วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สตรอเบอร์รี่ (Strawberry)



สตรอเบอร์รี่ (Strawberry) เป็นพืชในวงศ์กุหลาบ มีผลสุก ที่สามารถรับประทานได้ ในอดีตมีการปลูกไว้เป็นพืชคลุมดินให้กับต้นไม้ชนิดอื่นๆ  สตรอเบอรี่ในโลกนี้มีมากกว่า 20 สปีชีส์ และมีลูกผสมมากมาย แต่สตรอว์เบอร์รีที่นิยมปลูกมากในปัจจุบันก็คือสตรอว์เบอร์รีสวน (Fragaria × ananassa) ผลของสตรอว์เบอร์รีมีรสชาติหลากหลายขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ มีตั้งแต่รสหวานจนถึงเปรี้ยว 

สตรอเบอร์รี่ เป็นพืชล้มลุก แตกกิ่งก้านแผ่ปกคลุมดิน ใบจะรวมกันอยู่ 3 ใบใน 1 ก้าน ขอบใบมีรอยหยัก มีดอกสีขาว สีเหลือง หรือชมพูแล้วแต่สายพันธุ์  ผลมีก้านยาวเชื่อมกับต้น  มีกลีบเลี้ยงบนขั้วของผล เมื่อผลอ่อนจะมีสีขาว เหลืองนวล เมื่อสุกจะเป็นสีชมพู หรือแดง รสชาดเปรี้ยวถึงหวาน

  


สายพันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศไทย

  • พันธุ์พระราชทาน 16
  • พันธุ์พระราชทาน 20
  • พันธุ์พระราชทาน 50 (เป็นพันธุ์ที่มูลนิธิโครงการหลวงส่งเสริมให้ปลูก) เป็นพันธุ์ที่เกิดจากการผสมในประเทศสหรัฐอเมริกา และนำเข้ามาคัดเลือกโดยการผสมตัวเองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในสภาพอากาศเย็นปานกลาง ทรงพุ่มปานกลางถึงค่อนข้างแน่น ผลผลิตมีคุณภาพดีโดยเฉพาะใกล้สุกเต็มที่ น้ำหนักต่อผล 12 -18 กรัม รูปร่างเป็นลิ่มสีแดงถึงสีแดงเข้มค่อนข้างแข็ง ไม่ต้านทานต่อไร แต่ต้านทานราแป้งได้ดี
  • พันธุ์พระราชทาน 70 (เป็นพันธุ์ที่มูลนิธิโครงการหลวงส่งเสริมให้ปลูก) เป็นสายพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น ใบมีลักษณะกลมใหญ่ และสีเขียวเข้มไม่ทนต่อราแป้ง แต่ทนต่อโรคเหี่ยว ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง น้ำหนักต่อผล 11.5 - 13.0 กรัม ผลมีลักษณะทรงกลมหรือทรงกรวย สีแดงสดใสแต่ไม่สม่ำเสมอ เนื้อและผลค่อนข้างแข็ง มีกลิ่นหอม มีความฉ่ำและรสชาติหวาน เปอร์เซ็นต์ความหวาน 9.6° Brix
  • พันธุ์พระราชทาน 72 (เป็นพันธุ์ที่มูลนิธิโครงการหลวงส่งเสริมให้ปลูก) เป็นสายพันธุ์นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น ชื่อพันธุ์ TOCHIOTOME ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 น้ำหนักต่อผล 14 กรัม เนื้อผลแข็งกว่าพันธุ์พระราชทาน 70 แต่มีความหวานน้อยกว่าคือ 9.3° Brix มีกลิ่นหอมเมื่อเริ่มสุก เนื้อภายในผลมีสีขาว ผิวผลเมื่อสุกเต็มที่จะมีสีแดงถึงแดงจัด เงาเป็นมันที่ผิวผล ทนต่อการขนส่งมากกว่าพันธุ์อื่น
  • พันธุ์พระราชทาน 80 (เป็นพันธุ์ที่มูลนิธิโครงการหลวงส่งเสริมให้ปลูก ตั้งแต่ปีพ พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา) เป็นสายพันธุ์ที่มาจากประเทศญี่ปุ่น ชื่อพันธุ์ Royal Queen ซึ่งมีลักษณะเด่นคือก้านใบและลำต้นจะมีสีแดงสด ผมมีลักษณะเป็นรูปทรงกรวยสวยงาม ผลมีขนาดปานกลางน้ำหนักเฉลี่ย 15 กรัม  ผลมีกลิ่นหอม รสหวานฉ่ำ อีกทั้งยังมีความต้านทานต่อโรคและแมลงได้เป็นอย่่างดี
  • พันธุ์ 329 (Yale) เป็นพันธุ์ที่กรมส่งเสริมการเกษตรส่งเสริมให้กับเกษตรกรปลูก เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศอิสราเอล ผลมีขนาดใหญ่กว่าพันธุ์ 80 รูปร่างแบน เนื้อแข็งรสหวานอมเปรี้ยว ทนต่อการขนส่งได้ดี
  

