วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สลัด กรีนคอสเปอร์โต (Green Cos Puerto)


ทางเซนฯ ทดลองปลูกกรีนคอสเปอร์โต ในแปลง DRFT ขนาด 45 ช่องปลูก คอสเปอร์โต้ มีความต้านทานต่อสภาพอากาศร้อนได้ดีมาก รวมถึงไม่ปรากฎอาการขอบใบไหม้ในสลัดให้เห็นในคอสชนิดนี้เลย














ตัวอย่างการกำหนดค่า EC สำหรับผักสลัด เปอร์โต (ในพื้นที่อากาศร้อน)

1. หลังเพาะเมล็ดได้ประมาณ 7 วัน เริ่มให้ปุ๋ยอ่อนๆ โดยให้ค่า EC ประมาณ 1.0 - 1.2 ms/cm

2. เมื่อครบกำหนด 10 - 14 วัน หรือต้นเกล้าเริ่มมีใบจริงประมาณ 2 - 3 ใบ ก็สามารถย้ายลงแปลงปลูกได้เลย โดยกำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.4 - 1.6 ms/cm

3. ช่วงผักมีอายุได้ประมาณ 15 - 20 วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.4 - 1.5 ms/cm และควรฉีดพ่น แคลเซียม และโบรอน สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง เพื่อป้องกันอาการปลายใบไหม้ (Tip burn)

4. ช่วงผักมีอายุได้ประมาณ 21 - 25 วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.3 - 1.4 ms/cm และควรฉีดพ่น แคลเซียม และโบรอน สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง เพื่อป้องกันอาการปลายใบไหม้ (Tip burn)

5. ช่วงผักมีอายุได้ประมาณ 30 - 35  วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.2 - 1.3 ms/cm และควรฉีดพ่น แคลเซียม และโบรอน สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง เพื่อป้องกันอาการปลายใบไหม้ (Tip burn)

6. เมื่อผักมีอายุได้ประมาณ 40 - 50  วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.0 - 1.2 ms/cm และควรฉีดพ่น แคลเซียม และโบรอน สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง เพื่อป้องกันอาการปลายใบไหม้ (Tip burn) ก่อนเก็บเกี่ยว ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ ให้ต่ำกว่า 1.0 หรือจะใช้น้ำเปล่าเลี้ยงประมาณ 2 - 3 วันก่อนเก็บเกี่ยวก็ได้ครับ


ข้อแนะนำในการปลูก

1. หลังเพาะเมล็ดได้ประมาณ 2 - 3 วัน แนะนำให้นำต้นเกล้าได้รับแสงแดดตอนเช้าหรือเย็นประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง/วัน เพื่อให้ต้นเกล้าไม่ยืดและแข็งแรงมากขึ้น


2. ในพื้นที่อากาศร้อนเมื่อผักสลัดมีอายุปลูกได้ประมาณ 20 วัน มักมีอาการขอบใบไหม้ แนะนำให้ปรับค่า EC ให้ต่ำและให้ลดการคายน้ำทางใบของพืชลง ด้วยการพลางแสง หรือเสปรย์น้ำเพื่อลดอุณหภูมิและเพิ่มความชื้นในอากาศ และควรมีการฉีดพ่น ธาตุแคลเซียม-โบรอน เสริมทางใบเพื่อป้องกันอาการขอบใบไหม้

3. ศัตรูพืชที่สำคัญของ ผักสลัด คือ เพลี้ยไฟ และหนอนใยผัก แนะนำให้ฉีดพ่นสารสกัดจากธรรมชาติเพื่อป้องกัน และกำจัด ควรหลีกเลี่ยงสารเคมีจำกัดศัตรูพืช เนื่องจากสลัดเป็นพืชอายุสั้นและต้องบริโภคส่วนที่เป็นใบจึงอาจเป็นอัตรายต่อผู้บริโภคได้

4. การปลูกสลัดแนะนำให้เปลี่ยนน้ำผสมธาตุอาหารใหม่ในช่วงที่ผัก อายุได้ 28 วัน, 35 วัน โดยลดปริมาณการใช้ปุ๋ย A,B ลงทุกๆ ช่วงอายุปลูก ข้อดีของการลดการปลูกสลัดโดยใช้ EC สูง ไปหาต่ำมีข้อดีคือ
4.1 ประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้ธาตุอาหาร
4.2 เพื่อป้องกันการเกิด Tip burn โดยเฉพาะผักที่เกิดอาการดังกล่าวได้ง่ายเช่น ผักในกลุ่มคอส, บัตเตอร์เฮด และผักกาดแก้ว
4.3 ช่วยให้ผักเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
4.4 ทำให้ผักสลัดที่ปลูกไม่มีรสขม หรือมีความขมลดลงในช่วงฤดูร้อน

