน, ทรายหยาบ 1 ส่วน, แกลบดิบ 1 ส่วน ผสมกันแล้วใส่วัสดุปลูกลงถุงปลูก
- รดน้ำให้วัสุดปลูกชุ่ม และแช่น้ำค้างลงในจานรองกระถางไว้ประมาณ 1 - 2 วันก่อนปลูก
- ก่อนปลูกให้ใช้น้ำรดวัสดุปลูกอีกครั้งเพื่อล้าง สารแทนนินในขุยมะพร้าวออก (เนื่องจากสารแทนนินในเปลือกมะพร้าวถ้ามีมากไปจะมีผลต่อรากพืช)
- นำต้นเกล้าเมล่อนที่อนุบาลมาได้ประมาณ 14 - 20 วัน ย้ายลงปลูกในกระถาง โดยระหว่าง 1 สัปดาห์แรกของการย้ายปลูกให้เมล่อนได้รับแสงในช่วงเช้าหรือเย็นประมาณ 5 - 6 ชั่วโมงต่อวัน (หลีกหลี่ยงแสงแดดที่แรงเกินไปในช่วงกลางวันหรือบ่าย)
- รดน้ำวันละ 2 ครั้ง คือ เช้า-เย็น และเพิ่มการให้น้ำเป็น 4 ครั้งต่อวันเมื่อแตงติดลูกแล้ว
- ปริมาณการให้ปุ๋ยจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ
1. ช่วงเจริญเติบโตให้ ปุ๋ย A,B ที่มีปริมาณ N = 150 - 200 mg./L. และ P = 30 -50 mg./L. และ P = 150 - 200 mg./L.
2. ช่วงพัฒนาผล จะลดปริมาณไนโตรเจนลงเล็กน้อย ประมาณ และเพิ่ม K ขึ้น โดยปรับ K เพิ่มเป็น 250 - 300 mg./L. ในระหว่างนี้ให้เสริม C เป็นระยะเพื่อป้องกันผลแตกและภาวะการขาดแคลเซียม อัตราส่วนการใช้ C อยู่ที่ประมาณ 200 - 300 mg./L.
1. ช่วงเจริญเติบโตให้ ปุ๋ย A,B ที่มีปริมาณ N = 150 - 200 mg./L. และ P = 30 -50 mg./L. และ P = 150 - 200 mg./L.
2. ช่วงพัฒนาผล จะลดปริมาณไนโตรเจนลงเล็กน้อย ประมาณ และเพิ่ม K ขึ้น โดยปรับ K เพิ่มเป็น 250 - 300 mg./L. ในระหว่างนี้ให้เสริม C เป็นระยะเพื่อป้องกันผลแตกและภาวะการขาดแคลเซียม อัตราส่วนการใช้ C อยู่ที่ประมาณ 200 - 300 mg./L.
- ประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนเก็บเกี่ยวลดการให้น้ำลงเพื่อป้องกันผลแตงแตก และเป็นการเพิ่มความหวานให้กับแตงมากขึ้น
3. การทำค้างให้ต้นเมล่อน
- ให้ใช้เชือกผูกกับคานสูงประมาณ 1.8 ม. - 2 ม. ขึงเชือกเป็นแนวดิ่งลงพื้น ให้ตรงกับกระถางปลูกเพื่อใช้พยุงลำต้นเมล่อน
- ให้ใช้เชือกผูกหลวมๆ ใต้ข้อใบเมล่อนเพื่อพยุงให้ต้นเมล่อนไม่ล้ม (ผูกข้อเว้นข้อ ขึ้นไปตามแนวเชือก)
4. การตัดกิ่งแขนง , การตัดยอด, การตัดใบ
- เมื่อเมล่อนอายุได้ประมาณ 30 วัน จะมีกิ่งแขนงงอกออกมาจากข้อใบแต่ละข้อ ให้เราเด็ดกิ่งแขนง ที่งอกออกมาระหว่างใบทิ้งให้หมด โดยนับจากข้อใบที่ 1 ถึงข้อใบที่ 7 (แนะนำให้เด็ดในช่วงเช้า) เนื่องจากกิ่งแขนงจะอิ่มน้ำ จะเด็ดง่ายและไม่ทำให้เมล่อนบอบช้ำมาก