สตรอเบอรี่ พันธุ์ 80 (Royal Queen)

การขยายพันธุ์สตรอเบอร์รี่ ทำได้หลายวิธี เช่น
1. การใช้ไหล ขยายต้นไหลจากต้นแม่พันธุ์
2. การแยกต้น หรือแยกกอจากต้นหลัก
3. การใช้เมล็ด ใช้ในกรณีที่มีการผสมพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่เกิดขึ้น
4. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นการผลิตเพื่อให้ได้ต้นพันธุ์ที่ปลอดโรคและมีความสมบูรณ์ที่สุด



ช่วงที่เหมาะสมต่อการปลูก
การปลูกสตรอเบอร์รี่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปลูก แต่การปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวผลนั้นผู้ปลูกต้องเลือกเวลาในการปลูกเพื่อให้ทันต่อปัจจัยในการสร้างตาดอกของสตรอเบอร์รี่ คือช่วงฤดูหนาว ที่มีช่วงแสงต่อวันสั้น และมีอุณหภูมิต่ำ โดยระยะเวลาที่เหมาะสมในการปลูกคือ

ช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม สำหรับการใช้เมล็ด
ช่วงเดือนกันยายน - เดือนตุลาคม สำหรับการใช้ ต้นไหลมาปลูก

*สำหรับการปลูกในช่วงเวลาอื่นเป็นการปลูกพืชสร้างต้นแม่พันธุ์เพื่อผลิตไหลในการปลูกรุ่นต่อไป



ระยะห่างในการปลูก
และระยะห่างระหว่างต้น 25 - 30 เซนติเมตร และ ระยะปลูกระหว่างแถว 30 - 40 เซนติเมตร



วิธีการปลูกแบบไร้ดิน (ปลูกในวัสดุปลูก)
1. วัสดุปลูกที่นิยมใช้
แบบที่ 1. ทรายหยาบ 1 ส่วน + แกลบดิบ 2 ส่วน (สูตรฟาร์มในประเทศไทย)
แบบที่ 2. เพอร์ไลท์ 3 ส่วน + ขุยมะพร้าวละเอียด 7 ส่วน (สูตรฟาร์มใน USA)
แบบที่ 3. พีทมอส 1 ส่วน + ขุยมะพร้าว 3 ส่วน (สูตรฟาร์มในประเทศมาเลเซีย)
แบบที่ 4. พีทมอส 2 ส่วน + เพอร์ไลท์ 1 ส่วน + เปลือกสน 1 ส่วน (สูตรฟาร์มในประเทศอิสราเอล)


* ไม่ควรกลบวัสดุปลูกต้นสตรอเบอร์รี่ลึกเกินไป เพราะจะทำให้เชื้อโรคเข้าทำลายต้นสตรอเบอร์รี่ได้ง่าย หรือตื้นเกินไปเพราะทำให้รากแห้งและมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นสตรอเบอร์รี่ได้ ควรกลบวัสดุปลูกในระดับเดียวกับภาพที่แสดงไว้ด้านบน

2. หลังย้ายปลูกสัปดาห์แรกไม่ควรให้ปุ๋ยเคมี เนื่องจากจะทำให้รากพืชปรับตัวไม่ทันและตายได้ ควรเริ่มให้เมื่อผ่านไปแล้วประมาณ 7 - 10 วัน

3. การให้น้ำควรดูวัสดุปลูกเป็นหลัก โดยให้มีความชื้นสม่ำเสมอ อย่าให้แฉะหรือแห้งเกินไป

