วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2560

วิธีการเพาะเมล็ดและอนุบาลต้นกล้า

เมล็ดพันธุ์ผักที่มีจำหน่ายกันอยู่ในท้องตลาดแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. เมล็ดแบบไม่เคลือบ
          เมล็ดประเภทนี้จะผ่านการลดความชื้นมาแล้ว สามารถเก็บรักษาในภาชนะที่ปิดสนิทในตู้เย็น (อุณหภูมิ 4 - 10 องศา C) ได้นาน ประมาณ 1 - 2 ปี  ข้อดีของเมล็ดแบบไม่เคลือบคือมีราคาถูกกว่าเมล็ดแบบเคลือบค่อนข้างมาก  การเพาะเมล็ดแบบไม่เคลือบนี้แนะนำให้กระตุ้นการงอกโดยใช้กล่องถนอมอาหารที่มีฝาปิดสนิท รองด้านในด้วยกระดาษชำระประมาณ 2 ชั้นแล้วพรมน้ำให้กระดาษเปียก และเทน้ำออก จากนั้นให้นำเมล็ดสลัดมาโรยลงบนกระดาษชำระ โดยไม่ต้องพรมน้ำซ้ำ แล้วปิดฝากล่องให้สนิท (แนะนำให้นำไปวางไว้ในที่มีอุณหภูมิต่ำ เช่น ห้องปรับอากาศ) ประมาณ 24 - 48 ชั่วโมงเมล็ดจะเริ่มงอกให้ย้ายลงวัสดุปลูกได้เลยครับ อย่าปล่อยให้เกิน 72 ชั่วโมง (3 วัน) เพราะรากผักสลัดจะยาวเร็วมากและทำให้ย้ายปลูกได้ยาก การกระตุ้นการงอกด้วยวิธีนี้จะทำให้เมล็ดที่เราเพาะมีเปอร์เซ็นต์การงอกและความสม่ำเสมอของการงอกสูงขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงจากเชื้อโรคที่จะเข้าทำลายเมล็ดจากการเพาะเมล็ดลงวัสดุปลูกโดยตรง ให้ผักที่ปลูกมีความสม่ำเสมอของต้นที่เท่ากัน มากกว่าการเพาะลงในวัสดุปลูกโดยตรง  เนื่องจากการเพาะลงวัสดุปลูกโดยตรงนั้นเมล็ดสลัดมีความเสี่ยงที่จะถูกทำลายโดยเชื้อโรคหรือแมลง อีกทั้งผู้ปลูกยังควบคุมปัจจัยการงอกของเมล็ดได้ยากกว่าด้วย



2. เมล็ดแบบเคลือบ
          เมล็ดชนิดนี้จะถูกคัดเลือกมาจากเมล็ดที่สมบูรณ์ แล้วนำมาเคลือบด้วยแป้งหรือดินเหนียว (Pelleted seed) เพื่อเป็นการรักษาสภาพของเมล็ดเอาไว้ ข้อดีของการใช้เมล็ดแบบเคลือบก็คือ สะดวกในการเพาะเมล็ดเนื่องจากขนาดที่ใหญ่ขึ้น วัสดุที่หุ้มเมล็ดยังช่วยนำพาความชื้นสู่เมล็ดได้อย่างทั่วถึงทั้งเมล็ด ช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยการงอกที่ไม่สม่ำเสมอของการเพาะเมล็ดลงได้  ส่วนข้อเสียของเมล็ดแบบเคลือบนี้คือ มีราคาแพง เนื่องจากเมล็ดแบบเคลือบจะเป็นสินค้าที่ถูกผูกขาดจากบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์จากยุโรป ปกติผู้ปลูกหลายท่านมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์สลัดว่า เมล็ดแบบเคลือบจะมีอัตราการงอกดีกว่าแบบไม่เคลือบ ซึ่งจริงๆ แล้วอัตราการงอกของเมล็ดทั้ง 2 แบบไม่ต่างกันเลย  ซึ่งมีบ่อยครั้งที่มักพบปัญหาในการเพาะเมล็ด ถ้าปัจจัยการงอกไม่สมบูรณ์ กล่าวคือการเพาะเมล็ดแบบเคลือบหากฝังเมล็ดในวัสดุปลูกลึกเกินไปก็ทำให้เมล็ดเน่า หรือถ้าหากฝังตื้นเกินไปก็ทำให้เมล็ดได้ความชื้นไม่เพียงพอก็ทำให้ไม่งอกเช่นกัน เมล็ดแบบเคลือบปกติจะเหมาะกับการนำไปเพาะกับวัสดุเพาะเกล้าพวกพีทมอส หรือเพอร์ไลท์ มากกว่าการนำไปเพาะลงฟองน้ำเนื่องจากปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการงอกของเมล็ดสลัดคือ "อ๊อกซิเจน" ด้วยการเพาะเมล็ดลงในฟองน้ำโดยตรงปัญหาที่พบคือเมล็ดไม่งอก หรืองอกไม่พร้อมกัน สาเหตุก็มาจากการที่เมล็ดสลัดจะถูกบีบอยู่ในฟองน้ำที่เปียกและแฉะ บวกกับถ้าช่วงที่เพาะถ้ามีอุณหภูมิของอากาศสูง (ร้อนอบอ้าว) เมล็ดสลัดที่เพาะนั้นก็มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่งอกเนื่องจากขาดอ๊อกซิเจนและมักจะมีเชื้อราเกิดขึ้นที่เมล็ดได้ง่าย

          ส่วนข้อเสียอีกประการของเมล็ดแบบเคลือบโดยส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์ลูกผสม หรือ Hybrid F1 ทำให้ต้นทุนการผลิตเมล็ดเคลือบจะสูงกว่าเมล็ดแบบไม่เคลือบ และเมล็ดแบบเคลือบนี้จะมีชนิดและสายพันธุ์ของผักสลัดให้เลือกค่อนข้างน้อยกว่าแบบไม่เคลือบมาก

          สรุป การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์แต่ละชนิด จึงควรเลือกให้เหมาะกับเรามากที่สุด คือหากเราปลูกเพื่อรับประทานเอง, ทำเป็นสลัดมิกส์ หรือใช้จำหน่ายเพื่อลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ ก็แนะนำให้เลือกใช้เมล็ดแบบไม่เคลือบก็พอเนื่องจากเก็บได้นาน, ราคาถูก มีหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือก   แต่หากต้องการปลูกเพื่อเป็นการค้าและต้องปลูกเป็นจำนวนมากเพื่อลดขั้นตอนการเพาะเมล็ดก็สามารถเลือกใช้เมล็ดแบบเคลือบแทนก็ได้  แต่ทั้งนี้ผักที่ปลูกจะมีคุณภาพทั้งทางด้านรูปลักษณ์, สีสรร รวมถึงน้ำหนัก จะดีหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และปัจจัยอื่นๆ ในการปลูก การดูแลพืชนั้นประกอบด้วยเป็นสำคัญ

          เมล็ดพันธุ์ผักทุกชนิดที่เรานำมาเพาะต้องอาศัยปัจจัยในการทำให้เมล็ดงอกเป็นต้นอ่อน คือ น้ำ, อุณหภูมิ, ออกซิเจน  และสำหรับพืชบางชนิดอาจต้องใช้แสงช่วยในการกระตุ้นการงอกด้วย ตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่นได้มีการใช้แสงสีแดงช่วยกระตุ้นการงอกของเมล็ด และใช้แสงสีน้ำเงินช่วยในการเจริญเติบโตของต้นพืชด้วย


           โดยทั่วไปอุณหภูมิที่เหมาะสมและดีที่สุดในการเพาะเมล็ดสลัด จะอยู่ในช่วง 18  - 25 องศาเซลเซียส ปัญหาที่สำคัญในการเพาะเมล็ด คืออากาศของเมืองไทยค่อนข้างร้อน ซึ่งมีผลทำให้การงอกของเมล็ดเป็นไปได้ช้า และมีเปอร์เซ็นต์งอกต่ำ เนื่องจากขณะที่เมล็ดได้รับความชื้นจากน้ำ เมล็ดจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในตัวเมล็ด ในกระบวนการงอกนั้นเมล็ดต้องการอ๊อกซิเจนช่วยในกระบวนการดังกล่าวนี้ หากอุณหภูมิสูงจะทำให้อ๊อกซิเจนต่ำ บวกกับถ้าวัสดุปลูกแฉะมากเกินไป ทำให้เมล็ดมีโอกาสเสี่ยงกับการขาดอ๊อกซิเจน และเชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย  ดังนั้นการเพาะเมล็ดสลัดอย่าให้วัสดุที่ปลูกเปียกชื้นมากเกินไป  วิธีที่จะช่วยให้เพาะเมล็ดให้มีอัตราการงอกสูงขึ้นได้นั้น แนะนำให้เพาะเมล็ดในช่วงเย็นหรือช่วงกลางคืน เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวสภาพอากาศมีอุณหภูมิต่ำซึ่งเป็นผลดีต่อการงอกของเมล็ดสลัด
         
ตารางความสัมพันธ์ของอุณหภูมิที่มีผลต่อการงอกของเมล็ด
ตัวเลขนอกวงเล็บคือ % ในการงอกของเมล็ด, ตัวเลขในวงเล็บคือ จำนวนวันที่ใช้ในการงอก

สรุป จากตางรางด้านบนจะเห็นได้ว่าอุณหภูมิมีผลเป็นอย่างมากต่อระยะเวลาและเปอร์เซ็นต์ในการงอกของเมล็ดพืชแต่ละชนิด ตัวเลขสีแดงคือค่าเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดพืชที่ดีที่สุดในอุณหภูมินั้นๆ เช่น

- สลัด  อุณหภูมิที่เหมาะที่สุดคือ 20 - 25 องศาเซลเซียส โดยจะมีเปอร์เซ็นสูงสุดและใช้เวลาน้อยที่สุด
- ปวยเล้ง อุณหภูมิที่เหมาะที่สุดคือ 5 องศาเซลเซียส โดยจะมีเปอร์เซ็นสูงสุด แต่ใช้เวลาไม่สั้นที่สุด


     การปลูกพืชผักทุกชนิด ผู้ปลูกควรมีการจดบันทึกวันที่เริ่มมีการเพาะเมล็ดไว้ทุกครั้ง เพื่อใช้กำหนดขั้นตอนการดูแลผักในแต่ละวันเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลเป็นการวางแผนการปลูกในรอบต่อๆไป และช่วยให้เราทราบถึงอายุผักที่ปลูกได้อย่างถูกต้องอีกด้วย

*สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดที่แนะนำด้านล่างนี้เป็นเพียงวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยง จากการที่ต้องเพาะเมล็ดซ่อมในกรณีที่เราเพาะลงในฟองน้ำหรือวัสดุปลูกโดยตรง แล้วเมล็ดงอกไม่สม่ำเสมอกันหรือเมล็ดไม่งอก ทำให้เราต้องเสียเวลาในการเพาะซ่อมเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์หรือไม่งอกทำให้ผักในแปลงปลูกอายุไม่เท่ากัน  สำหรับผู้ที่ต้องการเพาะเมล็ดลงวัสดุปลูกโดยตรงสามารถทำได้ครับ แต่แนะนำให้เพาะเผื่อไว้กันพลาด อย่างเช่นการเพาะสลัดปกติกเราจะใส่ 1 เมล็ดต่องฟองน้ำ 1 ก้อน ก็ให้เราใส่ไปประมาณ 2 - 3 เมล็ด เมื่อต้นเกล้าอายุได้ประมาณ 7 วัน ก็ให้เลือกต้นที่สมบูรณ์ที่สุดไว้ 1 ต้น ที่เหลือก็ถอนออกครับ




อุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะเมล็ด 
1. ถาดพลาสติกสูงประมาณ 1 นิ้ว (สำหรับอนุบาลต้นกล้า)
2. กล่องถนอมอาหารที่มีฝาปิดสนิท (สำหรับเพาะเมล็ด)
3. กระดาษชำระสีขาว (ไม่มีการเคลือบน้ำยา)
4. เมล็ดผักสลัดที่จะทำการเพาะ (ทั้งแบบเคลือบ หรือ แบบไม่เคลือบ)
5. ฟองน้ำสำหรับปลูกพืช
6. คีมคีบขนาดเล็ก (สำหรับใช้คีบเมล็ด)


  วิธีการเพาะเมล็ดผักสลัด (แบบเคลือบ และไม่เคลือบ)

1. นำกระดาษชำระวางลงด้านในกล่องถนอมอาหาร โดยวางกระดาษชำระซ้อนกันประมาณ 2 - 3 ชั้น


2. เสปรย์น้ำลงบนกระดาษชำระ หรือใช้วิธีค่อยๆ เทน้ำลงไปบนกระดาษให้ทั่ว ให้กระดาษซับน้ำไว้ในตัว แล้วเทน้ำที่เหลือออกจากกล่องให้หมด อย่าให้มีน้ำขังอยู่ในกล่อง (ให้กระดาษซับน้ำไว้อย่าให้กระดาษแฉะมากเกินไป)  น้ำที่ใช้เป็นน้ำดื่มสะอาด ห้ามใช้น้ำประปาที่มีคลอรีนโดยเด็ดขาด เนื่องจากคลอรีนในน้ำประปาจะทำให้เมล็ดเน่า และไม่งอกได้ แนะนำให้ใช้น้ำดื่มขวดใส อย่าใช้น้ำดื่มขวดขุ่นเพราะน้ำขวดขุ่นจะกรองด้วยเรซิน ซึ่งใช้เกลือในการล้างสารกรอง เกลือจะมีผลต่อการงอกของเมล็ดสลัด


3. นำเมล็ดวางลงบนกระดาษชำระที่เปียกน้ำนั้น สำหรับเมล็ดสลัดแบบไม่เคลือบหลังจากวางลงบนกระดาษแล้วไม่จำเป็นต้องเสปรย์น้ำซ้ำอีกรอบ เนื่องจากเมล็ดสลัดจะมีขนอ่อนๆที่จะดูดน้ำขึ้นมาจากกระดาษได้เอง (สำคัญที่กระดาษชำระอย่าให้แห้ง หรือแฉะเกินไป)   ส่วนเมล็ดแบบเคลือบควรที่จะเสปรย์น้ำซ้ำอีกรอบเพื่อให้วัสดุหุ้มเมล็ดเปียก แต่อย่าให้กระดาษที่รองแฉะมากเกินไป  จากนั้นให้ปิดฝากล่องเพาะเมล็ดให้สนิท ถ้าเป็นไปได้ช่วง 12 - 24 ชม.แรกในการเพาะเมล็ดนี้ให้นำกล่องเพาะนี้ไปวางไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิประมาณ 18 - 25 องศา C (ห้องปรับอากาศ) จะทำให้อัตราการงอกสูงขึ้นครับ

** สำหรับเมล็ดเคลือบถ้าต้องการลดขั้นตอนในการเพาะนี้ แนะนำให้เพาะลงเพอร์ไลท์ หรือถ้าปลูกลงดินก็เพาะลงพีทมอสได้เลยครับ **




4. เมื่อผ่านไปประมาณ 24 - 48 ชั่วโมง หลังจากเพาะเมล็ด ให้สังเกตุดูที่เมล็ด จะเริ่มมีรากสีขาวของต้นกล้างอกออกมาประมาณ 2 มิลลิเมตร ก็สามารถย้ายลงปลูกในก้อนฟองน้ำได้เลย อย่าปล่อยให้เกิน 2 วัน เพราะช่วงนี้รากของสลัดจะยาวเร็วมาก ถ้าย้ายช้ากว่านั้นรากจะติดกับกระดาษชำระทำให้ดึงออกได้ยาก แต่ถ้ารากยาวมากให้เราแก้ไขโดยใช้ฟ็อคกี้ค่อยเสปรย์น้ำลงไปให้กระดาษฉุ่มน้ำพอกระดาษอ่อนนิ่มแล้วจะทำให้เราใช้คีมเล็กๆค่อยๆ ดึงเมล็ดออกมาได้ง่ายโดยที่รากจะไม่ขาด





