แมลงศัตรูพืช จะแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มใหญ่ๆ ตามลักษณะการเข้าทำลายพืช คือ
1. แมลงจำพวกปากกัดกินใบ ได้แก่ หนอนผีเสื้อ, ตั๊กแตน, ด้วงปีกแข็ง แมลงจำพวกนี้จะกัดกินใบพืช ทำให้พืชขาดส่วนที่จะใช้ในการสังเคราะห์แสง หรือขาดส่วนที่สะสมอาหารเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ทำให้พืชหยุดการเจริญเติบโต
2. แมลงจำพวกดูดกินน้ำเลี้ยง ได้แก่ เพลี้ยชนิดต่างๆ โดยแมลงเหล่านี้จะใช้ปากแทงเข้าไปในท่อลำเลี้ยงน้ำและอาหารของพืช เพื่อดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ, ยอดอ่อน, ดอก, ผล หรือส่วนต่างๆ ของพืช ทำให้พืชที่ถูกดูดน้ำเลี้ยงจะมีรอยไหม้ ใบมีลักษณะม้วนงอ พืชไม่เจริญเติบโต มีขนาดแคระแกรน นอกจากนี้แมลงจำพวกนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญต่อการแพร่กระจายของโรคเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ ทำให้พืชอ่อนแอและตายได้
3. แมลงจำพวกหนอนชอนใบ ได้แก่ หนอนผีเสื้อกลางคืน, หนองแมลงวันบางชนิด ตัวอ่อนของแมลงจำพวกนี้จะเป็นหนอนที่มีขนาดเล็ก กัดกินเนื้อเยื่อระหว่างผิวใบพืช ทำให้พืชขาดส่วนที่จะใช้สังเคราะห์แสง หรือขาดส่วนที่สะสมอาหารเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ทำให้พืชหยุดการเจริญเติบโต
4. แมลงจำพวกหนอนเจาะลำต้น ได้แก่ หนอนด้วง, หนอนผีเสื้อ และปลวก แมลงจำพวกนี้มักจะไข่ไว้ตามใบหรือเปลือกไม้ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอน ก็จะชอนไชเข้าไปอยู่ในกิ่ง, ลำต้น หรือผล ของพืชทำให้พืชขาดน้ำและอาหารแล้วแห้งตาย หรือทำให้ผลเน่า หล่นเสียหายได้
5. แมลงจำพวกกัดกินราก ได้แก่ ด้วงดีด, จิ้งหรีด, แมลงกระชอน, ด้วงดิน, ด้วงงวง ฯลฯ แมลงจำพวกนี้จะอาศัยและวางไข่ลงบนพื้นดิน ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของแมลงจำพวกนี้จะเข้าทำลายรากพืช ทำให้พืชยืนต้นแห้งตายเนื่องจากขาดน้ำและอาหาร
6. แมลงจำพวกที่ทำให้เกิดปุ่มปม ได้แก่ ต่อ แตนบางชนิด แมลงจำพวกนี้จะดูดน้ำเลี้ยงและปล่อยสารเคมีบางชนิดที่ทำให้ผิวของพืชมีลักษณะผิดปกติไป เช่นมีลักษณะเป็นปุ่มปม ตามผิวของผลไม้
วิธีป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชแบ่งออกได้ 5 วิธีคือ
1. วิธีทางเขตกรรม เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน, การทำความสะอาดแปลงปลูก, กำหนดระยะเวลาการเพาะปลูก, การตัดแต่งต้นพืช
2. วิธีทางกายภาพ เช่น การใช้มุ้งป้องกัน, การใช้กาวดักแมลง, การทำลายแหล่งอาศัยของแมลง, การใช้ไฟล่อและทำลาย
3. วิธีทางชีวภาพ เช่นการใช้ตัวห้ำ ตัวเบียน, การใช้เชื้อรา, การใช้เชื้อแบคทีเรีย, การใช้เชื้อไวรัส
4. วิธีทางพันธุกรรม โดยการนำแมลงศัตรูพืชมาผ่านการฉายรังสีเพื่อให้เป็นหมันแล้วปล่อยไปในธรรมชาติทำให้แมลงนั้นไม่สามารถขยายพันธุ์ได้