- ให้ไว้กิ่งแขนงที่งอกออกมาจากข้อใบที่ 8 - 12 ไว้เพื่อให้เมล่อน สร้างดอกตัวเมียและติดผลในกิ่งแขนงดังกล่าว
- เมื่อเมล่อนมีข้อใบได้ประมาณ 25 ข้อ ให้เราตัดยอดเมล่อนทิ้งเพื่อให้ สารอาหารมาเลี้ยงเฉพาะผล และลำต้นที่เหลือ
- ให้เด็ดใบล่างของเมล่อน ที่ไม่ได้รับแสงออกไปประมาณ 3 - 4 ใบ เพื่อป้องกันเชื้อรา และแมลงที่อาจมารบกวนได้
- ให้ตัดปลายกิ่งแขนงที่ทำการผสมดอกและเมล่อนติดผลแล้วในกิ่งนั้นออก โดยให้เหลือใบเลี้ยงที่กิ่งแขนงประมาณ 2 - 3 ใบ
5. การผสมเกสรและการไว้ผลเมล่อน
- เมื่อเมล่อนสร้างดอกตัวเมียที่กิ่งแขนง ลักษณะของดอกตัวเมียจะดูได้จากฐานรองดอกจะมีลักษณะกลมรี เป็นกระเปราะเห็นชัดเจน เมื่อวันที่ดอกตัวเมียบานให้เราช่วยต้นเมล่อนในการผสมเกสรดอก โดยให้เด็ดดอกตัวผู้ (ดอกตัวผู้มักเกิดที่ข้อใบแต่ละข้อ) ออกมาแล้วดึงกลีบดอกออกให้หมด แล้วนำช่อเกสรดอกตัวผู้ที่อยู่ด้านใน มาเขี่ยกับเกสรของดอกตัวเมีย
- การผสมเกสรแนะนำให้ทำในช่วงเช้าที่ดอกบาน ประมาณ 6.00 - 10.00 น. ซึ่งเวลาดังกล่าวดอกตัวเมียจะพร้อมที่สุดต่อการผสมเกสร หากเกินเวลาดังกล่าวกลีบดอกตัวเมียจะหุบและเฉาไป
- การผสมดอกตัวเมีย 1 ดอกจะใช้ดอกตัวผู้ประมาณ 3 ดอก ในการผสม
- เมื่อผสมเกสรดอกแล้วให้เราจดวันที่ผสมเกสรไว้แล้วแขวนป้ายวันที่ผสมไว้ที่ดอกนั้นด้วย เพื่อช่วยในการนับอายุผลของเมล่อนเพื่อการเก็บเกี่ยวต่อไป
- เมล่อนเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก ยิ่งในช่วงที่มีการพัฒนาผล ให้เรารดน้ำ 3 เวลา คือเช้า-กลางวัน-เย็น
- เมล่อนเมื่อผสมเกสรไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ผลจะเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น เราต้องมีการผูกเชือกเพื่อทำการแขวนผล โดยให้เราใช้เชือกทำเป็นบ่วงคล้องที่ขั้วผล เพื่อรับน้ำหนักผลเมล่อนที่จะเพิ่มมากขึ้น
- หากปลูกนอกโรงเรือนแนะนำให้ห่อผลด้วยถุงกันแมลง เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืชมาเจาะทำลายผล
- การให้ปุ๋ยนั้นในช่วงการพัฒนาผลนั้น ให้เราใช้ปุ๋ย A,B ในอัตราส่วน 2.5 ซีซี / น้ำ 1 ลิตร และใช้ปุ๋ย K เสริมเพื่อให้ผลเมล่อนมีการสะสมแป้ง เพื่อพัฒนาให้เกิดความหวานมากขึ้น อัตราส่วนการใช้ K คือ 150 ถึง 200 มิลลิกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร (2 ซีซี / น้ำ 1 ลิตร) ฉีดพ่นทางใบ หรือเติมในระบบปลูกทุกๆ 5 - 7 วัน
6. การเก็บเกี่ยว