5. ให้นำฟองน้ำที่จะใช้ในการปลูกเรียงในถาดเพาะ แล้วเทน้ำสะอาดให้เต็มถาดอนุบาล (น้ำที่ใช้เป็นน้ำดื่มสะอาด ห้ามใช้น้ำประปาที่มีคลอรีนโดยเด็ดขาด เนื่องจากคลอรีนในประปาจะทำให้รากเน่าได้) จากนั้นใช้มือกดก้อนฟองน้ำเพื่อไล่อากาศจากก้อนฟอง และให้น้ำดูดซับน้ำเข้าไปแทน  แล้วเทน้ำลงไปในถาดเพิ่ม ใช้มือกดก้อนฟองน้ำอีกครั้งเพื่อให้ก้อนฟองน้ำอิ่มน้ำ แล้วเทน้ำในถาดอนุบาลให้สูงเกือบท่วมก้อนฟองน้ำ โดยห่างจากด้านบนฟองน้ำประมาณ 2 - 3 มิลลิเมตร




7. นำเมล็ดที่เพาะได้ประมาณ 1 - 2 วัน ที่มีรากสีขาวงอกออกมา (เลือกเมล็ดที่งอกใกล้เคียงกัน) นำไม้จิ้มฟัน หรือคีมเล็กๆ ค่อยๆ คีบเมล็ดที่มีรากงอก นำรากไปสอดในช่องตรงกลางของฟองน้ำ (ต้องระมัดระวังอย่าให้รากหักหรือพับงอ)  โดยสอดเมล็ดลงไปให้ส่วนท้ายของเมล็ดโผล่จากก้อนฟองน้ำเล็กน้อย ช่วงนี้แนะนำให้ถาดเพาะโดนแสงสว่างธรรมชาติช่วงเช้าหรือเย็น บ้างอย่างน้อย 2 - 4 ชั่วโมงต่อวัน

- ผักสลัดให้ใส่ 1 เมล็ดต่อฟองน้ำ 1 ก้อน
- ผักไทย,ผักจีนให้ใส่ 2 - 3 เมล็ดต่อฟองน้ำ 1 ก้อน



8. เมื่อครบ  4 - 5 วัน หลังจากเพาะเมล็ด ต้นกล้าจะงอกใบเลี้ยงคู่ออกมาให้คอยรักษาระดับน้ำในถาดให้สูงประมาณ 1/2 ของฟองน้ำอย่าให้น้ำในถาดแห้ง ให้ใช้น้ำเปล่าเติมลงในถาด (น้ำที่ใช้เป็นน้ำดื่มสะอาด ห้ามใช้น้ำประปาที่มีคลอรีนโดยเด็ดขาด เนื่องจากคลอรีนในประปาจะทำให้เกิดโรครากเน่า และโคนเน่าได้)   ให้นำถาดอนุบาลต้นกล้า ไปวางรับแสงแดดในตอนเช้าหรือช่วงเย็น ประมาณ 3 - 4 ชั่วโมงต่อวัน (ความถี่แสงสีแดงช่วยเร่งอัตราการเจริญเติบโตของต้นกล้าได้ดี โดยเฉพาะแสงแดดในช่วงเช้าประมาณ 6.00 - 9.00 โมง และช่วงเย็น 16.00 - 18.00 เป็นช่วงที่มีแสงสีแดงมากที่สุด)







9. เมื่อครบ 7 วัน หลังจากเพาะเมล็ด ต้นกล้าเริ่มมีใบจริง งอกออกมาให้เทน้ำเก่าในถาดอนุบาลออกให้หมด แล้วนำน้ำผสมธาตุอาหาร A, B แบบเจือจาง เติมลงไปในถาดแทนน้ำเดิม และลดระดับน้ำให้เหลือ 1/3 ของก้อนฟองน้ำ และเพิ่มระยะเวลาในการรับแสงแดดของต้นกล้า 5 - 6 ชั่วโมง/วัน การเพิ่มปริมาณแสงแดดให้ต้นเกล้าจะทำให้ต้นเกล้าแข็งแรงและเคยชินกับแสงแดดทำให้เวลาย้ายลงปลูกผักจะไม่มีอาการเฉี่ยวเฉาได้ง่ายเมื่อถูกแสงแดดแรงๆ

          - ผักสลัด  ปุ๋ย A, B อย่างละ 1 - 2 ซีซี/น้ำ 1 ลิตร
          - ผักไทย   ปุ๋ย A, B อย่างละ 2 - 3 ซีซี/น้ำ 1 ลิตร




10. เมื่อครบ 14 วัน (2 สัปดาห์) ต้นกล้าก็พร้อมที่ย้ายลงแปลงปลูกได้แล้ว มีข้อปฎิบัติดังนี้
(ระยะเวลาการอนุบาลในแต่ละฤดูอาจจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเป็นปัจจัย บางฤดูอาจใช้เวลาอนุบาลเพียง 10 วันก็สามารถย้ายลงปลูกได้เลย โดยเราจะสังเกตุได้จากต้นเกล้าเป็นหลักถ้าต้นเกล้ามีใบจริงอย่างน้อย 2 ใบก็สามารถย้ายปลูกได้เลยครับ)  สำหรับฟาร์มใหญ่ๆ มักจะมีแปลงอนุบาลในแต่ละช่วงอายุผัก ก็สามารถย้ายลงอนุบาลได้ตั้งแต่เกล้าอายุได้ประมาณ 5 - 7 วัน จะทำให้รอบการปลูกแต่ละรอบสั้นลง  โดยก่อนย้ายเกล้าผักลงแปลงให้ปฎิบัติดังนี้

          - ให้สเปรย์น้ำให้ทั่วก้อนฟองน้ำก่อนย้ายลงแปลงปลูก  และควรเลือกย้ายในช่วงเย็น  เนื่องจากช่วงเย็นจนถึงค่ำ พืชจะปรับตัวได้ดีกว่าช่วงกลางวัน และลดความเสี่ยงที่ต้นเกล้าจะเฉาตายจากแดดได้

          - ให้เลือกต้นกล้าที่สมบูรณ์และมีขนาดต้นใกล้เคียงกันลงแปลงปลูก


11. นำต้นกล้าใส่กระถางปลูก (สอดต้นกล้าจากด้านล่างกระถางเพื่อป้องกันการพับหักงอของรากพืชจากการใส่ฟองน้ำจากด้านบนกระถาง) โดยให้ก้นของฟองน้ำโผล่ออกมาจากก้นกระถาง



12. นำต้นกล้าที่สวมกระถางปลูกแล้วไปใส่ในช่องปลูกของรางปลูก โดยสังเกตุว่าก้นของฟองน้ำสัมผัสกับน้ำในรางปลูกหรือไม่ หากยังไม่สัมผัสก็ให้ขยับฟองน้ำลงมาเพื่อให้ก้นของฟองน้ำแตะกับน้ำในรางปลูก (ให้น้ำในรางปลูกสัมผัสกับฟองน้ำประมาณ 2 - 3 มิลลิเมตร)



เทคนิคการเพาะเมล็ดของผักแต่ละชนิด
1. ผักบุ้ง        นำเมล็ดใส่ถุงพลาสติกแจาะรู แช่น้ำอุ่น ประมาณ 6 - 12 ชั่วโมง ในระหว่างแช่ให้หาวัตถุกดทับถุงใส่เมล็ดให้จมอยู่ในน้ำเสมอ
ผักบุ้งจะใช้เวลางอกประมาณ 5 - 14 วัน 
อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกคือ 18 - 25 องศาเซลเซียส
อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 25 - 30 วัน


2. คื่นช่าย     นำเมล็ดแช่น้ำเย็นประมาณ 4 - 5 ชั่วโมง แล้วห่อด้วยผ้า หรือเพาะบนกระดาษทิชชูแบบเดียวกับการเพาะเมล็ดสลัด หรือจะนำไปเพาะบนกระบะทรายก็ได้เช่นกัน
คื่นฉ่ายจะใช้เวลางอกประมาณ 7 - 14 วัน
อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกคือ 15 - 20 องศาเซลเซียส
อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 70 - 80 วัน


3. ผักชี         นำเมล็ดมาห่อด้วยกระดาษหรือผ้าแล้วใช้ท่อพีวีซี กลิ้งคลึงเมล็ดให้แตกเป็น 2 ซีก แล้วนำไปแช่น้ำอุ่นประมาณ 6 - 12 ชั่วโมง  แล้วนำไปเพาะตามปกติจะทำให้ผักชีงอกได้เร็วขึ้น ปกติผักชีจะใช้เวลางอกประมาณ 7 - 14 วัน หรือจะนำไปเพาะบนกระบะทรายก็ได้
          - ผักชีไทย                           อายุเก็บเกี่ยวประมาณ   40 - 50 วัน
          - ผักชีลาว                            อายุเก็บเกี่ยวประมาณ   55 - 60 วัน 


4. ผักชีฝรั่ง    นำเมล็ดแช่น้ำอุ่นประมาณ 6 - 12 ชั่วโมง แล้วนำไปเพาะตามปกติ  
ผักชีฝรั่ง จะใช้เวลางอกประมาณ 7 - 14 วัน
อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 100 - 120 วัน


5. พืชตระกูลแตง  ได้แก่  แตงกวา, แตงโม, แคนตาลูป, เมล่อน, แตงไทย, ฟักทอง, น้ำเต้า  ฯลฯ  
โดยธรรมชาติเมล็ดพืชตระกูลแตง หรือฟัก จะมีเปลือกหุ้มเมล็ดค่อนข้างแข็ง. มีหลายๆ ที่แนะนำให้แช่เมล็ดในน้ำอุ่นเพียง 3-4 ชม. จริงๆแล้วเวลาเพียงเท่านั้นจะไม่เพียงพอที่จะนำพาน้ำและความชื้นเข้าสู่เมล็ดได้พอ ซึ่งจะมีผลทำให้เมล็ดที่เพาะงอกช้า และงอกไม่พร้อมกัน ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการวางแผนการปลูกได้.

เทคนิคการเพาะพืชตระกูลแตงให้มีอัตราการงอกสูง และมีการงอกอย่างสม่ำเสมอ โดยปกติแล้วพืชในตระกูลแตง อาทิเช่น เมล่อน, ฟักทอง, แตงโม, บวบ ฯลฯ พืชพวกนี้จะมีเปลือกหุ้มเมล็ดแข็งมาก การแช่น้ำเพียงไม่นานมักจะทำให้เมล็ดได้รับน้ำไม่พอที่จะทำให้เปลือกนุ่มลงได้ ทำให้เมล็ดต้องใช้พลังงานในการงอกสูง เกิดปลทำให้การงอกไม่สมบูรณ์ เมล็ดจะงอกช้า งอกไม่สม่ำเสมอ หรืออาจจะไม่งอกเลย  ฉะนั้นก่อนที่เราจะทำการเพาะเมล็ดเราควรเปิดปลายเมล็ดออกเล็กน้อยเพื่อช่วยลดการสูญเสียพลังงานของพืชในการงอกจากเมล็ดมีขั้นตอนและวิธีตามลิงค์ด้านล่างดังนี้




ปัจจัยหลักๆ ของการงอกของพืชในกลุ่มนี้จะมีส่วนสำคัญ 3 ปัจจัยใหญ่ๆคือ

1.เรื่องของน้ำที่ใช้แช่เมล็ด โดยปกติน้ำที่เหมาะสมในการนำมาแช่เมล็ดหรือใช้เพาะเมล็ดควรเป็นน้ำที่สะอาด ปราศจากคลอรีน ส่วนเรื่องอุณหภูมิของน้ำจะอุ่น หรือไม่อุ่น ไม่ค่อยสำคัญเท่ากับระยะเวลาในการแช่เมล็ดครับ มีหลายครั้งที่เราแช่เมล็ดด้วยน้ำอุ่นเพียงไม่กี่ ชม. แต่เมล็ดยังคงไม่อิ่มน้ำหรือยังไม่จมตัว แล้วนำไปเพาะผลที่ได้ก็ตามที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้นคือ งอกช้า และไม่พร้อมกัน ฉะนั้นการแช่เมล็ดพืชตระกูลแตง และฟักส่วนใหญ่ผมแนะนำให้แช่น้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 1 คืน (12 ชม.) หรืออาจจะนานกว่านั้นก็ได้แต่ไม่เกิน 30 ชม. (สังเกตุที่เมล็ดถ้าอิ่มตัวแล้วจะจมน้ำอยู่ก้นภาชนะ)

2.ความชื้นในการบ่มเมล็ด มีหลายท่านแนะนำให้ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำบิดหมาดๆ ห่อเมล็ดไว้ วิธีการนี้ใช้ได้ครับ แต่ต้องระวังในเรื่องของความชื้นของผ้าที่มากเกินไปก็อาจทำให้เมล็ดเน่าและเกิดเชื้อราได้ เนื่องจากการห่อไว้ในผ้าที่เปียกน้ำ เมล็ดมักจะเกิดการขาดอ๊อกซิเจนซึ่งเป็นปัจจัยอีกตัวในกระบวนการงอกของเมล็ดได้. ปกติแล้วส่วนตัวผมเองมักจะแนะนำให้เพาะในกล่องถนอมอาหารที่มีฝาปิดสนิท โดยรองด้านกล่องด้วยกระดาษทิขชู 3-4 ชั้นพรมน้ำให้พอชุ่ม แต่ไม่แฉะหรือมีน้ำขังในกล่อง แล้วนำเมล็ดที่ผ่านการแช่น้ำมาแล้วมาวางเรียงในกล่องนั้นโดยไม่ต้องพรมน้ำซ้ำ ซึ่งวิธีการนี้มีข้อดีความเมล็ดจะมีพื้นที่ได้รับอ๊อกซิเจนมากขึ้น ทำให้ปัจจัยการงอกสมบูรณ์และดีกว่าการห่อผ้า.