หมายเหตุ  ผักสลัดเป็นพืชทานใบที่มีอายุปลูกสั้น การใช้ปุ๋ยในระดับสูงเกิน 1.5 ms/cm หลังจากผักอายุได้ 30 วันไม่ได้เกิดประโยชน์ใดกับผักสลัดเลย กลับทำให้ผักมีอาการขาดธาตุแคลเซียม (Tipburn) มากขึ้นเพราะเพื่อความเข้มข้นของธาตุอาหารในระบบมีสูงเกินไป  ช่วงเวลาที่ผักสลัดสะสมอาหารมากที่สุดคือช่วงที่ผักมีอายุได้ประมาณ 15 - 30 วันแรก ซึ่งหลังอายุ 30 วันไปแล้วผักสลัดจะใช้ปุ๋ยน้อยลง ส่วนที่ผักสลัดต้องการมากที่สุดคือ น้ำ

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

มะเขือเทศเนื้อ โรม่า (Tomato Roma NS501 F1)



ทางเซนฯ ได้ทำการทดลองปลูก มะเขือเทศเนื้อ โรม่า NS501 ในระบบรางปลูก DRFT ในสภาพแวดล้อมนอกโรงเรือน ปรากฎว่ามะเขือเทศดังกล่าวสามารถทนต่อโรคและแมลงได้ดีมาก และช่วงที่ปลูกเป็นช่วงฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิค่อนข้างสูง แต่มะเขือเทศเนื้อ โรม่า ยังคงออกดอกและติดผลจำนวนมาก  มะเขือเทศสายพันธุ์นี้ทางเซนฯ จึงแนะนำให้สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกมะเขือเทศเนื้อนอกโรงเรือนได้ลองดู









วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

มะเขือเทศหวาน โทเมโทเบอรี่ (Tomatoberry F1)



ทางเซนฯ ทำการทดลองปลูกมะเขือเทศหวาน (รูปหัวใจ) Tomatoberry ในระบบ DRFT แบบหมุนเวียนสารละลายกลับมาใช้ใหม่ ต้นโทมาโทเบอรี่เจริญเติบโตได้ดี แต่ยังคงต้องอาศัยอากาศที่ค่อนข้างเย็นในการติดผลที่สมบูรณ์ ลักษณะของผลรูปทรงกรวย แบบผลสตรอเบอรี่  สีแดงสด เนื้อกรอบ รสหวาน อร่อยมาก


























วิธีการเพาะเมล็ด
1. การเพาะเมล็ดมะเขือเทศ
         นำเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศแช่ในน้ำสะอาดประมาณ ประมาณ ไม่เกิน 1 สัปดาห์ จะสังเกตุเห็นรากสีขาวโผล่ออกจากเมล็ดให้รีบย้ายปลูกได้เลยครับ


2. การเพาะกล้า
 บรรจุวัสดุเพาะกล้า (พีทมอส, เพอร์ไลท์, ฟองน้ำ ฯลฯ) 

 นำเมล็ดทีบ่มการงอกมาหยอดลงในถาดเพาะโดยวางให้เมล็ดอยู่ในแนวนอนทำมุมประมาณ 45 องศา และปลายรากแทงลงวัสดุเพาะ ระวังอย่าให้รากอ่อนของเมล็ดหักหรือแห้ง กลบด้วยวัสดุเพาะกล้า แล้วกดทับเบาๆ

 รดน้ำให้ชุ่ม นำไปเก็บในโรงเรือนเพาะกล้า หรือบริเวณที่มีแสงแดดรำไร

 รดน้ำทุกวัน เพื่อให้วัสดุเพาะกล้าชุ่มอยู่เสมอ จนอายุกล้าได้ 20-30 วัน ก็สามารถย้ายปลูกได้เลยครับ


3. การย้ายกล้า
ควรย้ายกล้าเมื่อมีใบแท้ 4-5 ใบ หรืออายุไม่เกิน 20-30 วัน ข้อควรระวังในการย้ายกล้าลงปลูกในแปลง ควรปฏิบัติดังนี้
1. หากมีการเคลื่อนย้ายต้นกล้าจากโรงเรือนไปแปลงเพาะปลูกที่มีระยะห่างกันมาก ควรพักต้นกล้าก่อน  ปลูกอย่างน้อย 1 วัน