- การเก็บเกี่ยวเมล่อนส่วนใหญ่เราจะนับอายุของผลเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับชนิดและสายพันธุ์ของเมล่อนที่ปลูก โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 35 - 60 วัน หลังวันดอกบาน หรือวันที่ผสมเกสร
- เมล่อนบางชนิดจะมีลักษณะพิเศษเห็นชัดเจนเมื่อผลสุกพร้อมเก็บ คือ มีรอยแตกที่ขั้วผลประมาณ 40 - 50% บางชนิดจะมีกลิ่นหอมออกมาจากผล
- เมล่อนที่มีคุณภาพ จะต้องมีความหวานอย่างน้อย 14 องศาบริกซ์ขึ้นไป หรือไม่ควรต่ำกว่า 12 องศาบริกซ์ ก่อนการเก็บเกี่ยวเมล่อนประมาณ 1 สัปดาห์ ให้เราเริ่มลดปริมาณการให้น้ำต้นเมล่อนลง โดยสังเกตุที่ใบเมล่อนจะเริ่มเหี่ยวลงในช่วงกลางวัน การทำเช่นนี้เพื่อเร่งให้เมล่อนเร่งกระบวนการเปลี่ยนแป้งที่สะสมในผลให้เป็นน้ำตาล เพื่อเป็นการเพิ่มความหวานของผลให้มากขึ้น
โรคและแมลงศัตรูของเมล่อน
1. โรคเหี่ยวจากเชื้อรา (Fusarium Wilt) เป็นโรคที่เกิดกับพืชตระกูลแตงอย่างกว้างขวาง มีหลายเชื้อ
เชื้อสาเหตุ : Fusarium oxysporum f.sp. melonis : เป็นเชื้อสาเหตุ ของโรคเหี่ยวที่พบในเมล่อน ซึ่งจะมี 4 ชนิดเชื้อ (races) ลักษณะอาการ : เชื้อสาเหตุเข้าสู่ต้นพืชทางราก ในระยะต้นอ่อนใบเลี้ยงจะเหี่ยว เปลี่ยนเป็นสีเหลือง ร่วง พืชแสดงอาการเหี่ยวเฉาจากส่วนยอดลงมา ส่วนของเถาของต้นที่โตแล้วจะแสดงอาการใบล่างเหลืองโดยอาการเริ่มต้นแสดงหลายอย่างเช่น ต้นแตก เกิดอาการเน่าที่โคนและซอกใบ ถ้าเกิดอาการเน่า และพบเชื้อราสีขาวบริเวณรอยแตก หลังจากนั้นพืชจะแสดงอาการเหี่ยวและตาย การป้องกันกำจัด• ปรับสภาพความเป็นกรด – ด่าง ของดินปลูกให้เหมาะสมคืออยู่ที่ pH 6.5 • ใส่ปุ๋ยไนเตรท และไนโตรเจน จะสามารถลดความรุนแรงของโรค • ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน • ถอนต้นที่เป็นโรค(เผา)ทิ้ง และป้องกันโรคโดยการใช้สารจุลินทรีย์ เช่น ไตรโคเดอร์มา • ใช้ เบนเลทผสม แคปแทน หรือ เทอร์ลาคลอร์ ราดโคนก่อนปลูกและหลังปลูก 15 วัน |
2. โรคต้นแตกหรือยางไหล ( Gummy Stem Blight ) เชื้อสาเหตุ : Mycosphaerella melonis ( Didymella bryoniae ) เป็นโรคที่มีการระบาดอย่างกว้างขวางในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน เป็นโรคที่ติดสามารถติดมากับเมล็ดพันธุ์ โรคนี้จะเข้าทำลายพืชทางแผลที่ใบและลำต้น โรคต้นแตกยางไหลจะระบาดรุนแรงในสภาพแปลงปลูกที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูง หรือสภาพของแปลงที่มีอุณหภูมิกลางคืนต่ำ และมีความชื้นสูง ลักษณะอาการ : อาการที่แสดงในใบแก่ แผลจะมีลักษณะกลม สีน้ำตาลอมแดง หรือมีสีดำ ขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตร รอบแผลจะมีสีเหลือง หลังจากนั้นแผลจะฉีกขาดหรือร่วง อาการเริ่มแรกจะปรากฏที่ขอบใบและขยายเข้าไปที่ส่วนกลางของใบ การเข้าทำลายส่วนของลำต้น อาการที่ปรากฏคือ จะมีแผล เชื้อสาเหตุจะสร้างเมือกเหนียวสีน้ำตาล หรือน้ำตาลอมแดง การป้องกันกำจัด: การป้องกันและกำจัดสามารถทำได้ดังต่อไปนี้คือ • การปลูกพืชหมุนเวียน • ใช้พันธุ์ต้านทานโรค • ใช้สารเคมีฉีดพ่นเช่น อ็อกเทพ โนมิลดิว ไดแทน เอ็ม - 45, บราโว , เทอร์รานิล หรือ เอคโค |
3. โรคราแป้ง ( Powdery Mildew ) เชื้อสาเหตุ : Erysiphe cichoracearum De candolle Sphaerotheca fuliginea : เป็นเชื้อสาเหตุของราแป้งในเมล่อน การแพร่กระจาย : โดยทั่วไปจะมีการแพร่กระจายโดยลม จะระบาดอย่างกว้างขวางในสภาพที่มีอุณหภูมิสูง ความชื้นสัมพัทธ์ 50 – 90 % ความเข้มของแสงต่ำ มีน้ำค้างและมีการปลูกพืชในอัตราที่จำนวนต้นสูงจนเกินไป อย่างไรก็ตามโรคราแป้งสามารถที่จะระบาดได้ดีภายใต้สภาพการปลูกที่ไม่มีน้ำค้างได้เช่นเดียวกัน ลักษณะอาการ : เชื้อสาเหตุเข้าทำลายพืชตระกูลแตงทุกชนิด ลักษณะอาการขั้นต้น จะปรากฏเป็นจุดเหลืองอ่อนที่ ลำต้น ยอดอ่อน ทั้งด้านบนและด้านล่างของใบ เมื่อแผลมีการขยายใหญ่ขึ้น จะมี สปอร์ของเชื้อราสีขาวคล้ายแป้งปกคลุม หลังจากนั้นใบจะเปลี่ยน เป็นสีเหลืองอมน้ำตาลและแห้งกรอบ • การใช้สายพันธุ์ต้านทานโรค • บาวีซาน อัตรา 10 – 20 กรัม ต่อ น้ำ 20 ลิตรฉีดพ่น • ฉีดพ่นด้วย กำมะถัน ชนิดละลายน้ำอัตรา 30- 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดในสภาพอุณหภูมิต่ำ ในกรณีที่อุณหภูมิสูงจะมีผลให้ใบของเมล่อนใหม้ • ใช้ ทอปซิน, เบเลตันฉีดพ่นตามอัตราที่กำหนด |
4. โรคราน้ำค้าง ( Downy Mildew) เชื้อสาเหตุ : Pseudoperonospora cubensis ( Berkeley & Curtis ) Roslowzew เป็นโรคที่ สำคัญของพืชตระกูลแตงในเขตร้อนและกึ่งร้อน แพร่กระจายโดยลม ฝน และเครื่องมือการเกษตร ลักษณะอาการ : อาการเริ่มแรกจะพบที่ใบล่าง โดยเกิดเป็นจุดสีเหลืองหรือสีน้ำตาลขนาดเล็ก แล้วขยายขนาดใหญ่ขึ้นเป็นรูปเหลี่ยมอยู่ระหว่างเส้นใบ นอกจากนี้สามารถตรวจสอบบริเวณใต้ใบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเช้ามืด จะปรากฏเส้นใยเชื้อราสีขาว หรือสีเทา ใบพืชจะแห้งตายแต่ก้านใบจะชูขึ้น ขอบใบม้วน ใบจะร่วง