3.อุณหภูมิ ในการงอกของเมล็ดในพืชตระกูลแตงและฟัก โดยปกติพืชในกลุ่มนี้จะงอกสมบูรณ์ได้ในอุณหภูมิประมาณ 30 - 34 องศา C ถ้าสูงหรือต่ำกว่านั้น อัตราการงอกจะเริ่มลดลง. โดยปกติถ้าต้องการกระตุ้นให้เมล็ดเกิดการงอกผมจะแนะนำวิธีการบ่มร้อนดังนี้ นำกล่องถนอมอาหารที่เราทำจากข้อ 2 ด้านบน มาวางในกระติกน้ำเปล่า หรือกล่องโฟมเปล่า ปิดฝาให้สนิทแล้วนำกล่องนั้นไปตากแดดไว้ประมาณ 6 - 8 ชม. เมื่อเมล็ดถูกกระตุ้นด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นกระจะทำให้เกิดการงอกได้สมบูรณ์ เมื่อเมล็ดเริ่มมีปลายรากสีขาวโผล่ออกมา ก็สามารถย้ายไปลงวัสดุปลูกได้เลยครับ 

null

*** ไม่แนะนำให้นำเมล็ดที่ยังไม่มีปลายรากออกมาไปใส่ในวัสดุเพาะนะครับเนื่องจากวัสดุเพาะมักจะมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าปัจจัยในการงอก บวกกับความชื้นของวัสดุและพื้นที่ของอ๊อกซิเจนน้อยกว่าการกระตุ้นในกล่องที่ปิดฝา ส่งผลทำให้เมล็ดไม่งอกและเน่าได้ครับ ***


พืชตระกูลแตง จะใช้เวลางอกประมาณ 2 - 10  วันเมื่อเมล็ดเริ่มงอกก็นำไปเพาะลงวัสดุปลูกต่อไป
- แตงโมเปลือกลาย, แตงโมเปลือกดำ  อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 35 - 40 วันหลังจากดอกบาน
- แตงไทย  อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50 - 55 วันหลังจากหยอดเมล็ด
- แตงกวา   อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 6 - 7 วันหลังดอกบาน
- เมล่อน, แคนตาลูป อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 40 - 60 วันหลังผสมเกสร (แล้วแต่ชนิดของสายพันธุ์)
- ฟักทองญี่ปุ่น 45 - 50 วัน หลังดอกบาน


6. พืชกลุ่มพริก, มะเขือม่วง นำเมล็ดใส่ถุงพลาสติกแจาะรู แช่น้ำอุ่น 40 - 50 องศาเซลเซียส ประมาณ 6 - 12 ชั่วโมง ในระหว่างแช่ให้หาวัตถุกดทับถุงใส่เมล็ดให้จมอยู่ในน้ำเสมอ  จากนั้นให้นำเมล็ดมาเพาะในกล่องพลาสติกถนอมอาหาร ที่รองด้วยกระดาษชำระพรมน้ำให้กระดาษพอมีความชื้น แต่อย่าให้เปียกหรือ มีน้ำขัง นำเมล็ดที่ผ่านการแช่น้ำมาแล้ววางลงบนกระดาษชำระโดย ไม่ต้องทับกระดาษลงอีกชั้น จากนั้นปิดฝาให้สนิท นำไปตากแดด จะทำให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น
เมล็ดพริก, มะเขือ จะใช้เวลาในการงอกประมาณ 5 - 10 วัน เมื่อเมล็ดเริ่มงอกก็นำไปเพาะลงวัสดุปลูกต่อไป
- พริก              อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50 - 60 วันหลังจากหยอดเมล็ด
- พริกหวาน     อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 80 - 100 วันหลังจากหยอดเมล็ด
- มะเขือเปราะ อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50 - 60 วันหลังจากหยอดเมล็ด
- มะเขือม่วง    อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50 - 60 วันหลังจากหยอดเมล็ด


7. มะเขือเทศ เตรียมน้ำสะอาดที่ไม่มีคลอรีน ใส่แก้วน้ำดื่มประมาณ 2/3 แก้ว ใส่เมล็ดมะเขือเทศแช่ลงไปในน้ำสะอาดนั้น ให้แช่ทิ้งไว้อย่างนั้น โดยเราเปลี่ยนน้ำประมาณ 50% ทุกวัน วิธีการนี้จะทำให้เมล็ดมะเขือเทศงอกเร็วกว่าการเพาะแบบปกติ  จะใช้เวลาในการงอกประมาณ 5 - 10 วัน คอยสังเกตุที่เมล็ดเมื่อเริ่มงอกก็นำไปเพาะลงวัสดุปลูกต่อไปได้เลย


7. ปวยเล้ง   เป็นพืชที่หลายคนคิดว่าเพาะได้ยาก แต่จริงๆแล้วการเพาะปวยเล้งไม่ยากอย่างที่คิดแต่อาจจะใช้เวลา และเทคนิคยุ่งยากกว่าเมล็ดพืชชนิดอื่น โดยมีขั้นตอนดังนี้

- นำเมล็ดใส่ถุงพลาสติกแจาะรู แช่น้ำอุ่น 40 - 50 องศาเซลเซียส ประมาณ 6 - 12 ชั่วโมง ในระหว่างแช่ให้หาวัตถุกดทับถุงใส่เมล็ดให้จมอยู่ในน้ำเสมอ  จากนั้นให้นำเมล็ดมาเพาะในกล่องพลาสติกถนอมอาหาร ที่รองด้วยกระดาษชำระพรมน้ำให้กระดาษพอมีความชื้น แต่อย่าให้เปียกหรือ มีน้ำขัง นำเมล็ดที่ผ่านการแช่น้ำมาแล้ว ผึ่งให้เมล็ดแห้งพอหมาดๆ วางลงบนกระดาษชำระโดย ไม่ต้องทับกระดาษลงอีกชั้น จากนั้นปิดฝาให้สนิท 

- นำกล่องถนอมอาหารนี้ไปใส่ในตู้เย็น (ช่องแช่ผักธรรมดา) อุณหภูมิของตู้เย็นปกติจะอยู่ที่ประมาณ 4 - 7 องศา C  ซึ่งเป็นอุณหภูมิทีเหมาะต่อการงอกของเมล็ดปวยเล้งอยู่แล้ว

- ประมาณ 7 - 14 วัน เมล็ดปวยเล้งจะเริ่มแตกออก และมีปลายรากโผล่ออกมาจากเมล็ด จึงสามารถนำเมล็ดที่มีรากงอกออกมานั้นไปเพาะลงวัสดุปลูกได้ครับ

อายุเก็บเกี่ยวปวยเล้งประมาณ 40 - 45 วัน (นับจากวันปลูก)


8. บรีทรูท, สวิชชาร์ด   เป็นพืชที่มีเปลือกหุ้มเมล็ดค่อนข้างแข็งเช่นจึ้งต้องทำการแช่น้ำอุ่นก่อนเพื่อเป็นการกระตุ้นการงอกโดยมีขั้นตอนดังนี้

- นำเมล็ดใส่ถุงพลาสติกแจาะรู แช่น้ำอุ่น 40 - 50 องศาเซลเซียส ประมาณ 6 - 12 ชั่วโมง ในระหว่างแช่ให้หาวัตถุกดทับถุงใส่เมล็ดให้จมอยู่ในน้ำเสมอ  จากนั้นให้นำเมล็ดมาเพาะในกล่องพลาสติกถนอมอาหาร ที่รองด้วยกระดาษชำระพรมน้ำให้กระดาษพอมีความชื้น แต่อย่าให้เปียกหรือ มีน้ำขัง นำเมล็ดที่ผ่านการแช่น้ำมาแล้ว ผึ่งให้เมล็ดแห้งพอหมาดๆ วางลงบนกระดาษชำระโดย ไม่ต้องทับกระดาษลงอีกชั้น จากนั้นปิดฝาให้สนิท 

- นำกล่องถนอมอาหารนี้ไปตากแดด ประมาณ 7 - 14 วัน เมล็ดจะมีปลายรากโผล่ออกมา จึงสามารถนำเมล็ดไปเพาะลงวัสดุปลูกต่อไปได้ครับ (อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับบรีทรูทและสวีทชาร์ด ค่อนข้างต้องใช้อุณหภูมิสูง โดยใช้อุณหภูมิของวัสดุปลูกอยู่ที่ประมาณ 30 องศา C) ดังนั้นการเพาะในวัสดุที่เป็นฟองน้ำหรือดินที่เปียกซึ่งมีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ  ทำให้เมล็ดงอกช้า หรือไม่งอกได้ครับ

อายุเก็บเกี่ยว สวีทชาร์ด ประมาณ 50 - 55 วัน (นับจากวันปลูก)
อายุเก็บเกี่ยวบรีทรูท       ประมาณ 50 - 60 วัน (นับจากวันปลูก)


การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืช
          เมล็ดพันธุ์พืชทุกชนิดปกติแล้วเมื่อเปิดบรรจุภัณฑ์ แล้วแนะนำให้ใช้ให้หมดเนื่องจากเมล็ดจะเริ่มสูญเสียความชื้น ทำให้อัตราการงอกลดลง หากใช้ไม่หมดการเก็บเมล็ดพันธุ์พืช แนะนำให้เก็บในภาชนะที่ปิดสนิท เช่น กระปุกยา, กล่องถนอมอาหารที่มีฝาปิดสนิท เก็บในตู้เย็น (ช่องแช่ผัก) อุณหภูมิ 4 - 10 องศาเซลเซียส  โดยเมล็ดพันธุ์พืชที่เก็บในภาชนะปิดสนิทและเก็บในอุณหภูมิต่ำ สามารถเก็บได้นานประมาณ 1 - 2 ปี

* สามารถดูวิธีการปลูกพืชเพิ่มเติมได้จาก http://zen-hydroponics.blogspot.com/2013/01/blog-post.html  หรือสอบถามเพิ่มเติมมาได้ที่ zen-hydroponics@hotmail.com ก็ได้ครับ

วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เมล่อน ฮันนี่ดิว (Honeydew Green Melon F1)



จากการทดลองปลูกเมล่อนฮันนี่ดิว ในช่วงฤดูฝน (สภาพอากาศร้อนอบอ้าว ความชื้นสูง แสงแดดน้อย) เมล่อนยังคงสามารถเจริญเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตได้เร็ว มีความต้านทานต่อโรคเชื้อราได้ดีมาก ที่สำคัญคือทำความหวานได้ง่ายมาก ทางเซนฯ จึงแนะนำให้เป็นเมล่อนอีกสายพันธุ์   สำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นปลูกเมล่อนใหม่ๆ ได้ทดลองปลูก

























เมล่อน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา เป็นพืชที่ชอบ อากาศอบอุ่นถึงร้อน อุณหภูมิที่เหมาะสำหรับการปลูกเมล่อนคือ 25 - 30 องศา C (ในเวลากลางวัน) และ 18 - 20 องศา C (ในเวลากลางคืน) โดยที่อุณหภูมิที่ต่างกันของเวลา กลางวันกับกลางคืนนี้จะมีผลต่อ ความหวาน และคุณภาพของเมล่อนเป็นอย่างมาก ถ้าความแตกต่างของอุณหภูมิยิ่งมีมากจะทำให้ความหวาน และคุณภาพของเมล่อนยิ่งสูงขึ้น แต่สภาพอากาศ หรือพื้นที่ๆ มีอากาศหนาวเย็นมากๆ โดยอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 15 องศา C จะทำให้ผลเมล่อนไม่โต และหยุดชะงักการเจริญเติบโต  แต่อุณหภูมิที่สูงเกินไปก็มีผลไม่ดีต่อเมล่อนเหมือนกัน คือถ้าอุณภูมิสูงมากเกิน 35 องศา C จะทำเมล่อนสร้างดอกตัวเมียน้อยลง

เมล่อน เป็นพืชที่ชอบแสงแดด ตลอดวัน ฉะนั้นในการเลือกพื้นที่ ปลูกควรเป็นพื้น ที่โล่งแจ้ง และต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่ไม่เคยปลูกพืชตระกูลแตงมาก่อน เนื่องจากจะเป็นแหล่งสะสมของโรคทางดินได้ควรเป็นดินร่วน ปนทรายระบายน้ำ ได้ดี มีความเป็น กรด-ด่าง อยู่ระหว่าง 6.0 - 6.8 

ชนิดของเมล่อนจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ตามลักษณะผล คือ
1. ร็อคเมล่อน  คือ เมล่อนที่มีลักษณะของเปลือกภายนอกแข็ง มีลายขรุขระเล็กน้อย
2. เน็ตเมล่อน  คือ เมล่อนที่มีลักษณะของเปลือกภายมีลายร่างแหแผ่คลุมเปลือกด้านนอกไว้
3. เมล่อนผิวเรียบ หรือที่นิยมเรียกกันว่า แคนตาลูป

1. การเพาะเมล็ดและการอนุบาลเกล้าพันธุ์เมล่อน
- ให้นำเมล็ดเมล็ดพันธุ์บรรจุลงในถุงพลาสติก หรือถุงซิบที่เจาะรูพรุน หรือถุงตาข่าย ลงแช่ในน้ำอุ่นนานประมาณ  4 - 6 ชม. 

- นำเมล็ดออกมาสลัดน้ำทิ้งใช้ผ้าขนหนูที่เปียกพอหมาดๆ ห่อ และนำไปบ่มในอุณหภูมิ 28 - 34 องศาเซลเซียส บ่มนานประมาณ 24 - 30 ชม. เมล็ดแคนตาลูปจะเริ่มงอกรากยาวประมาณ 0.5 ชม. ก็สามารถย้ายลงวัสดุปลูกได้

- นำเมล็ดมาฝังลงในวัสดุเพาะเกล้า โดยให้ปลายเมล็ดด้านแหลมทิ่มลงไปในวัสดุเพาะ สำหรับวัสดุเพาะที่นิยมและได้ผลดีที่สุดคือการเพาะเมล่อนคือ  พีทมอส เนื่องจากคุณสมบัติที่ดูดซับความชื้นได้ดี มีความร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี และยังมีธาตุอาหารพืชอยู่ด้วยทำให้เมล่อนที่เพาะด้วยวัสดุปลูกนี้มีความแข็งแรง และเจริญเติบโตได้ดี ในกรณีที่ไม่สามารถหาพีทมอสได้อาจจะใช้ขุยมะพร้าวที่ใช้ตะแกรงร่อนเอาเศษใยมะพร้าวออกก่อน มาใช้เป็นวัสดุเพาะได้เช่นกัน

- รดน้ำเช้า - เย็นให้พอชุมวัสดุเพาะ  ประมาณ 3 - 5 วัน เมล็ดจะดันตัวออกมาจากวัสดุเพาะ ให้เราอนุบาลเกล้าไปประมาณ 14 - 20 วัน ต้นเกล้าจะมีใบจริงประมาณ 2 - 3 ใบ ก็สามารถย้ายลงปลูกได้


2. การย้ายปลูก
- เตรียมถุงปลูกขนาด 10 - 12 นิ้ว นำวัสดุปลูก ขุยมะพร้าว จำนวน 2 ส่วน, ทรายหยาบ 1 ส่วน, แกลบดิบ 1 ส่วน ผสมกันแล้วใส่วัสดุปลูกลงถุงปลูก
- รดน้ำให้วัสุดปลูกชุ่ม และแช่น้ำค้างลงในจานรองกระถางไว้ประมาณ 1 - 2 วันก่อนปลูก
- ก่อนปลูกให้ใช้น้ำรดวัสดุปลูกอีกครั้งเพื่อล้าง สารแทนนินในขุยมะพร้าวออก (เนื่องจากสารแทนนินในเปลือกมะพร้าวถ้ามีมากไปจะมีผลต่อรากพืช)
- นำต้นเกล้าเมล่อนที่อนุบาลมาได้ประมาณ 14 - 20 วัน ย้ายลงปลูกในกระถาง โดยระหว่าง 1 สัปดาห์แรกของการย้ายปลูกให้เมล่อนได้รับแสงในช่วงเช้าหรือเย็นประมาณ 5 - 6 ชั่วโมงต่อวัน (หลีกหลี่ยงแสงแดดที่แรงเกินไปในช่วงกลางวันหรือบ่าย)
- รดน้ำวันละ 2 ครั้ง คือ เช้า-เย็น และเพิ่มการให้น้ำเป็น 4 ครั้งต่อวันเมื่อแตงติดลูกแล้ว
- ปริมาณการให้ปุ๋ยจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ
1. ช่วงเจริญเติบโตให้ ปุ๋ย A,B ที่มีปริมาณ  N = 150 - 200 mg./L.  และ P = 30 -50 mg./L. และ P = 150 - 200 mg./L.
2. ช่วงพัฒนาผล จะลดปริมาณไนโตรเจนลงเล็กน้อย ประมาณ และเพิ่ม K ขึ้น โดยปรับ K เพิ่มเป็น 250 - 300 mg./L. ในระหว่างนี้ให้เสริม C เป็นระยะเพื่อป้องกันผลแตกและภาวะการขาดแคลเซียม อัตราส่วนการใช้ C อยู่ที่ประมาณ 200 - 300 mg./L.
- ประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนเก็บเกี่ยวลดการให้น้ำลงเพื่อป้องกันผลแตงแตก และเป็นการเพิ่มความหวานให้กับแตงมากขึ้น



3. การทำค้างให้ต้นเมล่อน

- ให้ใช้เชือกผูกกับคานสูงประมาณ 1.8 ม. - 2 ม. ขึงเชือกเป็นแนวดิ่งลงพื้น ให้ตรงกับกระถางปลูกเพื่อใช้พยุงลำต้นเมล่อน

- ให้ใช้เชือกผูกหลวมๆ  ใต้ข้อใบเมล่อนเพื่อพยุงให้ต้นเมล่อนไม่ล้ม (ผูกข้อเว้นข้อ ขึ้นไปตามแนวเชือก)




4. การตัดกิ่งแขนง , การตัดยอด, การตัดใบ
- เมื่อเมล่อนอายุได้ประมาณ 30 วัน จะมีกิ่งแขนงงอกออกมาจากข้อใบแต่ละข้อ ให้เราเด็ดกิ่งแขนง ที่งอกออกมาระหว่างใบทิ้งให้หมด โดยนับจากข้อใบที่ 1 ถึงข้อใบที่ 7  (แนะนำให้เด็ดในช่วงเช้า) เนื่องจากกิ่งแขนงจะอิ่มน้ำ จะเด็ดง่ายและไม่ทำให้เมล่อนบอบช้ำมาก

- ให้ไว้กิ่งแขนงที่งอกออกมาจากข้อใบที่ 8 - 12 ไว้เพื่อให้เมล่อน สร้างดอกตัวเมียและติดผลในกิ่งแขนงดังกล่าว

- เมื่อเมล่อนมีข้อใบได้ประมาณ 25 ข้อ ให้เราตัดยอดเมล่อนทิ้งเพื่อให้ สารอาหารมาเลี้ยงเฉพาะผล และลำต้นที่เหลือ

- ให้เด็ดใบล่างของเมล่อน ที่ไม่ได้รับแสงออกไปประมาณ 3 - 4 ใบ เพื่อป้องกันเชื้อรา และแมลงที่อาจมารบกวนได้

- ให้ตัดปลายกิ่งแขนงที่ทำการผสมดอกและเมล่อนติดผลแล้วในกิ่งนั้นออก โดยให้เหลือใบเลี้ยงที่กิ่งแขนงประมาณ 2 - 3 ใบ




5. การผสมเกสรและการไว้ผลเมล่อน
- เมื่อเมล่อนสร้างดอกตัวเมียที่กิ่งแขนง ลักษณะของดอกตัวเมียจะดูได้จากฐานรองดอกจะมีลักษณะกลมรี เป็นกระเปราะเห็นชัดเจน  เมื่อวันที่ดอกตัวเมียบานให้เราช่วยต้นเมล่อนในการผสมเกสรดอก โดยให้เด็ดดอกตัวผู้ (ดอกตัวผู้มักเกิดที่ข้อใบแต่ละข้อ) ออกมาแล้วดึงกลีบดอกออกให้หมด แล้วนำช่อเกสรดอกตัวผู้ที่อยู่ด้านใน มาเขี่ยกับเกสรของดอกตัวเมีย

- การผสมเกสรแนะนำให้ทำในช่วงเช้าที่ดอกบาน ประมาณ 6.00 - 10.00 น. ซึ่งเวลาดังกล่าวดอกตัวเมียจะพร้อมที่สุดต่อการผสมเกสร หากเกินเวลาดังกล่าวกลีบดอกตัวเมียจะหุบและเฉาไป

- การผสมดอกตัวเมีย 1 ดอกจะใช้ดอกตัวผู้ประมาณ 3 ดอก ในการผสม

- เมื่อผสมเกสรดอกแล้วให้เราจดวันที่ผสมเกสรไว้แล้วแขวนป้ายวันที่ผสมไว้ที่ดอกนั้นด้วย เพื่อช่วยในการนับอายุผลของเมล่อนเพื่อการเก็บเกี่ยวต่อไป

- เมล่อนเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก ยิ่งในช่วงที่มีการพัฒนาผล  ให้เรารดน้ำ 3 เวลา คือเช้า-กลางวัน-เย็น

- เมล่อนเมื่อผสมเกสรไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ผลจะเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น เราต้องมีการผูกเชือกเพื่อทำการแขวนผล โดยให้เราใช้เชือกทำเป็นบ่วงคล้องที่ขั้วผล เพื่อรับน้ำหนักผลเมล่อนที่จะเพิ่มมากขึ้น

- หากปลูกนอกโรงเรือนแนะนำให้ห่อผลด้วยถุงกันแมลง เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืชมาเจาะทำลายผล

- การให้ปุ๋ยนั้นในช่วงการพัฒนาผลนั้น ให้เราใช้ปุ๋ย A,B ในอัตราส่วน 2.5 ซีซี / น้ำ 1 ลิตร และใช้ปุ๋ย K เสริมเพื่อให้ผลเมล่อนมีการสะสมแป้ง เพื่อพัฒนาให้เกิดความหวานมากขึ้น อัตราส่วนการใช้ K คือ 150 ถึง 200 มิลลิกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร (2 ซีซี / น้ำ 1 ลิตร) ฉีดพ่นทางใบ หรือเติมในระบบปลูกทุกๆ 5 - 7 วัน



6. การเก็บเกี่ยว
- การเก็บเกี่ยวเมล่อนส่วนใหญ่เราจะนับอายุของผลเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับชนิดและสายพันธุ์ของเมล่อนที่ปลูก โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 35 - 60 วัน หลังวันดอกบาน หรือวันที่ผสมเกสร 

- เมล่อนบางชนิดจะมีลักษณะพิเศษเห็นชัดเจนเมื่อผลสุกพร้อมเก็บ คือ มีรอยแตกที่ขั้วผลประมาณ 40 - 50%  บางชนิดจะมีกลิ่นหอมออกมาจากผล

- เมล่อนที่มีคุณภาพ จะต้องมีความหวานอย่างน้อย 14 องศาบริกซ์ขึ้นไป หรือไม่ควรต่ำกว่า 12 องศาบริกซ์ ก่อนการเก็บเกี่ยวเมล่อนประมาณ 1 สัปดาห์ ให้เราเริ่มลดปริมาณการให้น้ำต้นเมล่อนลง โดยสังเกตุที่ใบเมล่อนจะเริ่มเหี่ยวลงในช่วงกลางวัน การทำเช่นนี้เพื่อเร่งให้เมล่อนเร่งกระบวนการเปลี่ยนแป้งที่สะสมในผลให้เป็นน้ำตาล เพื่อเป็นการเพิ่มความหวานของผลให้มากขึ้น



โรคและแมลงศัตรูของเมล่อน
1. โรคเหี่ยวจากเชื้อรา (Fusarium Wilt) เป็นโรคที่เกิดกับพืชตระกูลแตงอย่างกว้างขวาง มีหลายเชื้อ

เชื้อสาเหตุ : 
Fusarium oxysporum f.sp. melonis : เป็นเชื้อสาเหตุ ของโรคเหี่ยวที่พบในเมล่อน ซึ่งจะมี 4 ชนิดเชื้อ (races)

ลักษณะอาการ : 
เชื้อสาเหตุเข้าสู่ต้นพืชทางราก ในระยะต้นอ่อนใบเลี้ยงจะเหี่ยว เปลี่ยนเป็นสีเหลือง ร่วง พืชแสดงอาการเหี่ยวเฉาจากส่วนยอดลงมา ส่วนของเถาของต้นที่โตแล้วจะแสดงอาการใบล่างเหลืองโดยอาการเริ่มต้นแสดงหลายอย่างเช่น ต้นแตก เกิดอาการเน่าที่โคนและซอกใบ ถ้าเกิดอาการเน่า และพบเชื้อราสีขาวบริเวณรอยแตก หลังจากนั้นพืชจะแสดงอาการเหี่ยวและตาย

การป้องกันกำจัด• ปรับสภาพความเป็นกรด – ด่าง ของดินปลูกให้เหมาะสมคืออยู่ที่ pH 6.5
• ใส่ปุ๋ยไนเตรท และไนโตรเจน จะสามารถลดความรุนแรงของโรค
• ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
• ถอนต้นที่เป็นโรค(เผา)ทิ้ง และป้องกันโรคโดยการใช้สารจุลินทรีย์ เช่น ไตรโคเดอร์มา
• ใช้ เบนเลทผสม แคปแทน หรือ เทอร์ลาคลอร์ ราดโคนก่อนปลูกและหลังปลูก 15 วัน


2. โรคต้นแตกหรือยางไหล ( Gummy Stem Blight )  


เชื้อสาเหตุ : Mycosphaerella melonis ( Didymella bryoniae )
เป็นโรคที่มีการระบาดอย่างกว้างขวางในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน เป็นโรคที่ติดสามารถติดมากับเมล็ดพันธุ์ โรคนี้จะเข้าทำลายพืชทางแผลที่ใบและลำต้น โรคต้นแตกยางไหลจะระบาดรุนแรงในสภาพแปลงปลูกที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูง หรือสภาพของแปลงที่มีอุณหภูมิกลางคืนต่ำ และมีความชื้นสูง

ลักษณะอาการ : อาการที่แสดงในใบแก่ แผลจะมีลักษณะกลม สีน้ำตาลอมแดง หรือมีสีดำ ขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตร รอบแผลจะมีสีเหลือง หลังจากนั้นแผลจะฉีกขาดหรือร่วง อาการเริ่มแรกจะปรากฏที่ขอบใบและขยายเข้าไปที่ส่วนกลางของใบ การเข้าทำลายส่วนของลำต้น อาการที่ปรากฏคือ จะมีแผล เชื้อสาเหตุจะสร้างเมือกเหนียวสีน้ำตาล หรือน้ำตาลอมแดง

การป้องกันกำจัด: การป้องกันและกำจัดสามารถทำได้ดังต่อไปนี้คือ
• การปลูกพืชหมุนเวียน
• ใช้พันธุ์ต้านทานโรค
• ใช้สารเคมีฉีดพ่นเช่น อ็อกเทพ โนมิลดิว ไดแทน เอ็ม - 45, บราโว , เทอร์รานิล หรือ เอคโค



3. โรคราแป้ง ( Powdery Mildew ) 


เชื้อสาเหตุ : Erysiphe cichoracearum De candolle
Sphaerotheca fuliginea : เป็นเชื้อสาเหตุของราแป้งในเมล่อน

การแพร่กระจาย : โดยทั่วไปจะมีการแพร่กระจายโดยลม จะระบาดอย่างกว้างขวางในสภาพที่มีอุณหภูมิสูง ความชื้นสัมพัทธ์ 50 – 90 % ความเข้มของแสงต่ำ มีน้ำค้างและมีการปลูกพืชในอัตราที่จำนวนต้นสูงจนเกินไป อย่างไรก็ตามโรคราแป้งสามารถที่จะระบาดได้ดีภายใต้สภาพการปลูกที่ไม่มีน้ำค้างได้เช่นเดียวกัน

ลักษณะอาการ : เชื้อสาเหตุเข้าทำลายพืชตระกูลแตงทุกชนิด ลักษณะอาการขั้นต้น จะปรากฏเป็นจุดเหลืองอ่อนที่ ลำต้น ยอดอ่อน ทั้งด้านบนและด้านล่างของใบ เมื่อแผลมีการขยายใหญ่ขึ้น จะมี สปอร์ของเชื้อราสีขาวคล้ายแป้งปกคลุม หลังจากนั้นใบจะเปลี่ยน เป็นสีเหลืองอมน้ำตาลและแห้งกรอบ
 การป้องกันและการกำจัด
• การใช้สายพันธุ์ต้านทานโรค
• บาวีซาน อัตรา 10 – 20 กรัม ต่อ น้ำ 20 ลิตรฉีดพ่น
• ฉีดพ่นด้วย กำมะถัน ชนิดละลายน้ำอัตรา 30- 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดในสภาพอุณหภูมิต่ำ ในกรณีที่อุณหภูมิสูงจะมีผลให้ใบของเมล่อนใหม้
• ใช้ ทอปซิน, เบเลตันฉีดพ่นตามอัตราที่กำหนด



4. โรคราน้ำค้าง ( Downy Mildew) 


เชื้อสาเหตุ  : Pseudoperonospora cubensis ( Berkeley & Curtis ) Roslowzew
เป็นโรคที่ สำคัญของพืชตระกูลแตงในเขตร้อนและกึ่งร้อน แพร่กระจายโดยลม ฝน และเครื่องมือการเกษตร

ลักษณะอาการ :  อาการเริ่มแรกจะพบที่ใบล่าง โดยเกิดเป็นจุดสีเหลืองหรือสีน้ำตาลขนาดเล็ก แล้วขยายขนาดใหญ่ขึ้นเป็นรูปเหลี่ยมอยู่ระหว่างเส้นใบ นอกจากนี้สามารถตรวจสอบบริเวณใต้ใบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเช้ามืด จะปรากฏเส้นใยเชื้อราสีขาว หรือสีเทา ใบพืชจะแห้งตายแต่ก้านใบจะชูขึ้น ขอบใบม้วน ใบจะร่วง 

การป้องกันกำจัด :
• ใช้สารเคมีฉีดพ่น โดยใช้ แทนเอ็ม 15 กรัม + โนมิลดิว 25 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นใต้ใบทุกๆ 7 วัน หากมีการระบาดรุนแรง ใช้ ลอนมิเนต 1- 2 ช้อนชาผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น ให้ทั่วทุก 7 วัน ประมาณ 2- 3  ครั้ง
• ฉีดพ่นด้วย ริดโดมิล โกล เอ็ม แซด , บราโว 82 W, เทอรานิล หรือ  เอคโค เมื่อโรคเข้าทำลาย 3- 7 วัน
• ใช้พันธุ์ต้านทาน



แมลงศัตรูที่สำคัญ

1. เพลี้ยไฟ (Thrips) 
          เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมากเท่าปลายเข็ม ตัวอ่อนมีสีแดง ตัวแก่เป็นสีดำ ดูดน้ำเลี้ยงที่ปลายยอดอ่อนของต้น ทำให้ยอดชะงักการเจริญเติบโต หดสั้น บิดเบี้ยว ระบาดมาในสภาพอากาศร้อนและแห้งของฤดูร้อน โดยมีลมเป็นพาหนะพาเพลี้ยไฟเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น ป้องกันกำจัดได้ด้วยการปลูกพืชที่กันชนที่ต้านทานเพลี้ยไฟ เช่น มะระ ล้อมรอบแปลง และ ฉีดพ่นป้องกันกำจัดแมลงโดยใช้ ยาเส้น 1 ขีด ต่อน้ำ 5 ลิตร แช่ 1 คืน  ฉีดพ่นทุกๆ 3 - 7 วัน 


2. ด้วงเต่าแตง (Leaf beatle) 
          เป็นแมลงปีกแข้ง ลำตัวยาวประมาณ 1 ซม. ปีกมีสีเหลืองปนส้ม กัดกินใบแตงให้แหว่งเป็นวงๆ ถ้าระบาดและทำความเสียหายให้กับใบจำนวนมาก ให้ฉีดพ่นด้วยเชื้อราบิวเวอร์เรีย


3. หนอนชอนใบ (Leaf minor) 
          เป็นแมลงตัวเล็กที่ชอนไชอยู่ใต้ผิวใบ กัดกินเนื้อใบเป็นทางยาวคดเคี้ยวไปทั่วทั้งผืนใบ โดยทั่วไปไม่พบว่ามีการระบาดมากในพืชตระกูลแตงเท่าใดนัก แต่ในกรณีที่มีการระบาดมาก และเกิดขึ้นในระยะแรกของการเจริญเติบโตจะทำให้พื้นที่ใบเสียหายส่งผลให้กระทบกระเทือนต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตต่อไปของต้นแตงเทศ วิธีการกำจัดต้องใช้สารสกัดจากสะเดา, ยาเส้น หรือบิวเวอร์เรีย

4. แมลงวันผลไม้ (Melon fruit fly) 
          เป็นแมลงที่ทำความเสียหายแก่ผลไม้มากที่สุดชนิดหนึ่ง ตัวเมียจะวางไข่ในผลไม้ใกล้สุก ทำให้เกิดตัวหนอนชอนไชอยู่ในผล ทำให้เกิดแผล เน่าเสียราคา วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันคือการห่อผลก่อนที่ผลไม้จะสุกแก่


ตัวอย่างการปลูกเมล่อนด้วยวิธีต่างๆ
http://www.youtube.com/watch?v=exmNdxzViEw  การปลูกเมล่อนโดยไม่ใช้ดิน

http://www.youtube.com/watch?v=g-i1rT2YTIY       การปลูกเมล่อนโดยไม่ใช้ดิน

http://www.youtube.com/watch?v=8TnVJ4E5bWk  การปลูกเมล่อน (ม.เกษตรศาสตร์)


ข้าวโพดหวานญี่ปุ่น (Sweet Corn Mirai F1 )