2. ก่อนปลูก 2 วัน ควรรดน้ำแปลงให้ชุ่ม และพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงและโรคพืช

3.  ควรย้ายกล้าในช่วงเย็น อากาศไม่ร้อนแดดไม่จัด

4.  หลุมปลูกควรมีความลึกและกว้าง เท่ากับขนาดหลุมของถาดเพาะกล้า

5. ควรระวังอย่าให้วัสดุเพาะแตกหรือรากขาด เพราะจะทำให้ต้นกล้าชะงักการเจริญเติบโต (ควรฉีดยาป้องกันเชื้อราร่วมด้วย)

6.  เวลาย้ายต้นกล้าจากถาดเพาะลงแปลง ให้จับบริเวณปลายยอดไม่ควรดึงหรือบีบบริเวณโคนต้นกลบดินครอบคลุมโดนต้นกล้า


การตัดแต่งมะเขือเทศ
สำหรับมะเขือเทศ โทเมโทเบอรี่ จะมีจำนวนผลต่อกิ่งประมาณ 15 - 18 ลูก แต่เพื่อความสมบูรณ์ของผลเราจึง ควรมีการจำกัดจำนวนผลใน 1 ช่อ โดยการตัดผลส่วนปลายออกบางส่วน    คงเหลือไว้ 10 -15 ผลต่อช่อ เพื่อให้ผลมีขนาดใหญ่ มีสม่ำเสมอ และได้ความหวานสูงสุด



ขั้นตอนการตัดแต่งแขนง
มะเขือเทศควรมีการตัดแต่งและเด็ดแขนงด้านข้าง และใบแก่ด้านล่างที่ต่ำกว่าช่อดอกออก (ตามภาพด้านล่าง) เพื่อทำให้ต้นพืชมีการระบายอากาศได้ดี ซึ่งช่วยลดการเข้าทำลายของโรค  และควรเด็ดแขนงด้านข้างก่อนยาวมากกว่า 5 ซม. ควรตัดแต่งในช่วงตอนเช้า เพื่อให้แสงแดดช่วยในการปิดบาดแผล และต้นพืชสามารถรักษาแผลได้เร็ว ป้องกันการเข้าทำลายของโรคผ่านทางบาดแผล  หลังจากต้นมะเขือสูงได้ประมาณ 1.8 ม. ให้ตัดยอดต้นมะเขือออกด้วย เนื่องจากผลผลิตที่ได้จากด้านบนคุณภาพจะเริ่มลดลง
 

หมายเหตุ  กิ่งแขนงหรือลำต้นส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นมะเขือเทศสามารถนำมาปลูกต่อได้โดยการนำกิ่งนั้นไปแช่น้ำประมาณ 7 - 10 วันจะเริ่มมีรากงอกออกมาจากกิ่งนั้น หลังจากนั้นสามารถนำกิ่งนั้นไปปลูกต่อได้โดยไม่ต้องเพาะเมล็ดใหม่



ขั้นตอนการผสมดอก
1. ในโรงเรือน การผสมเกสรของมะเขือเทศจะอาศัยผึ้งในการผสมเกสร โดยผึ้งจะถูกนำมาใส่ไว้ตั้งแต่เริ่มเกิดดอกแรก

2. ถ้าไม่ใช้ผึ้ง การผสมเกสรจะสามารถทำได้โดยการเขย่าดอก โดยทำการเขย่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์

หมายเหตุ:
เมื่ออุณภูมิกลางคืนต่ำกว่า 10 C และต่ำเป็นช่วงเวลายาวระหว่างกลางวัน จะทำให้มะเขือเทศลดจำนวนและความมีชีวิตของเกสรลง ถ้าไม่มีเกสรก็ไม่มีประโยชน์ในการใช้ผึ้งหรือการเขย่า ดังนั้นการใช้ฮอร์โมนจึงถูกนำมาใช้  ฮอร์โมนที่ใช้ช่วยให้ติดผลได้ แต่การใช้ฮอร์โมนช่วยในการติดผล จะส่งผลทำให้รูปร่างผลผิดปกติด้วย


วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เมล่อนฝรั่งเศส เซเวอร์ (Savor F1 Melon)



