วันอังคารที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2561

เอนไดว์ ไฟร์ซี (Endive Frisee)



ทางเซนฯ ได้ทดลองปลูกผัก เอนไดว์ ฟิเซ่  ในกระปุกพลาสติก แบบไม่เติมอากาศ ปรากฎว่าสามารถเจริญเติบโตได้ดี แสดงถึงความแข็งแรงของระบบราก และปริมาณความต้องการอ๊อกซิเจนที่รากในระดับต่ำได้ดี ถ้าหากปลูกในระบบเติมอากาศ หรือปลูกใน วัสดุปลูกและดินทั่วไปต้นจะสมบูรณ์กว่านี้มาก

หลังจากที่ปลูกมาได้ประมาณ 45 วัน ต้นก็พร้อมที่จะทำการห่อใบ โดยที่เราจะรวบใบด้านนอกห่อใบด้านในไว้เพื่อไม่ให้ใบด้านในได้รับการสังเคราะห์แสง สาเหตุที่ต้องทำเช่นนี้เพื่อให้สีของใบอ่อนด้านในมีสีเหลืองนวลสวยงามและรสชาดของสลัดอร่อยขึ้นใบจะไม่หยาบ  หลังจากห่อใบได้ประมาณ 5 - 7 วันก็สามารถตัดไปรับประทานได้ โดยตัดยอดที่เป็นสีเหลืองไปแช่ในน้ำเย็นก่อนประมาณ 15 - 30 นาทีเพื่อให้ใบกรอบและอร่อยยิ่งขึ้น แนะนำให้ทานสดแบบสลัดจะอร่อยมากหรือจะลวกทานแบบชาบูก็อร่อยดี รสชาดของเอนไดว์ จะคล้ายๆ กับกะหล่ำปลีหั่นฝอย









สลัด เบบี้เรดคอส (Baby Red Cos)


สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
ผักกาดหวาน หรือ คอส เป็นพืชที่ต้องการสภาพอากาศเย็น อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ ระหว่าง 10 - 24′C ในสภาพอุณหภูมิสูง การเจริญเติบโต ทางใบจะลดลง และพืชสร้างสารคล้ายน้ำนม หรือยางมาก เส้นใยสูง เหนียว และมีรสขม

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร
ผักสลัดเบบี้เรดคอส  เป็นพืชที่นิยมบริโภคสด โดยเฉพาะในสลัด หรือกินกับยำ นำมาตกแต่ง ในจานอาหาร แต่สามารถประกอบอาหารได้ ในบางชนิด เช่น นำไปผัดกับน้ำมัน โดยใช้ไฟแรงอย่างรวดเร็ว ผักกาดหวาน มีน้ำเป็นองค์ประกอบ และมีวิตามินซีสูง นอกจากนี้ ยังให้ฮีโมโกลบิน (hemoglobin) สูงกว่าผักสลัดใบเขียว ซึ่งช่วยป้องกันโรค โลหิตจาง บรรเทาอาการท้องผูก เหมาะสำหรับ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน





ตัวอย่างการกำหนดค่า EC สำหรับผักสลัด เบบี้เรดคอส-แพนดิโร่  (ในพื้นที่อากาศร้อน)

1. หลังเพาะเมล็ดได้ประมาณ 7 วัน เริ่มให้ปุ๋ยอ่อนๆ โดยให้ค่า EC ประมาณ 1.0 - 1.2 ms/cm


2. เมื่อครบกำหนด 10 - 14 วัน หรือต้นเกล้าเริ่มมีใบจริงประมาณ 2 - 3 ใบ ก็สามารถย้ายลงแปลงปลูกได้เลย โดยกำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.2 - 1.3 ms/cm


3. ช่วงผักมีอายุได้ประมาณ 15 - 25 วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.3 - 1.4 ms/cm 

และควรฉีดพ่น แคลเซียม และโบรอน สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง เพื่อป้องกันอาการปลายใบไหม้ (Tip burn)


4. ช่วงผักมีอายุได้ประมาณ 26 - 30  วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.2 - 1.3 ms/cm 

และควรฉีดพ่น แคลเซียม และโบรอน สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง เพื่อป้องกันอาการปลายใบไหม้ (Tip burn)