5. วิธีทางเคมี โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มเคมีที่ได้มาจากการสกัดจากธรรมชาติ เช่น ยาเส้น, สะเดา, สาบเสือ, ตะไคร้หอม ฯลฯ และกลุ่มเคมีที่สังเคราะห์ขึ้น เช่น กลุ่มออร์กาโนคลอไรน์, กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต, กลุ่มคาร์บาเมต, กลุ่มสารสังเคราะห์ไพรีทอย
* สำหรับการควบคุมและกำจัดแมลงศัตรูพืชให้ได้ผลดีนั้น ควรใช้วิธีแบบผสมผสานกันทั้ง 5 วิธีที่กล่าวมาข้างต้น
ตัวอย่างแมลงศัตรูพืชที่พบมาก
1. ด้วงหมัดผัก (Flea Beetle)
ด้วงหมัดผักเป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก มีวงจรชีวิตจะเริ่มจากตัวเมียวางไข่ในดิน ตัวอ่อนจะอาศัยอยู่ใต้ดินกัดกินรากพืช และส่วนของลำต้น เมื่อโตเต็มวัยจะขึ้นจากดินไปกัดกินใบและยอดอ่อนของผักทำให้ใบพืชเป็นรูพรุน รวมวงจรชีวิตประมาณ 3 - 4 สัปดาห์ พืชที่ด้วงหมัดผักเข้าทำลายมากที่สุดคือพืชในกลุ่ม คะน้า, กวางตุ้ง, กะหล่ำ ฯลฯ
2. เพลี้ยอ่อน (Aphids)
เพลี้ยอ่อน เป็นแมลงปากดูดที่มีขนาดเล็ก ผนังลำตัวอ่อนนุ่ม ขยายพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ มีทั้งชนิดที่มีปีกและไม่มีปีก เจริญเติบโตโดยการลอกคราบประมาณ 4 - 5 ครั้ง ขนาดตัวโตเต็มวัยประมาณ 1 มิลลิเมตร สีลำตัวสีเขียวอ่อนไปจนถึงสีดำเข้ม ที่ปลายทางจะมีท่อเล็กๆ ยื่นออกมา 2 ท่อ เพลี้ยอ่อน 1 ตัวสามารถออกลูกได้ประมาณ 20 - 30 ตัว มีระยะตัวอ่อนประมาณ 5 - 6 วัน และมีอายุเฉลี่ยประมาณ 15 วัน เพลี้ยอ่อนสามารถเข้าทำลายพืชได้เกือบทุกชนิดโดยส่วนมากจะอาศัยอยู่ด้านใต้ใบพืช หรือส่วนยอดอ่อน เพลี้ยอ่อนจะมีศัตรูตามธรรมดชาติคือ แมลงช้างปีกใส, ด้วงเต่าทอง สำหรับฤดูที่พบการระบาดมากที่สุดคือในช่วงฤดูแล้ง ให้ใช้สารสกัดจากสะเดา หรือยาสูบฉีดพ่น สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง
3. เพลี้ยแป้ง (Mealy Bug)
เพลี้ยแป้ง เป็นแมลงจำพวกปากดูด ที่มีลำตัวเป็นข้อปล้อง รูปร่างกลมรี มี 6 ขา ไม่มีปีก ลำตัวมีผงแป้งปกคลุม ขยายพันธุ์ได้ 2 แบบคือ แบบอาศัยเพสและไม่อาศัยเพศ ตัวเมีย 1 ตัวสามารถวางไข่ได้ประมาณ 600 - 800 ฟอง และจะฟักออกมาเป็นตัวประมาณ 10 วัน เพลี้ยแป้งจะดูดน้ำเลี้ยงจากพืชทำให้พืชหยุดชะงักการเจริญเติบโตและเป็นสาเหตุให้เกิดโรคราดำในพืชอีกด้วย ส่วนมากบริเวณที่มีเพลี้ยแป้งระบาดมากมักจะมีมดอาศัยอยู่เนื่องจากมดจะคาบเพลี้ยแป้งไปปล่อยบนต้นพืชเพื่อให้เพลี้ยแป้งดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชแล้วถ่ายมูลเป็นน้ำหวานออกมาเพื่อมดจะได้กินน้ำหวานนั้น ดังนั้นควรกำจัดมดในบริเวณนั้นก่อน แล้วจึงกำจัดเพลี้ยแป้ง วิธีกำจัดทำโดยใช้น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำเปล่า 2 - 3 ลิตรแล้วเติมน้ำยาล้างจานเล็กน้อยฉีดพ่นไปที่เพลี้ยแป้ง
4. เพลี้ยไฟ (Thrips)
เพลี้ยไฟ เป็นแมลงปากดูด มีปีกขนาดเล็ก ตัวเต็มวัยจะมีสีน้ำตาล ลำตัวคาดขวางด้วยลายสีดำ มีขนาดประมาณ 1 x 3 มิลิเมตร วางไข่ครั้งละ 30 - 50 ฟอง ไข่จะมีสีขาวปนเหลือง ฟักเป็นตัวอ่อนภายใน 5 - 9 วัน ตัวอ่อนจะมีสีน้ำตาลปนเหลือง เมื่อเข้าดักแด้จะทิ้งตัวลงสู่พื้นและฟักเป็นตัวเต็มวัยภายใน 5 - 7 วัน สำหรับฤดูที่พบการระบาดมากที่สุดคือในช่วงฤดูแล้ง ให้ฉีดพ่นสารสกัดจากสะเดา, ยาสูบ หรือสารชีวภัณฑ์ต่างๆ เช่น เชื้อราบิวเวอร์เรีย, เชื้อแบคทีเรีย บี.ที. ฉีดพ่น สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง
5. หนอนชอนใบ (Leaf Miner)
หนอนชอนใบเป็นตัวอ่อนของแมลงวันขนาดเล็กชนิดหนึ่ง โดยตัวเมียจะวางไข่ลงบนเนื้อเยื่อบางๆ ของใบพืช ต่อมาเมื่อไข่ฟักตัวประมาณ 2 - 4 วัน จะเป็นหนอนขนาดเล็ก ลักษณะหัวแหลมท้ายป้าน มองเห็นปล้องลำตัวไม่ชัดเจน ไม่มีขา เคลื่อนไหวโดยการดีดตัว และชอนไชกินเนื้อเยื้อภายในผิวใบ ระยะหนอนจะใช้เวลาประมาณ 7 - 10 วันจึงเข้าดักแด้ และใช้เวลาประมาณ 5 - 7 วัน จึงออกมาเป็นตัวเต็มวัย เป็นแมลงวันสีดำหรือมีสีเหลืองอ่อน ตลอดวงจรชีวิตมีอายุเฉลี่ย 3 - 4 สัปดาห์
หนอนชอนใบเป็นศัตรูพืชที่สามารถเข้าทำลายพืชได้เกือบทุกชนิด แต่พืชที่พบการระบาดมากสุดคือพืชในกลุ่มกะหล่ำ, มะเขือเทศ, พริก, พืชตระกูลถั่ว, ดอกดาวเรือง ฯลฯ วิธีกำจัดและลดการระบาดของหนอนชอนใบควรใช้วิธีผสมผสานคือ ทำลายเศษใบไม้ที่ล่วงหล่นจากการทำลายของหนอนเนื่องจากมักพบดักแด้ของหนอนติดอยู่ด้วย รวมถึงการฉีดพ่นสารสกัดจากสะเดา, ยาสูบ หรือสารชีวภัณฑ์ต่างๆ เช่น เชื้อราบิวเวอร์เรีย, เชื้อแบคทีเรีย บี.ที. ฉีดพ่น สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง
6. แมลงหวี่ขาว (White Fly)
แมลงหวี่ขาว เป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใต้ใบ ระบาดมากในเขตภาคเหนือและภาคกลาง โดยเฉพาะพืชที่ที่มีการปลูกถั่วเหลือง ตัวเต็มวัยจะเข้าดูดน้ำเลี้ยงจากพืชบริเวณใต้ใบ ทำให้พืชมีใบหงิกงอ ทำให้ต้นพืชแคระแกรน และยังถ่ายของเหลวออกมาซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคราดำในพืช เช่นเดียวกับเพลี้ยอ่อน
ลักษณะของตัวโตเต็มวัยจะมีขนาดยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีปีก 2 คู่เคลือบด้วยผงแป้งสีขาว ตัวเมียสามารถวางไข่ได้ประมาณ 50 - 150 ฟอง ระยะไข่ฟักเป็นตัวอ่อน 4 - 8 วัน โดยตัวอ่อนจะมีลักษณะรูปร่างคล้ายไข่ แบน ขอบด้านข้างลาดลง สีเขียวอ่อน ตัวอ่อนจะลอกคราบประมาณ 3 ครั้ง ระยะตัวอ่อนนี้จะใช้เวลาประมาณ 10 วัน จึงเริ่มเข้าดักแด้ มีขนาดประมาณ 0.7 มิลลิเมตร มีสีเหลือง ประมาณ 1 - 2 วันจึงออกจากดักแด้เป็นตัวเต็มวัย ศัตรูตามธรรมชาติคือแตนเบียนจะเข้าทำลายแมลงหวี่ขาวในระยะตัวอ่อนถึงดักแด้ วงจรชีวิตของแมลงหวี่ขาวจากไข่ถึงตัวเต็มวัยจะใช้เวลาประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ในช่วงอากาศอบอุ่น ถ้าเป็นฤดูหนาวอาจนานประมาณ 2 เดือน
แมลงหวี่ขาวสามารถเข้าทำลายพืชได้ทั่วไปเช่น มะเขือเทศ, ฝ้าย, ถั่วเหลือง, ถั่วเขียว, ถั่วลิสง และวัชพืช ระบาดมากในช่วงฤดูร้อน
ขอบคุณมากครับ
ตอบลบขอบคุณวิธีกำจัดแมลงหวี่ขาวมากๆ ค่ะ
ตอบลบวิธีกำจัดศัตรูพืชโดยใช้กากน้ำตาล ไปเจอข้อมูลในเนต มาลองทำดูได้ผลครับมาแบ่งปัน
ตอบลบhttps://www.youtube.com/watch?v=eoFPKALY4AM