        เมล่อน เซเวอร์ เป็นเมล่อนจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเมล่อนในกลุ่ม Charentais Type ซึ่งเป็นเมล่อนทีมีเนื้อที่มีส้มเข้ม  เนื้อมีความนุ่มละเอียด และที่เป็นจุดเด่นของเมล่อนชนิดนี้คือ กลิ่นที่หอมมาก โดยเมล่อนในกลุ่มนี้เป็นเมล่อนกลุ่มหลักที่ทางญี่ปุ่นมักจะเลือกใช้ในการนำไปเป็นสายพันธุ์หลักตั้งต้นในการพัฒนาสายพันธุ์เมล่อนจากญี่ปุ่นหลายสายพันธุ์

        โดยทางเซนฯ ได้เลือกสายพันธุ์ Savor F1 มาทดลองปลูกในช่วงฤดูฝน ด้วยการปลูกในระบบราง DRFT  ปรากฎว่าเมล่อน เซเวอร์ มีความต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง และราแป้ง ได้ดี มีอัตราการเจริญเติบโตดี มีเถาและขั้วผลยาวแข็งแรงดีมาก   มีอายุเก็บเกี่ยวค่อนข้างเร็วประมาณ 25 - 30 วันหลังผสมเกสร มีน้ำหนักเฉลี่ยต่อผลอยู่ที่ 600 - 1,000 กรัม  มีกลิ่นหอมแรงเมื่อสุก  เนื้อด้านในมีสีส้มเข้ม เนื้อนุ่มเนียนละเอียดฉ่ำน้ำ  ทดสอบวัดเปอร์เซ็นต์ความหวานอยู่ที่ 14 องศาบริ๊กซ์





























วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

กะหล่ำปมสีเขียว (Green Kohlrabi)


กะหล่ำปม เป็นพืชผักอยู่ในตระกูลกะหล่ำ ลำต้นส่วนที่อยู่ติดระดับดินพองออกเป็นรูปทรงกลมหรือกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 - 10 ซม. มีทั้งชนิดลำต้นสีเขียวและม่วง ใบเดี่ยว รูปรีหรือรูปไข่แกมรูปรี ปลายแหลมถึงป้าน ขอบหยักซี่ฟันหยาบๆ โดยเฉพาะส่วนใกล้โคนใบมักเว้าลึกถึงเส้นกลางใบ ก้านใบเล็กและยาว แผ่นใบมีนวล ชอบอากาศเย็น ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและย้ายกล้าปลูกในแปลง

ชื่อพื้นเมือง : กะหล่ำปม (โคห์ลราบิ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brassica oleracea L. var. gongylodes L.
ชื่อวงศ์ : BRASSICACEAE (CRUCIFERAE)
ชื่อสามัญ : Kohlrabi, Turnip Rooted Cabbage

วิธีปลูก 
เพาะลงโดยตรงในวัสดุปลูกหยอดเมล็ดหลุมละ 3 - 5 เมล็ด หลังอนุบาลได้ประมาณ 10 - 14 วัน หรือเมื่อมีใบจริง 2 - 3 ใบให้ถอนออกเหลือหลุมละ 1 ต้น ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 25 - 30 ซม.

การใช้ประโยชน์จากกะหล่ำปม
กะหล่ำปมเป็นผักที่ใช้ส่วนลำต้นที่กลมอ้วนมารับประทาน โดยรับประทานเหมือนต้นคะน้าหรือก้านคะน้า โดยนิยมนำมาผัดรวมกับผักชนิดอื่นๆ, ต้มแบบจับฉ่าย, ผัดกับไข่  หรือทานสดกับน้ำพริกก็อร่อยดีครับ


http://www.youtube.com/watch?v=NIM7Eu-KALs    การปลูกกะหล่ำปม
http://www.youtube.com/watch?v=WjwLEedi1io     การทำสลัดกะหล่ำปมแบบญี่ปุ่น
http://www.youtube.com/watch?v=08QQhXCi570   การทำสลัดกะหล่ำปมแบบญี่ปุ่น

ทางเซนฯ ได้ทดลองปลูกกะหล่ำปมเขียว สายพันธุ์ Winner F1 เมล็ดจากบริษัท Takii ประเทศญี่ปุ่น จาการทดลองปลูกปรากฎว่า สายพันธุ์ Winner F1 นี้สามารถทนต่ออากาศร้อนได้ดีเยี่ยม อีกทั้งยังมีความต้านทานต่อโรคและแมลงได้ดีมาก สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วใช้เวลาปลูกประมาณ 50 วัน  รูปทรงลำต้นกลมได้สัดส่วน มีสีเขียวนวล เนื้อด้านในมีสีขาวเนียนละเอียด สามารถทานสดได้เนื้อหวานกรอบ หรือจะนำไปผัดกับน้ำมันก็อร่อยมาก