6. เมื่อผักมีอายุได้ประมาณ 31 - 35  วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.0 - 1.2 ms/cm 

และควรฉีดพ่น แคลเซียม และโบรอน สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง


7.เมื่อผักมีอายุได้ประมาณ 36 - 40  วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 0.8 - 1.0 ms/cm 

และควรฉีดพ่น แคลเซียม และโบรอน สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง


8.เมื่อผักมีอายุได้ประมาณ 41 - 50  วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ต่ำกว่า 0.5 ms/cm 
หรือจะใช้น้ำเปล่าเลี้ยงประมาณ 3 วัน ก่อนเก็บเกี่ยวก็ได้ครับ

ข้อแนะนำในการปลูก

1. หลังเพาะเมล็ดได้ประมาณ 2 - 3 วัน แนะนำให้นำต้นเกล้าได้รับแสงแดดตอนเช้าหรือเย็นประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง/วัน เพื่อให้ต้นเกล้าไม่ยืดและแข็งแรงมากขึ้น

2. ในพื้นที่อากาศร้อนเมื่อผักสลัดมีอายุปลูกได้ประมาณ 20 วัน มักมีอาการขอบใบไหม้ แนะนำให้ปรับค่า EC ให้ต่ำและให้ลดการคายน้ำทางใบของพืชลง ด้วยการพลางแสง หรือเสปรย์น้ำเพื่อลดอุณหภูมิและเพิ่มความชื้นในอากาศ และควรมีการฉีดพ่น ธาตุแคลเซียม-โบรอน เสริมทางใบเพื่อป้องกันอาการขอบใบไหม้

3. ศัตรูพืชที่สำคัญของ ผักสลัด คือ เพลี้ยไฟ และหนอนใยผัก แนะนำให้ฉีดพ่นสารสกัดจากธรรมชาติเพื่อป้องกัน และกำจัด ควรหลีกเลี่ยงสารเคมีจำกัดศัตรูพืช เนื่องจากสลัดเป็นพืชอายุสั้นและต้องบริโภคส่วนที่เป็นใบจึงอาจเป็นอัตรายต่อผู้บริโภคได้

4. การปลูกสลัดแนะนำให้เปลี่ยนน้ำผสมธาตุอาหารใหม่ในช่วงที่ผัก อายุได้ 28 วัน (หรืออายุผัก 4 สัปดาห์) โดยลดปริมาณการใช้ปุ๋ย A,B ลงทุกๆ ช่วงอายุปลูก ข้อดีของการลดการปลูกสลัดโดยใช้ EC สูง ไปหาต่ำมีข้อดีคือ
4.1 ประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้ธาตุอาหาร
4.2 เพื่อป้องกันการเกิด Tip burn โดยเฉพาะผักที่เกิดอาการดังกล่าวได้ง่ายเช่น ผักในกลุ่มคอส, บัตเตอร์เฮด และผักกาดแก้ว
4.3 ช่วยให้ผักเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
4.4 ทำให้ผักสลัดที่ปลูกไม่มีรสขม หรือมีความขมลดลงในช่วงฤดูร้อน 

5.แนะนำให้เปลี่ยนน้ำผสมปุ๋ยใหม่เมื่อผักมีอายุได้ประมาณ 25 วัน

หมายเหตุ  ผักสลัดเป็นพืชทานใบที่มีอายุปลูกสั้น การใช้ปุ๋ยในระดับสูงเกิน 1.5 ms/cm หลังจากผักอายุได้ 30 วันไม่ได้เกิดประโยชน์ใดกับผักสลัดเลย กลับทำให้ผักมีอาการขาดธาตุแคลเซียม (Tipburn) มากขึ้นเพราะเพื่อความเข้มข้นของธาตุอาหารในระบบมีสูงเกินไป  ช่วงเวลาที่ผักสลัดสะสมอาหารมากที่สุดคือช่วงที่ผักมีอายุได้ประมาณ 10 - 30 วันแรก ซึ่งหลังอายุ 30 วันไปแล้วผักสลัดจะใช้ปุ๋ยน้อยลง ส่วนที่ผักสลัดต้องการมากที่สุดคือ น้ำ