ข้าวโพดหวาน เป็นพืชไร่ที่ปลูกกันมาก ในแทบภาคกลาง จนถึงภาคเหนือของญี่ปุ่น โดยฟาร์มที่มีชื่อเสียงระดับโลกในการปลูกข้าวโพดของญี่ปุ่นคือ  คิตะมูระฟาร์ม  จังหวัดฮอกไกโด  และ อันไซฟาร์ม ที่เมือง Tateyama จังหวัดชิบะ   ซึ่งจังหวัดชิบะนี้ถือว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวโพดที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เนื่องด้วยปัจจัย 3 ประการที่ทำให้ข้าวโพดหวานจากชิบะมีรสชาดที่ดีคือ 
1.สภาพดินที่มีความร่วนซุยมีปริมาณธาตุอาหารที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวโพด 
2.จังหวัดชิบะเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคกลางของญี่ปุ่นเป็นพื้นที่ๆ ได้รับแสงแดดตลอดเกือบทั้งปี 
3.ความแตกต่างกันของอุณหภูมิในช่วงกลางวันกับกลางคืนโดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคม ซึ่งปัจจัยนี้มีผลอย่างมากที่ทำให้รสชาติของข้าวโพดหวานอร่อยขึ้น   


โดยข้าวโพดหวาน ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมมากในญี่ปุ่นจะมีอยู่ 4 สายพันธุ์ด้วยกันคือ

- เพียวไวท์ (เนื้อสีขาวนวลฝักใหญ่ เนื้อกรอบหวานฉ่ำ)
- ปิกนิก (เนื้อสีเหลืองนวลฝักเล็ก ตลาดไม่ค่อยนิยมแต่เป็นสายพันธุ์ที่หวานที่สุด)
- มิไร (เนื้อสีเหลืองนวล ฝักขนาดกลาง เนื้อกรอบหวานฉ่ำ มีกลิ่นหอม ในญี่ปุ่นเป็นสายพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุด)
- กาวิซึ (เหลืองปนขาวฝักใหญ่ เนื้อหวานนุ่มเหนียว คล้ายๆข้าวโพดสาลีบ้านเราแต่กากน้อยกว่ามาก)

ทางเซนฯ ได้นำเข้าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวาน สายพันธุ์ มิไร (Mirai F1) เข้ามาจำหน่าย เนื่องจากข้าวโพดสายพันธุ์นี้มีจุดเด่นคือ สามารถทานสดได้มีกลิ่นหอม  มีฝักที่ใหญ่พอประมาณ ความยาวของฝักประมาณ 5 - 6 นิ้ว เนื้อมีสีเหลืองนวล ในฝักมีแถวเมล็ดประมาณ 16 แถว มีเปลือกหุ้มฝักสีเขียวเข้ม เนื้อข้าวโพดมีกลิ่นหอม เนื้อกรอบ หวานฉ่ำน้ำ  มีปริมาณของแป้งต่ำ  ความหวานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 13 - 18 องศาบริกซ์ (ขึ้นอยู่กับสภาพดิน อากาศ การปลูกดูแลรักษา)  ที่สำคัญเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกง่าย ทนต่อโรคราน้ำค้าง, โรคราสนิม, โรคใบไหม้ ได้ดีมาก

* * ข้อมูลข้าวโพดหวานในญี่ปุ่น * *
https://www.youtube.com/watch?v=RpgIOzrCja8

https://www.youtube.com/watch?v=hAVYiNdh9cs


https://www.youtube.com/watch?v=PmJK2Ez9B7M


*****************************************************************

ข้อมูลจำเพาะ และวิธีปลูกข้าวโพดหวาน

ข้าวโพดหวาน  เป็นพืชอยู่ในตระกูล Gramineae ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับหญ้าหรือข้าว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zeamays Line var. rugasa หรือ saccharata  มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้  ข้าวโพดหวานมีคุณประโยชน์มากมาย นอกจากจะใช้รับประทานเป็นผักสดแล้ว ยังสามารถนำไปแปรรูปได้หลาย รูปแบบ เช่น ข้าวโพดหวานบรรจุึกระป๋องทั้งฝัก หรือบรรจุกระป๋องเฉพาะเมล็ด ทำครีมข้าวโพดหวานข้าวโพดแช่แข็ง ซึ่งผลิตภัณฑ์ ต่างๆ เหล่านี้ สามารถส่งไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และกลุ่มประเทศในแถบยุโรป

ลักษณะทั่วไปของข้าวโพด
1. ลักษณะลำต้นตั้งตรงภายในลำต้นมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ ความสูงของลำต้นประมาณ 1 - 4 เมตร
2. ลักษณะใบ เป็นใบเดีี่ยวขึ้นเรียงสลับบนลำต้น ใบมีลักษณะเรียวยาว ปลายแหลม มีขนอ่อนปกคลุมอยู่บนใบ
3. ลักษณะดอก ข้าวโพดจะออกดอกเป็นช่อ มีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน โดยดอกตัวผู้จะออกที่บริเวณปลายยอด และดอกตัวเมียจะอยู่ต่ำลงมาออกระหว่างกาบของใบและลำต้น  เรียงเป็น 2 แถว มีประมาณ 8 - 18 ดอก  โดยดอกย่อยจะมีก้านเกสรตัวผู้จำนวน 9 - 10 อัน และมีอับเรณูสีเหลืองส้ม ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร  ส่วนยอดเกสรตัวเมียจะเป็นเส้นบางๆ ยื่นออกมาจำนวนมากคล้ายกับเส้นไหม (หรือที่เรามักเรียกว่าหนวดข้าวโพด) เมื่อดอกเพศเมียได้รับการผสมกับเกสรตัวผู้ที่อยู่ยอดด้วยบนแล้วดอกตัวเมียจะเจริญเติบโตกลายเป็นฝักข้าวโพดต่อไป
4. ลักษณะฝักข้าวโพด จะถูกหุ้มด้วยกาบบางหลายชั้น เมื่อฝักข้าวโพดยังเล็กอยู่เปลือกหุ้มนี้จะมีสีเขียว แต่เมื่อฝักเจริญเติบโตเต็มที่เปลือกหุ้มนี้จะเริ่มมีสีอ่อนลงกลายเป็นสีเหลืองนวล  ฝักข้าวโพดมีรูปทรงเป็นทรงกระบอกในหนึ่งฝักจะมีเมล็ดเรียงเป็นแถวประมาณ 8 - 10 แถวแต่ละแถวจะมีเมล็ดประมาณ 30 เมล็ดและจะมีสีแตกต่างกันไปตามลักษณะของสายพันธุ์ เช่น สีเหลือง, สีขาว, สีม่วง, สีดำ




ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ข้าวโพดหวานเป็นล้มลุกใบเลี้ยงเดี่ยว อายุสั้น จัดอยู่ในตระกูล Gramineae เป็นพืชตระกูลเดียวกับหญ้าที่ผสมข้ามพันธุ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zea mays Line.Var Saccharata.
ข้าวโพดหวานเป็นพืชไม่มีรากแก้ว มีเพียงระบบรากฝอยที่เจริญจาก 2 ส่วน คือ รากส่วนที่หนึ่ง เจริญมาจากคัพภะ เรียกว่า primary root เป็นรากที่พัฒนาจาก radical มีรากแขนงที่แตกออกจาก primary root เรียกว่า lateral root และระบบรากที่เกิดขึ้นจาก scutellar node เรียกว่า seminal root รากทั้งหมดจะเติบโตในระยะเวลาสั้นในระยะที่ข้าวโพดหวานเป็นต้นกล้า และจะตายเมื่อต้นข้าวโพดเจริญเติบโตมากขึ้น ส่วนที่ 2 เป็นรากที่เจริญจากลำต้น เรียกว่า adventitious root โดยแตกออกจากส่วนข้อช่วงข้อล่างของลำต้น ประมาณข้อที่ 1-2 ซึ่งจะแทงรากลงดิน

ลำต้นประกอบด้วยข้อ และปล้อง มีลักษณะแก่นเนื้อไม่กลวง บริเวณข้อมีเนื้อเยื่อเจริญที่เป็นจุดกำเนิดของราก (ข้อ 1-2) ตา และกาบใบ มีลักษณะปล้องสั้น ใหญ่ที่โคนต้น และปล้องยาว เล็กตามระยะตามความสูงเพิ่มขึ้น
ใบประกอบด้วยกาบใบที่หุ้มลำต้น และแผ่นใบแผ่กาง มีเส้นกลางใบชัดเจน ใบมีลักษณะเรียวยาว ปลายใบแหลม ใบมีสีเขียวอ่อนถึงเขียวแก่ตามอายุของใบ

– ช่อดอกตัวผู้ เรียกว่า tassel และช่อดอกตัวเมีย เรียกว่า ear อยู่บนต้นเดียวกัน แต่แยกอยู่คนละดอก โดยช่อดอกตัวผู้จะอยู่ที่ส่วนยอดของลำต้น
– ช่อดอกตัวเมีย เกิดบริเวณตาที่มุมใบบริเวณส่วนบนของข้อ ประมาณข้อที่ 6 นับจากใบธงลงมา ช่อดอกตัวเมียมีลักษณะเป็นเส้นเรียวยาว ที่เรียกว่า ไหม ไหมอ่อนจะมีสีน้ำตาลอ่อนๆ หรือสีเหลืองปน ม่วงอ่อนๆ ผิวเส้นมันค่อนข้างเหนียว เมื่อฝักแก่เส้นนี้จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เรียกว่า “Corn Silk”

ส่วนของฝักจะเป็นส่วนที่พัฒนามาจากช่อดอกตัวเมีย ประกอบด้วยผล และเมล็ด ที่เป็นแบบ caryopsis คือ มีเยื่อหุ้มผลติดกับเยื่อหุ้มเมล็ด ที่มีลักษณะเป็นเยื่อบางใสไม่มีสี เยื่อหุ้มผล และเยื่อหุ้มเมล็ด เรียกรวมกันว่า hull เมล็ดจะเป็นส่วนสะสมแป้งบริเวณส่วนของเอนโดสเปิร์ม การสะสมแป้งจะเต็มที่เมื่อข้าวโพดแก่จัด ซึ่งระยะนี้จะพบแผ่นเยื่อสีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำบริเวณโคนเมล็ด

ผลผลิตข้าวโพดหวาน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1. ผลผลิตทางชีวภาพ หมายถึง ผลผลิตโดยรวมของใบ กิ่ง ลำต้น ราก และเมล็ด ซึ่งก็คือ ผลผลิตทางชีวภาพเป็นผลผลิตรวมทุกส่วนของต้นข้าวโพดหวาน
2. ผลผลิตทางเศรษฐกิจ หมายถึง ผลผลิตของต้นข้าวโพดหวานเฉพาะส่วนที่มนุษย์เก็บเกี่ยวไปใช้ประโยชน์ เช่น ฝักข้าวโพด ใบข้าวโพดสำหรับอาหารสัตว์ เป็นต้น

ลักษณะของต้นข้าวโพดหวาน



เกสรดอกตัวผู้

เกสรดอกตัวเมีย

ชนิดของข้าวโพด  จะแบ่ง ออกเป็น 7 ชนิด โดยจำแนกตามลักษณะภายนอกของเมล็ดและลักษณะของแป้ง
1. ข้าวโพดไร่ชนิดหัวบุบ  (Dent Corn)  มีลักษณะของเมล็ดตอนบนมีรอยบุบสีขาว เนื่องจากตอนบนเป็นแป้งชนิดอ่อน ส่วนด้านข้างเป็นแป้งชนิดแข็ง เมื่อนำมาตากแห้งจึงเกิดการยุบตัว

2. ข้าวโพดไร่ชนิดหัวแข็ง (Flint Corn) เป็นชนิดที่มีเมล็ดค่อนข้างแข็ง เมล็ดกลมเรียบ หัวไม่บุบ ด้านนอกหุ้มด้วยแป้งชนิดแข็ง เมื่อนำมาตากแห้งจึงไม่หดตัวหรือยุบตัว โดยมีขนาดของฝักและจำนวนแถวของเมล็ดน้อยกว่าชนิดหัวบุบ


3. ข้าวโพดหวาน (Sweet Corn) เป็นชนิดที่ปลูกเพื่อรับประทานฝักสดโดยเฉพาะ มีเมล็ดอ่อน มีรสหวานอร่อย เนื่องจากมีน้ำตาลมาก


4. ข้าวโพดคั่ว (Pop Corn) มีขนาดเมล็ดค่อนข้างเล็ก มีแป้งแข็งอยู่ภายใน ภายนอกห่อหุ้มด้วยสารที่ค่อนข้างเหนียวและยืดตัวได้ภายในมีความชื้นอยู่พอสมควร เมื่อถูกความร้อนจะเกิดแรงดันภายในเมล็ด และระเบิดออกมา  ซึ่งโดยทั่วไปจะแบ้งตามรูปร่างของเมล็ดได้ 2 จำพวก คือ เมล็ดหัวแหลม (Rice Pop corn) และเมล็ดกลม (Pearl Pop corn)


5. ข้าวโพดข้าวหนียว หรือ ข้าวโพดเทียน  (Waxy Corn)  เมล็ดจะมีความเหนียวคล้ายขี้ผึ้ง  แป้งที่ได้จะมีลักษณธคล้ายกับแป้งจากมันสำปะหลัง  ข้าวโพดชนิดนี้ปลูกเพื่อรับประทานฝักสดคล้ายกับข้าวโพดหวาน แต่รสชาดจะไม่หวานเท่า แต่เมล็ดจะมีความเหนียวนิ่ม 


6. ข้าวโพดแป้ง (Flour Corn) โดยเมล็ดของข้าวโพดชนิดนี้จะมีแป้งปริมาณมากกว่าชนิดอื่นๆ ลักษณะภายนอกจะเหมือนกับข้าวโพดไร่ชนิดหัวแข็ง แต่หัวจะบุบเพียงเล็กน้อย


7. ข้าวโพดป่า (Pod Corn) เมล็ดมีเปลือกหุ้มทุกเมล็ด และยังมีฝักอีกชั้นหนึ่ง ข้าวโพดชนิดนี้ไม่นิยมนำมาปลูกในเชิงเศรษฐกิจ แต่เป็นชนิดที่นำมาปลูกเพื่อการศึกษาเท่านั้น




ฤดูปลูก

ข้าวโพดหวาน  สามารถปลูกได้ตลอดปี แต่นิยมปลูกกันมากในช่วงฤดูฝน และสามารถปลูกได้ดีในดินทุกสภาพ แต่จะขึ้นได้ดีในสภาพดินร่วนปนทราย จะทำให้ผลผลิตดีและเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าความเป็นกรด-ด่าง ของดินที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 6.0-6.5 ข้าวโพดหวานต้องการแสงแดด เต็มที่ตลอดวัน


อุณหภูมิที่เหมาะสม

อุณหภูมิที่เหมาะสมในการปลูกข้าวโพดหวาน เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงที่สุดจะอยู่ในช่วง 24-30 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิกลางคืน อยู่ในช่วง 15-18 องศาเซลเซียส จะทำให้ข้าวโพดหวานมีคุณภาพดีและมีความหวานสูง


การเตรียมแปลงปลูก

การปลูกข้าวโพดหวานจะแตกต่างจากการปลูกข้าวโพดไร่ เพราะข้าวโพดหวานต้องดูแล และปฏิบัติอย่างพิถีพิถัน เช่นเดียวกับการ ปลูกพืชผัก จึงจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ดังนั้นในการเตรียมดินและการปลูกต้องการทำอย่างประณีต โดยการไถดินลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร แล้วตากทิ้งไว้ 7-10 วัน เพื่อกำจัดไข่แมลงและเมล็ดวัชพืช หากมีการใส่ปุ๋ยคอกหรือหว่านปูนขาวเพื่อปรับ สภาพดินควรใส่ในช่วงนี้ แล้วจึงไถพรวนอีกครั้ง จากนั้นวัดระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 80-100 เซนติเมตร ความยาวขึ้นอยู่กับ พื้นที่ ทำการขุดเป็นร่องลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร ถ้าหากสภาพดินแห้งไม่มีความชื้น ควรปล่อยน้ำเข้าตามร่อง หรือทำให้ดิน มีความชื้นบริเวณ