การป้องกันกำจัด :
• ใช้สารเคมีฉีดพ่น โดยใช้ แทนเอ็ม 15 กรัม + โนมิลดิว 25 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นใต้ใบทุกๆ 7 วัน หากมีการระบาดรุนแรง ใช้ ลอนมิเนต 1- 2 ช้อนชาผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น ให้ทั่วทุก 7 วัน ประมาณ 2- 3 ครั้ง • ฉีดพ่นด้วย ริดโดมิล โกล เอ็ม แซด , บราโว 82 W, เทอรานิล หรือ เอคโค เมื่อโรคเข้าทำลาย 3- 7 วัน • ใช้พันธุ์ต้านทาน |
แมลงศัตรูที่สำคัญ
1. เพลี้ยไฟ (Thrips)
เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมากเท่าปลายเข็ม ตัวอ่อนมีสีแดง ตัวแก่เป็นสีดำ ดูดน้ำเลี้ยงที่ปลายยอดอ่อนของต้น ทำให้ยอดชะงักการเจริญเติบโต หดสั้น บิดเบี้ยว ระบาดมาในสภาพอากาศร้อนและแห้งของฤดูร้อน โดยมีลมเป็นพาหนะพาเพลี้ยไฟเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น ป้องกันกำจัดได้ด้วยการปลูกพืชที่กันชนที่ต้านทานเพลี้ยไฟ เช่น มะระ ล้อมรอบแปลง และ ฉีดพ่นป้องกันกำจัดแมลงโดยใช้ ยาเส้น 1 ขีด ต่อน้ำ 5 ลิตร แช่ 1 คืน ฉีดพ่นทุกๆ 3 - 7 วัน
2. ด้วงเต่าแตง (Leaf beatle)
เป็นแมลงปีกแข้ง ลำตัวยาวประมาณ 1 ซม. ปีกมีสีเหลืองปนส้ม กัดกินใบแตงให้แหว่งเป็นวงๆ ถ้าระบาดและทำความเสียหายให้กับใบจำนวนมาก ให้ฉีดพ่นด้วยเชื้อราบิวเวอร์เรีย
3. หนอนชอนใบ (Leaf minor)
เป็นแมลงตัวเล็กที่ชอนไชอยู่ใต้ผิวใบ กัดกินเนื้อใบเป็นทางยาวคดเคี้ยวไปทั่วทั้งผืนใบ โดยทั่วไปไม่พบว่ามีการระบาดมากในพืชตระกูลแตงเท่าใดนัก แต่ในกรณีที่มีการระบาดมาก และเกิดขึ้นในระยะแรกของการเจริญเติบโตจะทำให้พื้นที่ใบเสียหายส่งผลให้กระทบกระเทือนต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตต่อไปของต้นแตงเทศ วิธีการกำจัดต้องใช้สารสกัดจากสะเดา, ยาเส้น หรือบิวเวอร์เรีย
4. แมลงวันผลไม้ (Melon fruit fly)
เป็นแมลงที่ทำความเสียหายแก่ผลไม้มากที่สุดชนิดหนึ่ง ตัวเมียจะวางไข่ในผลไม้ใกล้สุก ทำให้เกิดตัวหนอนชอนไชอยู่ในผล ทำให้เกิดแผล เน่าเสียราคา วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันคือการห่อผลก่อนที่ผลไม้จะสุกแก่
ตัวอย่างการปลูกเมล่อนด้วยวิธีต่างๆ
http://www.youtube.com/watch?v=exmNdxzViEw การปลูกเมล่อนโดยไม่ใช้ดินhttp://www.youtube.com/watch?v=g-i1rT2YTIY การปลูกเมล่อนโดยไม่ใช้ดิน
ไม่มีความคิดเห็น:
ไม่อนุญาตให้มีความคิดเห็นใหม่