การปลูกข้าวโพดหวาน

ทำการเจาะหลุมปลูกบริเวณข้างๆ ร่อง ใช้ระยะห่างระหว่างหลุม(ต้น) ประมาณ 25-35 เซนติเมตร นำเมล็ดข้าวโพดหวานหยอดลงไป หลุมละ 1-2 เมล็ด ในพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 1-1.5 กิโลกรัม หลังหยอดเมล็ดแล้วไม่ควรปล่อยดินแห้งเกินไป ควรให้ดินมีความชื้นอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรให้น้ำมากเกินไป ซึ่งจะทำให้เมล็ดข้าวโพดเน่าได้ หลังจากหยอดเมล็ดพันธุ์ 5-7 วัน ข้าวโพดก็จะเริ่มงอก ให้สังเกตุดูว่าถ้าหลุมที่ไม่งอกให้รีบปลูกซ่อมทันที


การปฏิบัติดูแลรักษาข้าวโพดหวาน

- การถอนแยกต้น ควรกระทำหลังจากหยอดเมล็ด 12-14 วัน โดยการถอนแยกให้เหลือหลุมละ 1 ต้น
- การให้ปุ๋ย
ครั้งที่ 1 หลังจากหยอดเมล็ดประมาณ 14-10 วัน โดยการใส่ปุ๋ย 46-0-0 ผสมกับปุ๋ย 15-15-15 ในอัตรา 1:1 (ประมาณ 50 ก.ก./ไร่) โดยหว่านที่ร่องน้ำข้างๆ ต้น แล้วกลบโคนต้น

ครั้งที่ 2 เมื่อข้าวโพดหวานเริ่มติดฝักอ่อนโดยการใส่ปุ๋ยสูตร 14-14-21 หรือ 13-13-21 อัตราประมาณ 50 ก.ก./ไร่ โดยหว่าน ที่ร่องพื้นแล้วกลบโคนต้น
- การใ้หน้ำ ให้น้ำอย่างสม่ำเสมออย่าให้ขาดน้ำ โดยปล่อยเข้าตามร่องน้ำหรือให้แบบสปริงเกอร์
- การกำจัดวัชพืช กระทำพร้อมๆ กับการกลบโคนต้นและการให้ปุ๋ย
- การฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรคและแมลง การปลูกข้าวโพดหวานต้องระวังในเรื่องของหนอนเจาะฝัก หรือเจาะลำต้น ควรฉีดพ่น ยาพวกคาร์บาริล หรือยาพวกถูกตัวตาย เช่น เมทโธมิล


การเก็บเกี่ยวและการรักษา

การเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวานเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้ข้าวโพดหวานมีคุณภาพดีหรือเลว ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดหวานเพื่อส่ง โรงงานหรือจำหน่ายฝักส ควรเลือกเก็บเกี่ยวในระยะที่มีน้ำตางสูงที่สุด และคุณภาพดีที่สุด หรือระยะที่เรียกว่า ระยะน้ำนม (Milk Stage) หากเลยระยะนี้ไปแล้วปริมาณน้ำตาลจะลดลงและมีแป้งเพิ่มขึ้น การเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวานมีหลักพิจารณาง่ายๆ คือ
  1. นับอายุ หลังจากวันหยอดเมล็ด วิธีการนี้ต้องทราบอายุของข้าวโพดหวานแต่ละพันธุ์ว่าเป็นพันธุ์หนัก, เบา หรือปานกลาง เช่นพันธุ์เบา อายุ 55-65 วัน พันธุ์ปานกลาง 70-85 วัน และพันธุ์หนักตั้งแต่ 90 วันขึ้นไป
  2. เก็บสุ่มตัวอย่างในแปลงมาตรวจดู วิธีนี้แน่นอน และนิยมกระทำกัีนมากที่สุด การเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวาน ควรเก็บเกี่ยวในเวลา เช้าตรู่และรีบส่งตลาดทันที ไม่ควรทิ้งไว้เกิน 24 ชั่วโมง เพราะจะทำให้น้ำตาลลดลง


โรคราน้ำค้าง หรือโรคใบลาย (Corn Downy Mildew)


โรคราน้ำค้างของข้าวโพด หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าโรคใบลาย เป็นโรคที่ทำความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงให้แก่แหล่งที่ปลูกข้าวโพดในหลายประเทศ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เวียดนาม และประเทศไทย การสำรวจพบโรคนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ อำเภอพยุหะคีรีและอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อปี2511 ต่อมาพบระบาดอีกในหลายจังหวัด เช่น ลพบุรี ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา จนถึงปัจจุบันนอกจากจังหวัดที่ได้กล่าวถึงโรคนี้ระบาดไปทุกแหล่งที่มีการปลูกข้าวโพด โดยเฉพาะกาญจนบุรีและอุทัยธานีที่มีการปลูกข้าวโพดติดต่อกันตลอดปี พบว่าไม่สามารถควบคุมโรคโดยใช้สารเมตาแลคซิลที่เคยใช้ได้ผลในอดีตที่ผ่านมา ความรุนแรงของโรคทำให้ผลผลิตข้าวโพดลดลง 30-80 เปอร์เซ็นต์ ในแหล่งที่โรคระบาดรุนแรงและพันธุ์ข้าวโพดที่อ่อนแอจะทำความเสียหายถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดพันธุ์พื้นเมือง เช่น ข้าวโพดเทียนและข้าวโพดข้าวเหนียว เป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคมาก 


ลักษณะอาการของโรค มี 3 ลักษณะดังนี้ 

1.) Infection site หรือบางครั้งเรียกว่า infection point อาการที่มีลักษณะเป็นจุดเล็กๆขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 มิลลิเมตร จุดมีลักษณะเป็นสีเขียวฉ่ำน้ำ เกิดจากการเข้าทำลายของ germ tube ที่งอกออกจากสปอร์ มักเกิดและเห็นได้ชัดกับข้าวโพดที่ระยะกล้าอายุประมาณไม่เกิน 1 สัปดาห์ 


2.) Local symptom อาการเฉพาะแห่ง เป็นลักษณะอาการที่เกิดต่อมาจากอาการแบบที่1พบเป็นทางยาวสีเหลืองหรือสีเขียวอ่อนสลับกับเขียวแก่ แผลจะขยายจากจุด infection site ลามลงมาทางโคนใบ ต่อมาเมื่อข้าวโพดอายุมากเข้ารอยสีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ลักษณะคล้ายใบไหม้และแห้งตายในที่สุด 


3.) Systemic symptom อาการกระจายทั่วต้น ลักษณะอาการที่ต้นข้าวโพดมีใบสีเหลืองซีดโดยเฉพาะในบริเวณยอด ต้นแคระแกรน เตี้ย ข้อถี่ ไม่มีฝักหรือมีฝักขนาดเล็ก ก้านฝักมีความยาวมากหรือมีจำนวนฝักมากกว่าปกติ แต่จะไม่สมบูรณ์ เช่น มีเมล็ดจำนวนน้อยหรือไม่มีเมล็ดเลย บางครั้งใบยอดมีลักษณะอาการใบลายเป็นทางสีเขียวอ่อนสลับกับเขียวแก่ หลังจากใบแรกที่แสดงอาการแบบนี้แล้ว ใบที่เจริญต่อมาจะแสดงอาการแบบ systemic หมด ถ้าความชื้นสูงเชื้อทำให้เกิดอาการยอดแตกฝอยเป็นพุ่ม เกสรตัวผู้กลายเป็นเกสรตัวเมียสร้างเมล็ดและต้นอ่อน


สภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการระบาดของโรค

1.) ความชื้นของบรรยากาศค่อนข้างสูง โดยเฉพาะบริเวณที่มีน้ำค้าง อากาศเย็น และฝนตกชุกอย่างไรก็ตามแม้ว่าฝนจะตกชุกแต่ดินไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้ ทำให้ความชื้นที่สูงเกิดในระยะเวลาสั้นๆ โรคก็เกิดน้อย


2.) อุณหภูมิของบรรยากาศ เชื้อโรคนี้จะเจริญได้ดีในที่อุณหภูมิค่อนข้างเย็น คือประมาณ 20-26 องศาเซลเซียส 


เชื้อสาเหตุ 

เชื้อรา Peronosclerospora sorghi (Weston &Uppal) C.G. Shaw เชื้อราชนิดนี้มีก้านชูสปอร์ตรง แผ่ขยายออกที่ปลาย สีใส มีขนาด 180-300 ไมครอน มักจะแตกแขนงแบบสองแฉกเสมอ แทงทะลุออกมาจากปากใบข้าวโพดแบบเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม จากใต้ใบและด้านบนของใบ สปอร์ใสรูปไข่หรือรียาวมีขนาดอยู่ระหว่าง 14.4-27.3x15-28.9 ไมครอน ติดอยู่บนก้านชูเรียวแหลมยาวประมาณ 13 ไมครอน 


การงอกของสปอร์โดยสร้างท่อเล็กยาว เมื่อมีหยดน้ำแล้วแทงทะลุผ่านปากใบเข้าทำลายพืช เมื่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมเชื้อราสร้างสปอร์ผนังหนา รูปร่างยาวรี ฝังตัวอยู่ในเนื้อใบบริเวณท่อน้ำท่ออาหาร มีขนาด 25-42.9 ไมครอน สีใส ผนังสีเหลือง เพื่อคงทนต่อสภาพแวดล้อมและติดไปกับเมล็ด ใบข้าวโพดที่แสดงอาการโรค เชื้อราจะสร้างสปอร์เมื่อมี  ความชื้นสูง อุณหภูมิระหว่าง 17-29 oซ ช่วงที่เหมาะสมคือ 24-26 oซ การงอกของ สปอร์ต้องการความชื้นสัมพัทธ์สูง อุณหภูมิ 21-25 oซ ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังเที่ยงคืนแล้ว สปอร์มีอายุเพียง 3-4 ชั่วโมง และเมื่อถูกแสงแดดยามเช้าก็ตายไป การเข้าทำลายพืชทั้งต้นสามารถพบได้ที่ อุณหภูมิ 11-32 oซ ที่มีความชื้นอย่างน้อย 4 ชม. 


การแพร่ระบาด 

โรคจะเริ่มระบาดตอนต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคมไปจนสิ้นฤดูฝนเมื่อฝนตกต้องตามฤดูกาล อุณหภูมิ 20-26 oซ และความชื้นสูงเหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อราชนิดนี้มาก โดยสามารถพบเชื้อโรคสร้างสปอร์ เป็นผงสีขาวๆบนผิวใบที่ลายของข้าวโพดในเวลาเช้ามืดของคืนที่มีฝนตกและอากาศค่อนข้างเย็น เมื่อสปอร์แก่จะแพร่ระบาดไปโดยลมเข้าทำลายต้นอื่นๆ ต่อไป นอกจากนี้เชื้อที่ติดไปกับเมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่แห้งดี เชื้อโรคที่ตกอยู่ในดิน หรือที่เกิดบนพืชอาศัยอื่น พอสรุปได้ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโรคมาจากแหล่งต่างๆ ดังนี้


1.) ใบข้าวโพดที่เป็นโรค

2.) ติดมากับเมล็ดข้าวโพดจากต้นที่เป็นโรค 

3.) พืชอาศัยบางชนิด เช่น ข้าวฟ่าง หญ้าพงหรือแขม หรืออ้อยเลา หรือหญ้าคาหลวง (Saccharum spontaneaum) 

4.) เชื้อราอาจจะตกค้างในดินในรูปของสปอร์ที่มีผนังหนา                 


การป้องกันกำจัด 

1.) หลีกเลี่ยงการปลูกก่อนฝนตกชุกหรือปลูกก่อนฤดูฝน ซึ่งโดยปกติพบว่าโรคนี้มักระบาดในช่วงฤดูฝนกับข้าวโพดที่มีอายุประมาณ 1-3 สัปดาห์จะอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อโรคมาก แต่ถ้าต้นข้าวโพดมีอายุมากกว่า 1 เดือน พบว่ามีอัตราการเกิดโรคน้อย 
2.) การกำจัดพืชอาศัย เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ลดการอยู่ข้ามฤดูของเชื้อสาเหตุได้ พบว่า หญ้าเจ้าชู้ ข้าวฟ่าง หญ้าพง และอ้อย แสดงอาการโรคราน้ำค้าง สปอร์ที่สร้างบนพืชทั้งสี่สามารถทำให้เกิดโรคดังกล่าวแก่ข้าวโพดได้ หรือข้าวโพดที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยวหรือต้นอ่อนที่งอกใหม่จากเมล็ดที่ร่วงหล่นในแปลง เชื้อสาเหตุของโรคก็สามารถอยู่ข้ามฤดูได้เช่นกัน 
3.) หลีกเลี่ยงการใช้เมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่มีโรคระบาดมาทำพันธุ์
4.) ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ตากแห้งสนิท (ความชื้นประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์) มาทำพันธุ์ เพื่อป้องกันเชื้อที่ติดมากับเมล็ด เมล็ดข้าวโพดที่ได้จากต้นที่เป็นโรคเมื่อยังมีความชื้นในเมล็ดสูง(15-20เปอร์เซ็นต์) จะสามารถถ่ายทอดเชื้อโรคได้
5.) ใช้พันธุ์ต้านทาน ปัจจุบันมีข้าวโพดทั้งสายพันธุ์ลูกผสมและสายพันธุ์แท้เป็น จำนวนมาก มีความต้านทานเชื้อสาเหตุโรคราน้ำค้างได้ดีและให้ผลผลิตสูง เช่น พันธุ์นครสวรรค์ 1 นครสวรรค์ 72 สุวรรณ 1 สุวรรณ 5 สุวรรณ 3601
6.) การใช้สารเคมีเมตาแลกซิล (Apron 35 SD) ในอัตรา 7 กรัม ต่อน้ำหนักเมล็ด1 กิโลกรัม คลุกเมล็ดก่อนปลูก สามารถป้องกันกำจัดโรคนี้ได้ แต่ในท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี และอุทัยธานี ไม่สามารถใช้สารนี้ป้องกันกำจัดโรคได้

โรคใบไหม้แผลเล็ก  (Southern or Maydis LeafBlight)


การระบาดของโรคนี้ในประเทศไทยมีเสมอทุกปีและระบาดเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่จนถึงปัจจุบันโดยมีความรุนแรงกับข้าวโพดสายพันธุ์แท้(Inbred line)บางสายพันธุ์ ข้าวโพดหวานข้าวโพดเทียน ข้าวโพดข้าวเหนียว


ลักษณะอาการ

ระยะแรกจะเกิดจุดเล็กๆสีเขียวอ่อนฉ่ำน้ำต่อมาจุดจะขยายออกตามความยาวของใบโดยจำกัดด้านกว้างของแผลขนานไปตามเส้นใบตรงกลางแผลจะมีสีเทาขอบแผลมีสีเทาน้ำตาล ขนาดของแผลไม่แน่นอนแผลที่ขยายใหญ่เต็มที่มีขนาดกว้าง 6-12 มิลลิเมตร และยาว 6-27 มิลลิเมตรในกรณีที่ใบข้าวโพดเป็นโรครุนแรงแผลจะขยายตัวรวมกันเป็นแผลใหญ่และทำให้ใบแห้งตายในที่สุดอาการของโรคเมื่อเกิดในต้นระยะกล้าจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันทุกใบอาจจะเหี่ยวและแห้งตายภายใน 3-4 สัปดาห์หลังปลูกแต่ถ้าเกิดกับต้นแก่อาการจะเกิดบนใบล่างๆ ก่อน นอกจากจะเกิดบนใบแล้วยังเกิดกับต้นกาบใบ ฝักและเมล็ดอีกด้วย


เชื้อสาเหตุ

เกิดจากเชื้อรา Bipolaris maydis(Nisik.) Shoemaker. มีชื่อเดิมว่า Helminthosporium maydisNisik. เข้าทำลายข้าวโพดในเขตอบอุ่นและร้อนชื้น ลักษณะทางสัณฐานวิทยาเชื้อมีสปอร์ยาวโค้ง ปลายเรียวมน ไม่มีhilum สีเขียวมะกอก มีขนาดระหว่าง 10 -17x30-115 ไมครอน มีผนังกั้น 3-13 เซลล์ การงอกgerm tube ออกทางปลายทั้งสองด้านเมื่อนำใบข้าวโพดเป็นโรคมาบ่มที่ความชื้น ในอุณหภูมิห้องจะสร้างสปอร์ในเวลา 24-48ชม.ก้านชูสปอร์ยาวประมาณ 120-170 ไมครอนเจริญออกมาจากปากใบ


ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อจะสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ (perfect stage) เรียกว่า Pseudothecia มีชื่อเรียกว่าCochliobolus heterostrophus (Drechs.) Drechs. รูปร่างกลม สีดำมีส่วนปากค่อนข้างแหลมยื่นออกมาขนาด 0.4-0.6 มม. ภายในมีถุงบรรจุascusรูปทรงกระบอกซึ่งมี ascospore จำนวน 4-8 สปอร์ลักษณะใส ไม่มีสีมี 5-9 เซลล์รูปร่างคล้ายเส้นด้ายขนาด 6-7x130-340 ไมครอนพันกันเป็นเกลียวอยู่ภายในถุงบรรจุสปอร์การสืบพันธุ์แบบนี้ทำให้เกิดการผันแปรทางพันธุกรรมของเชื้อจึงพบเสมอว่ามีโรคสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น รุนแรงกว่าเดิมเข้าทำลายข้าวโพด 


การแพร่ระบาด

เชื้อโรคสามารถระบาดจากต้นหนึ่งไปสู่อีกต้นหนึ่งหรือจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งโดยติดไปกับเมล็ดที่เป็นโรคและโดยทางลมหรือฝนนำสปอร์ปลิวไปเมื่อเข้าทำลายพืชเป็นแผลบนใบสามารถสร้างสปอร์อีกมากมายแพร่กระจายในแหล่งปลูก วงจรของโรคเริ่มจากเข้าทำลายจนสร้างสปอร์ใหม่ ภายในเวลา 60-72ชั่วโมง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ที่ความชื้นสูง อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 20-320ซเชื้อราสามารถเข้าทำลายข้าวโพดได้หลายครั้งในแต่ละฤดูจากสปอร์ใหม่ที่เกิดขึ้นแพร่กระจายไปกับลมและฝน แล้วเข้าทำลายข้าวโพดอีกหลายรอบ เชื้อราสามารถมีชีวิตได้ในใบข้าวโพดนานถึง 8 เดือนและมีชีวิตในเมล็ดข้าวโพดได้นานกว่า 1 ปี นอกจากนี้ยังพบว่าหญ้าเดือยเป็นพืชอาศัยของเชื้อราชนิดนี้ ศิวิไล(2544)ศึกษาพบว่าโรคนี้ในประเทศไทยมี mating type 2 แบบ คือ M1-1 และ M1-2กระจายอยู่ในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน อาจพบในแหล่งปลูกเดียวกันเชื้อราที่แยกจากใบข้าวโพดที่เป็นโรคสามารถเกิดการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศได้บนอาหารเลี้ยงเชื้อ


การป้องกันกำจัด

1.) ใช้เมล็ดพันธุ์จากต้นที่สมบูรณ์ปราศจากโรค

2.) หมั่นตรวจไร่อยู่เสมอตั้งแต่ระยะกล้าเมื่อพบโรคเริ่มระบาดให้ถอนแล้วเผาทำลายจากนั้นใช้สารเคมีไตรโฟรีน20 (ซาพรอล) อัตรา 60 ซซ. ต่อน้ำ 20ลิตร ฉีดพ่นสามารถป้องกันกำจัดโรคได้

3.) ทำลายพืชอาศัยของโรค เช่น หญ้าเดือย (Rottboellia exaltata)

4.) ทำลายเศษซากของข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยวเพราะจากการศึกษาพบว่าเชื้อราสามารถอยู่ข้ามฤดูบนเศษซากของข้าวโพดได้


5.) ปลูกพันธุ์ต้านทานต่อโรค เช่น นครสวรรค์ 1 นครสวรรค์ 72 สุวรรณ 1 สุวรรณ2

โรคใบไหม้แผลใหญ่ (Northern corn leaf blight)


ในปี พ.ศ. 2507 กรมกสิกรรมและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รายงานว่า พบการระบาดของโรคนี้ในประเทศไทยทุกปี และปี พ.ศ. 2517 สาขาโรคพืชไร่ กองวิจัยโรคพืช สำรวจพบการระบาดของโรครุนแรงในเขตท้องที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันมีการระบาดของโรค พบในข้าวโพดสายพันธุ์แท้บางพันธุ์ และลูกผสมที่อ่อนแอต่อโรคนี้ การปลูกข้าวโพดแซมในไม้ยืนต้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคทางใบระบาดมาก


ลักษณะอาการ 

จะเกิดได้ทุกส่วนของลำต้นข้าวโพดโดยเฉพาะบนใบ นอกจากนั้นจะพบที่กาบใบ ลำต้น และฝัก โดยเกิดเป็นแผลมีขนาดใหญ่สีเทาหรือสีน้ำตาลแผลมีลักษณะยาวตามใบ หัวท้ายเรียวคล้ายรูปกระสวย แผลมีขนาดระหว่าง 2.5-20 เซนติเมตร แผลที่เกิดบนใบอาจเกิดเดี่ยวๆ หรือหลายแผลซ้อนร่วมกันขยายเป็นขนาดใหญ่ ถ้าแผลขยายรวมกันมากๆจะทำให้ใบแห้งตายได้ ในสภาพไร่พบที่ส่วนล่างของข้าวโพดก่อนแล้วอาการของโรคจะพัฒนาไปส่วนบนของต้นข้าวโพด เมื่อมีความชื้นสูงเชื้อราสร้างสปอร์สีดำบนแผลและขยายออกเห็นเป็นวงชั้น โรคนี้พบได้ตลอดฤดูเพาะปลูก พันธุ์อ่อนแออาการรุนแรงทำให้ผลผลิตลดลงได้ ถ้าเข้าทำลายพืชก่อนออกดอกทำให้ผลผลิตสูญเสียมาก แต่ถ้าเข้าทำลาย 6-8 สัปดาห์หลังจากข้าวโพดออกดอกแล้วไม่มีผลกระทบต่อผลผลิตการศึกษาความเสียหายจากโรคนี้ในข้าวโพดพันธุ์ลูกผสมควรทำการประเมินภายใน 3-6 สัปดาห์หลังการออกดอก


เชื้อสาเหตุ 

เกิดจากเชื้อรา Bipolaris turcica (Pass.) Shoemaker.  มีชื่อเดิม Helminthosporium turcicum Pass.  เมื่อความชื้นสูงและอากาศเย็นประมาณ 18-27oซ โรคระบาดได้ดี สปอร์มีสีเขียวอมเทา ยาวเรียวหัวท้ายแหลม ส่วนกลางกว้างโค้งเล็กน้อย มีผนังกั้น 3-8 เซลล์ มีขนาดระหว่าง 20x105 ไมครอน มีฐานสปอร์สีเข้มชัดเจน การงอกออกทางปลายของสปอร์ ก้านชูสปอร์สีเขียวมะกอกมีผนังกั้น 2-4 เซลล์ มีขนาดระหว่าง 7-9x150-250 ไมครอน 

การอยู่ข้ามฤดูในเศษซากพืชเป็นรูปของสปอร์ผนังหนา (chlamydospore) สปอร์สามารถปลิวไปตามลมได้ในระยะไกล เมื่อเข้าทำลายข้าวโพดจะสร้างสปอร์อีกมากมายระบาดยังต้นอื่นๆต่อไป


การแพร่ระบาด 

เชื้อราจะสร้างสปอร์บนแผลเก่าๆ และสปอร์ก็จะแพร่ไปโดยลม ฝน เมื่อมีความชื้นสปอร์จะงอกเข้าทำลายใบข้าวโพดและแสดงอาการของโรคในส่วนอื่นๆต่อไป สปอร์ของเชื้อจะสร้างขึ้นจำนวนมากภายใต้สภาพความชื้นสูง อุณหภูมิค่อนข้างเย็นระหว่าง 18-27oซ ถ้าโรคเข้าทำลายก่อนออกไหมทำให้ผลผลิตลดได้ถึง 50% แต่ถ้าเข้าทำลายหลังออกไหมแล้ว 6 สัปดาห์ มีผลกระทบต่อผลผลิตน้อย เชื้อราสามารถอยู่ข้ามฤดูได้ในเศษซากพืช


การป้องกันกำจัด  ปฏิบัติเช่นเดียวกับโรคใบไหม้แผลเล็ก 

1.) การปลูกพืชหมุนเวียน เผาทำลายเศษซากพืชเป็นโรค
2.) การเขตกรรมที่เหมาะสม ไม่ปลูกพืชหนาแน่นและใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวโพดแซมไม้ยืนต้น เช่นมะม่วง ยางพารา มะละกอ เพราะมีร่มเงาทำให้โรคระบาดได้ 
3.) ใช้พันธุ์ต้านทานต่อโรค เช่น นครสวรรค์ 1 นครสวรรค์ 72 
4.) ใช้สารกำจัดเชื้อรา เช่นเดียวกับโรคใบไหม้แผลเล็ก

โรคใบจุดจากเชื้อเฮลมินโธสปอเรี่ยม (Northern Leaf Spot หรือ Helminthosporium Leaf Spot)


ในปี 2538 กลุ่มงานวิจัยโรคพืชไร่ได้ทำการสำรวจโรคข้าวโพดในแหล่งผลิตข้าวโพดที่สำคัญ ได้พบโรคนี้กับข้าวโพดสายพันธุ์แท้ (Inbred line) ที่ปลูกในจังหวัดสระบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ ขณะพืชอายุ 35-45 วัน สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวานที่ปลูกเป็นการค้ายังไม่พบโรค์ 


ลักษณะอาการ
พบอาการตั้งแต่ใบแรกจนถึงใบธง แผลเป็นจุดค่อนข้างกลมสีเหลืองหรือน้ำตาลขนาดเล็ก มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบ (halo) ขนาดความกว้างยาวของแผลอยู่ระหว่าง 0.5 - 4.0 x 0.5 - 40.0 มม. เมื่อความชื้นสูงแผลขยายใหญ่ เนื้อใบแห้งตาย หูใบแห้งเชื้อราสร้างสปอร์ผงสีดำจำนวนมาก กาบใบและกาบฝักไหม้แห้ง ฝักเน่า ผลผลิตลดประมาณ 70%


เชื้อสาเหตุ 

เกิดจากเชื้อรา Bipolaris zeicola (Stout). Shoemaker  ชื่อเดิม Helminthosporium carbonum Ullstrup. Drechslera zeicola. (Stout) Subram. & Jain. สปอร์รูปทรงเรียวยาวเกือบเป็นรูปกระสวย สีเขียวเข้มอมน้ำตาล มีผนังกั้น 4-8 อัน ขนาดของสปอร์ 10.0 -15.0 x 32.5 -75.0 ไมครอน


การแพร่ระบาดและการป้องกันกำจัด เหมือนกับโรคใบไหม้แผลเล็ก

โรคราสนิม (Southern Rust)


ราสนิม (Rust) ของข้าวโพดในโลกมี 3 ชนิด คือ common rust (Puccinia sorghi) southern rust (Puccinia polysora) และ tropical rust (Physopella zeae) สำหรับประเทศไทยมีรายงานพบ 2 ชนิด คือ Puccinia sorghi และ Puccinia polysora แต่ที่พบมากที่สุดคือ (Puccinia polysora) โรคราสนิมจะระบาดปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ในขณะที่มีความชื้นในอากาศสูง 95-100% และมีอุณหภูมิค่อนข้างเย็น ประมาณ 24-28 องศาเซลเซียส สภาพแวดล้อมเช่นนี้ มีความเหมาะสมต่อการเกิดโรคราสนิมมากถ้าเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอจะเป็นโรครุนแรงสภาพการระบาดรุนแรงพบเสมอที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เลย เชียงใหม่ ตาก เชื้อโรคราสนิมจะสร้างสปอร์ 2 ชนิด ชนิดแรกเรียก urediospore หรือ uredospore เพื่อสืบต่อการเป็นโรคชนิดที่สองเรียก teliospore หรือ teluetospore เพื่อทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยจะได้ยังคงมีชีวิตอยู่รอดข้ามฤดู


ลักษณะอาการ 

อาการของโรคจะเกิดได้แทบทุกส่วนของต้นข้าวโพด คือ ใบ ลำต้น กาบใบ ฝัก ช่อดอกตัวผู้ โดยแสดงอาการเป็นจุดนูนเล็กๆ สีน้ำตาลแดง ขนาดของแผลประมาณ 0.2-2.0 ม.ม. แผลจะเกิดด้านบนใบมากกว่าด้านล่างของใบ เมื่อเป็นโรคในระยะแรกๆ จะพบเป็นจุดนูนเล็กๆ ต่อมาแผลจะแตกออกมองเห็นเป็นผงสีสนิมเหล็กในกรณีที่เป็นโรครุนแรงจะทำให้ใบแห้งตายในที่สุด


เชื้อสาเหตุ 

เกิดจากเชื้อรา Puccinia polysora Underw.  สปอร์ที่พบมากในต้นข้าวโพดเป็นโรคและแพร่ระบาดได้ดีคือ uredospore มีสีเหลืองทอง รูปร่างกลมรี มีขนาดระหว่าง 20-29x29-40 ไมครอน ผนังสีเหลืองหรือสีทองบางและเป็นหนามแหลมหนา 1-1.5 ไมครอน มีรูปร่างที่กึ่งกลาง 4-5 รู เมื่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมจะสร้าง Teliospore ในการอยู่ข้ามฤดู รูปร่างกลมหรือทรงกระบอก หัวท้ายมนขนาด 18-27 x 29-41 ไมครอน ผนังเรียบ สีน้ำตาลเข้ม มี 2 เซล เกิดอยู่บนก้านชูสปอร์สีเหลืองหรือสีน้ำตาล ที่ยาวประมาณไม่เกินหนึ่งในสี่ของความยาวสปอร์ มีขนาดระหว่าง 10-30 ไมครอน สปอร์ชนิดนี้สร้างอยู่ในแผลขนาด 0.2-0.5 มม. กลมหรือกลมรีสีน้ำตาลเข้มหรือดำอยู่ใต้ผิวใบ บางครั้งจะสร้างรอบๆสปอร์แบบแรกคือ uredospore 


การแพร่ระบาด 

เชื้อรา P. polysora เป็นเชื้อราโรคพืชที่ต้องอาศัยพืชที่มีชีวิตหรือส่วนของพืชที่ยังมีชีวิตอยู่ เชื้อโรคจะไม่สามารถเจริญเติบโตบนเศษซากพืชที่ตายแล้วได้ ดังนั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโรคจะแพร่ออกไปจากแผลที่ใบ แผลที่กาบใบ และเปลือกหุ้มฝัก เมื่อเชื้อปลิวไปตกมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับเชื้อโรคจะทำให้ข้าวโพดเป็นโรคได้ แต่ถ้าสภาพแวดล้อมนั้นเหมาะสมแต่ไม่มีต้นข้าวโพดในแปลงหรือในไร่ เชื้อโรคเข้าทำลายอาศัยพืชอื่นซึ่งเป็นพืชอาศัยของเชื้อโรคอยู่ข้ามฤดู และเมื่อมีการปลูกข้าวโพดขึ้นมาเชื้อจะปลิวจากพืชอาศัยกลับมาที่ข้าวโพดได้อีกวนเวียนเช่นนี้เรื่อยไป สปอร์เชื้อโรคราสนิมสามารถปลิวไปได้ไกลๆมาก ดังนั้นบางครั้งเราจะไม่พบพืชบริเวณไร่เป็นโรคราสนิมเลย แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมและข้าวโพดนั้นเป็นพันธุ์อ่อนแอ จะพบโรคราสนิมระบาดรุนแรงได้ อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกของ uredospore คือ 23-28oซ ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 13oซ และสูงกว่า 30oซ การงอกของสปอร์จะลดลง ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือความชื้นบนผิวใบที่ช่วยให้สปอร์งอกเข้าทำลายพืชได้สำเร็จ


การป้องกันและกำจัด

1.) หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวโพดพันธุ์อ่อนแอ โดยเฉพาะข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเทียน ข้าวโพดข้าวเหนียว


2.) กำจัดวัชพืชและทำลายต้นพืชที่เป็นโรค โดยการเผาต้นที่เป็นโรค


3.) หมั่นตรวจไร่อยู่เสมอตั้งแต่ระยะกล้าเมื่อเริ่มพบโรคระบาดมีจุดสนิม 3-4 จุดต่อใบให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีไดฟิโนโคนาโซล (สกอร์) 250 อีซี หรือ ในอัตรา 20 ซี.ซี. หรือ แมนโคเซบ 80% WP อัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน จำนวน 2 ถึง 4 ครั้ง ตามความรุนแรงของโรค


4.) ฤดูหนาวในแหล่งที่โรคระบาดควรปลูกพันธุ์ต้านทานโรคหรือปลูกพืชอื่นแทนข้าวโพด




โรคกาบและใบไหม้ (Banded Leaf and Sheath Blight)


โรคกาบและใบไหม้ของข้าวโพด มีรายงานการพบครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2528 ที่จังหวัดสระบุรี จากนั้นพบแพร่ระบาดไปหลายจังหวัด เช่น นครสวรรค์ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ตาก กาญจนบุรี เชียงใหม่ และนครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวโพดที่สำคัญ ปัจจุบันโรคกาบและใบไหม้เริ่มมีความสำคัญเพราะมีการระบาดทำความเสียหายรุนแรงกว้างขวางมากขึ้น


ลักษณะอาการ 

โรคเกิดได้กับส่วนต่างๆของข้าวโพดเช่น ลำต้น ใบ กาบใบ กาบฝัก และฝัก อาการที่พบบนส่วนต่างๆของพืชมีรายละเอียดดังนี้ในระยะกล้าทำให้ต้นกล้าเน่าหักพับล้มลงทั้งที่ส่วนยอดยังเขียวอยู่ โคนต้นระดับคอดินมีรอยฉ่ำน้ำสีเขียวอมเทา อาจพบเส้นใยสีขาวเจริญปกคลุมที่รากถ้าในพันธุ์ที่ค่อนข้างอ่อนแอมักพบโรค ในสภาพไร่ในระยะอายุ 40-50 วัน คือก่อนออกดอก ถ้าโรคเกิดกับพืชอายุน้อยเนื่องจากเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอมากอาการไหม้รุนแรงมาก เพราะเนื้อเยื่ออ่อนอวบน้ำและมีการตายของส่วนยอดเจริญด้วย 


อาการบนใบ 

ในสภาพธรรมชาติพบในใบล่างใกล้ผิวดินที่ห้อยลง ถ้าโรคแพร่ระบาดจากกาบใบขึ้นไป อาการของโรคจะปรากฏชัดบนโคนใบถึงกลางใบ โดยปกติพบอาการโรคที่กาบใบมากเพราะมีความชื้นมากกว่า แต่อาการไหม้รุนแรงมักเกิดขึ้นที่ใบ อาการเริ่มแรกของโรคคือ แผลฉ่ำน้ำ รูปร่างไม่แน่นอน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1-3 เซนติเมตร ต่อมาแผลจะเปลี่ยนเป็นสีซีดจาง หรือสีฟางข้าว ขยายไปตามทางยาวของใบข้าวโพดเมื่อแสงแดดจัดความชื้นน้อยเชื้อราก็จะหยุดการเจริญ แผลจึงเห็นเป็นใบแห้งเหมือนแดดเผา มีขอบสีน้ำตาลขวางตามใบเป็นชั้นๆ เมื่อถึงเวลากลางคืนอากาศเย็นความชื้นสูง แผลก็ขยายไหม้ลามต่อไปตามสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อรา ใบข้าวโพดที่เป็นโรคนี้จึงเห็นเป็นลายคราบขอบตามขวางของใบเป็นชั้นคล้ายคราบงู ส่วนกาบใบล่างเป็นโรคจะเหลือง ใบอ่อนม้วนเข้าข้างใน แห้งตายก่อนแก่และมีสีเขียวแกมเทาเป็นมัน 


อาการบนกาบใบ 

โดยทั่วไปอาการคล้ายกับที่เกิดบนใบ กล่าวคือจุดฉ่ำน้ำรูปร่างไม่แน่นอนที่ทั้งด้านหน้าและหลังของโคนกาบใบ ต่อมาจุดเหล่านั้นจะเปลี่ยนเป็นสีฟางข้าว ในข้าวโพดพันธุ์ต้านทานเช่นพวก inbred line บางพันธุ์แผลจะถูกจำกัดไม่ขยายกว้างออกและมีขอบแผลสีน้ำตาลอ่อน ในข้าวโพดพันธุ์อ่อนแอ แผลจะขยายปกคลุมทั่วทั้งกาบใบ อาการเป็นแถบอาจพบหรือไม่พบก็ได้


อาการบนลำต้น 

เชื้อสาเหตุทำให้เกิดจุดหรือแผลบนเปลือกของลำต้นซึ่งอยู่ใต้กาบใบที่เป็นโรคแผลเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงดำ แผลอาจเกิดผิวยุบตัวลงในเปลือก และขยายตัวบนข้อที่สี่หรือห้านับจากโคนต้นขึ้นมา ปกติแผลขยายรวมกันทางด้านข้างของปลายแผลแต่ละแผล ขนาดของแผลเดี่ยวประมาณ 2-10x3-15 มิลลิเมตร จนถึงปกคลุมทั่วทั้งข้อ บางครั้งแผลแห้งเป็นสะเก็ดน้ำตาลเข้ม ภายใต้สภาพแวดล้อมเหมาะสมความชื้นสูง อากาศเย็น เชื้อราเข้าทำลายภายในลำต้นข้าวโพดเป็นเหตุให้ลำต้นภายในเปราะและถูกลมพัดหักง่าย 


อาการบนฝัก 

ฝักข้าวโพดได้รับเชื้อจากกาบใบที่เป็นโรค อาการเริ่มแรกจากส่วนล่างของกาบฝักชั้นนอกสุด ซึ่งติดกับกาบใบที่ฝักแทงออกมา ลักษณะของแผลต่างกับแผลซึ่งเกิดกับส่วนอื่นๆ กล่าวคือแผลบนกาบฝักจะกระจายตัว และอาการเป็นแถบจะเห็นชัด ความรุนแรงของโรคบนฝักขึ้นอยู่กับช่วงระยะการเจริญเติบโตของฝัก เมื่อได้รับเชื้อโรคอาการฝักเน่าแบ่งได้เป็นสามแบบคือ 


ในกรณีโรคเชื้อราเข้าทำลายก่อนออกฝัก ฝักก็จะไม่เจริญเติบโต กาบที่หุ้มฝัก ไหม้แห้งตาย ถ้าเชื้อราเข้าทำลายถึงก้านฝักหลังออกฝักแล้ว เส้นใยไหมตรงปลายฝักจะเปลี่ยนเป็นสีดำ เน่ารวมกันเป็นก้อนแข็งที่เกสรตัวผู้จะไม่สามารถเข้าผสมได้
ถ้าเกิดโรคในระยะติดเมล็ดทำให้เมล็ดลีบ ด้านแบนของเมล็ดจากฝักเป็นโรคนี้มี แผลรูปเกือกม้าสีน้ำตาลแดง (horse-shoe shaped lesion) ซึ่งลักษณะอาการนี้ใช้วินิจฉัยโรคได้


เชื้อสาเหตุ 

เกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia solani Kuhn. f.sp.sasakii Exner. ระยะสมบูรณ์เพศมีชื่อว่า Thanatephorus sasaki (Shirai) Tu & Kimbro. เชื้อราชนิดนี้ไม่สร้างสปอร์ เส้นใยสีขาว เมื่อแก่เต็มที่เส้นใยจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม อัดแน่นรวมตัวเป็นเม็ด sclerotia รูปร่างไม่แน่นอนใช้ในการอยู่ข้ามฤดูในดิน บนเมล็ด และเศษซากพืช การจัดกลุ่มอยู่ในพวก anastomosis group AG-1 คือเส้นใยมาเชื่อมต่อกัน ในแต่ละเซลล์มีนิวเคลียสหลายอัน ตั้งแต่ 5-7 อัน เส้นใยเจริญเติบโตได้รวดเร็ว เฉลี่ยวันละ 30 มม. ที่อุณหภูมิ 20-30 oซ เส้นใยที่เข้าทำลายพืชมีขนาดสั้นกว่าปกติแตกแขนงมาก เส้นใยปกติลักษณะตรงมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 3-17 ไมครอน ใสไม่มีสี เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลเพราะสะสมเมลานินที่ผนังเซลล์ สร้าง sclerotia ชนิด sasaki type 


การแพร่ระบาด 


สาเหตุของการทำให้เกิดโรคเกิดขึ้นและแพร่ระบาดคือเม็ด sclerotia ของเชื้อสาเหตุซึ่งอยู่ในดินและซากหญ้าพืชอาศัยที่ขึ้นอยู่บริเวณใกล้เคียงข้าวโพด การระบาดโดยการสัมผัสของใบที่เป็นโรคกับส่วนต่างๆ ของต้นปกติ เมื่ออุณหภูมิเหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อสาเหตุอยู่ที่ประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90-100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์หรือพบการเกิดโรคน้อย


การป้องกันกำจัด

1.) ใช้เมล็ดพันธุ์จากต้นที่สมบูรณ์และปราศจากโรค

2.) หมั่นตรวจไร่อยู่เสมอในระยะต้นข้าวโพดอายุได้ 40-50 วัน เมื่อพบโรคระบาดให้ถอนและเผาทำลายในระยะออกฝัก หากพบฝักเป็นโรคมีเมล็ดเชื้อราสาเหตุลักษณะคล้ายเม็ดผักกาด เมื่อเก็บไปทำลายพยายามอย่าให้เม็ดเชื้อราร่วงหล่นในแปลงเนื่องจากสามารถแพร่โรคต่อไป

3.) ทำลายเศษเหลือของต้นข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยวแล้ว และก่อนปลูกฤดูต่อไปให้ไถพลิกดินขึ้นมาตากแดดหลายๆ ครั้ง เติมอินทรียวัตถุในแปลงปลูก เตรียมดินให้มีการระบายน้ำดี

4.) หลีกเลี่ยงการปลูกพืชหนาแน่น ลดการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง ปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชอาศัยโรค พืชอาศัยของโรคนี้ได้แก่ ข้าว,ถั่วเหลือง,ถั่วลิสง,ถั่วต่างๆ และอ้อย

5.) การใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคมีรายงานว่า carbendazim, benodanil, validamycin, Topsin M และ Rhizolex สามารถควบคุมโรคได้ การใช้สารปฏิชีวนะจิงกัง มัยซิน ในประเทศจีนก็มีรายงานว่าให้ผลดี

6.) เพิ่มอินทรียวัตถุในแปลงปลูก และเพิ่มเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ เช่น Trichoderma harzianum, T.viride หรือ Bacillus subtilis จุลินทรีย์เหล่า นี้สามารถเจริญแข่งขันและย่อยสลายเส้นใยของเชื้อรา R. solani f. sp. sasakii สาเหตุโรคนี้ได้


โรคใบจุด (Leaf Spot)


โรคใบจุดนับว่าเป็นโรคที่มีความสำคัญโรคหนึ่งมักพบเห็นทั่วไปในแหล่งที่มีการปลูกข้าวโพดยังไม่มีรายงานว่าผลผลิตของข้าวโพดลดลงจากความเสียหายของโรคนี้ 


ลักษณะอาการ 


อาการของโรคส่วนใหญ่จะแสดงให้เห็นบนใบ แต่บางครั้งอาจพบบนกาบใบและฝักด้วยระยะแรกเกิดเป็นจุดเล็ก ๆ ขนาด 1-2 มม. ต่อมาตรงกลางจุดจะแห้งมีสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน ขอบแผลสีน้ำตาลแดง ในที่สุดเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลไหม้ ขนาด 1 ซม.มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง พบเมื่ออากาศร้อนชื้น 


เชื้อสาเหตุ

เกิดจากเชื้อรา Curvularia lunata (Wakker) Boed. var. aeria. สปอร์สีน้ำตาลอ่อน รูปร่างตรงหรือโค้ง ปลายเรียว มีสี่เซลล์โดยเซลล์ตรงกลางมีขนาดใหญ่สุด มีสีเข้มกว่าหัวท้าย มีฐานสปอร์ชัดเจน ขนาดระหว่าง 18-32 x 8-16 ไมครอน


การแพร่ระบาด

เชื้อราสามารถแพร่ระบาดได้โดยลม ฝน หรือติดไปกับเมล็ด 


การป้องกัน

1.) ใช้เมล็ดพันธุ์จากต้นที่ปลอดจากโรค

2.) ใช้พันธุ์ต้านทานโรคปลูก เช่น นครสวรรค์ 1 นครสวรรค์ 72 สุวรรณ 5

3.) หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง และปลูกพืชหนาแน่น โรคจุดสีน้ำตาล (Brown Spot)
โรคจุดสีน้ำตาล

เคยมีรายงานว่าระบาดรุนแรงในต่างประเทศมาแล้ว เช่น อเมริกากลางและเนปาล ในประเทศไทยพบเห็นโรคนี้โดยทั่วไป แต่ไม่มีการระบาดของโรค 


ลักษณะอาการ 

เกิดขึ้นบนใบ กาบใบ และลำต้น บริเวณที่ต่ำกว่าฝัก อาการบนใบเกิดเป็นจุดกลมหรือรี สีเหลือง ปกติมีขนาดเล็กกว่า 1 มิลลิเมตร จุดมักจะรวมตัวกันเป็นหย่อมๆ หรือเป็นปื้นจุดที่เกิดขึ้นครั้งแรกจะมีสีเขียวเหลือง ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง อาการบนเส้นกลางใบ กาบใบ เปลือกหุ้มฝัก และลำต้น แผลขยายรวมกันมีขนาดใหญ่ รูปร่างไม่แน่นอน บางครั้งเป็นเหลี่ยมถึง 5 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาลเข้ม หรือสีน้ำตาลอมม่วง ต่อมาเมื่ออายุมากขึ้นแผลกลายเป็นปื้นบนใบและตามความยาวของเส้นกลางใบ เมื่อกาบใบแห้ง เนื้อเยื่อจะแตกออกทำให้เห็นผงสปอร์สีน้ำตาลของเชื้อรา ถ้าโรครุนแรงลำต้นเน่าหักล้มได้


เชื้อสาเหตุ 

เกิดจากเชื้อรา Physoderma maydis Miyabe  ชื่อเดิม P. zeae-maydis Shaw สร้าง sporangia ใน pustule สีน้ำตาล กลม นูน ขนาด 18-24 x 20-30 ไมครอน การงอกออกมาต้องมีแสงจึงสามารถปล่อย zoospore ออกมาประมาณ 20-50 สปอร์มีขนาดระหว่าง 3-4x5-7 ไมครอนมี flagella ยาว 3-4 เท่าของความยาวสปอร์ zoospore งอกออกเป็นเส้นใยกลุ่มบางๆ ไม่มีผนังกั้น


การแพร่ระบาด 

เชื้อโรคจะมีชีวิตอยู่ได้บนเศษเหลือของพืชที่ตกอยู่ในดิน สปอร์สามารถที่จะแพร่ระบาดไปได้โดยลม ฝนและแมลง การเข้าทำลายพืชเกิดขึ้นเมื่อมีความชื้นสูง น้ำค้างแรง โดยเข้าทำลายทางรูเปิดตามธรรมชาติของใบหรือทางยอดอ่อนบริเวณ mesophyll เมื่ออุณหภูมิระหว่าง 23-30oซ สามารถสร้าง sporangia ภายใน16-20วันแล้วแพร่กระจายเข้าทำลายพืช


การป้องกัน

1.) ไถกลบเศษเหลือของพืชหลังเก็บเกี่ยว เขตกรรมที่ดีการระบายน้ำดี

2.) ปลูกข้าวโพดพันธุ์ต้านทาน เช่น นครสวรรค์ 1 นครสวรรค์ 72

3.) หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง และปลูกพืชหนาแน่น