4. ในช่วงที่ปลูกเพื่อต้องการเก็บผล เมื่อต้นสตรอเบอร์รี่สร้างไหลออกมาให้ตัดไหลทิ้งเพื่อบังคับให้ต้นสตรอเบอร์รี่สร้างตาดอกและเป็นการรักษาพลังงานของต้นเพื่อไว้เลี้ยงผลอีกด้วย

5. เมื่อต้นสตรอเบอร์รี่ เริ่มสมบูรณ์จะสร้างหน่อขึ้นมาข้างลำต้น  ให้ผู้ปลูกไว้หน่อนั้นประมาณ  6 - 8 หน่อต่อ 1 ต้น ที่เหลือให้ตัดหรือขุดออกไปปลูกต่อเพื่อไม่ให้กอนั้นแน่นเกินไปจนกระทบต่อการเจริญเติบโตได้

6. หากเป็นการใช้ระบบน้ำหยดให้ตั้งเวลาการให้น้ำออกเป็น 4 ช่วง คือ เช้า - สาย - บ่าย - เย็น

7. ช่วงสัปดาห์แรก ของการนำไหลลงปลูกต้องให้น้ำค่อนข้างบ่อยในวันหนึ่งอาจจะต้องให้น้ำอย่างน้อย 3 - 4 ครั้งต่อวันโดยสังเกตุที่ตัววัสดุปลูกอย่าให้แห้งหรือแฉะเกินไป และให้นำกระถางไว้กลางแจ้งที่มีแดด ห้ามนำไปไว้ในที่ร่มไม่โดนแดดเพราะจะทำให้รากเน่าได้ ช่วงสัปดาห์แรกนี้ห้ามใส่ปุ๋ยเคมีเด็ดขาดเพราะรากสตรอเบอรี่ยังอ่อนและกำลังปรับตัวอยู่ และระวังเรื่องน้ำที่นำมารดด้วยควรหลีกเลี่ยง การใช้น้ำที่มีครอรีนสูง เช่นน้ำประปา  ทำการเด็ดกาบใบล่างของต้นไหลสตรอเบอรี่ออก ให้เลือใบประมาณ 2-3 ใบ วิธีการเด็ดใบล่างออก จะทำให้สตรอเบอรี่แตกยอดใหม่ได้เร็วและเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น

8. หลัง 1 สัปดาห์หลังย้ายปลูกเมื่อสตรอเบอรี่เริ่มมียอดให้ขึ้นมาให้เราเริ่มให้ปุ๋ย A,B ในอัตราส่วน 1 - 2 ซีซี/น้ำ 1 ลิตร หรือมี ค่า EC อยู่ที่ประมาณ 1.3 - 1.6 ms/cmรดหรือให้กับระบบน้ำหยด สัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง ช่วงนี้อยู่ที่ 6.0 - 6.3 พร้อมกับคอยตัดแต่งใบล่างที่แห้งออกด้วย หากช่วงนี้ต้นสร้างไหลออกมาแต่เราต้องการ ปลูกเพื่อเก็บผลให้เราตัดสายไหลดังกล่าวออกไปด้วย เพื่อให้อาหารไปเลี้ยงต้นหลักได้อย่างเต็มที่

9. หลังครบ 2 สัปดาห์ให้เราเพิ่มปุ๋ย A,B อัตราส่วน 3 - 4 ซีซี/น้ำ 1 ลิตร และมีการเสริมปุ๋ย C อัตราส่วน 2 ซีซี/น้ำ 1 ลิตร สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง หรือมีค่า EC อยู่ที่ประมาณ 1.8 - 2.2 ms/cm  ค่า pH ช่วงนี้อยู่ที่ 6.3 - 6.5 และทำการเด็บกาบใบล่างที่เหลืองหรือที่ไม่ได้รับการสังเคราะห์แสงออก

8. เมื่อปลูกไปได้ประมาณ 40 - 60 วันหากต้นมีความสมบูรณ์ และได้รับอากาศเย็นในช่วงกลางคืน อุณหภูมิประมาณ 12 - 17 องศา C  เป็นช่วงอุณหภูมิที่สตรอเบอรี่จะมีความสมบูรณ์ในการสร้างตาดอก และเมื่อดอกได้รับการผสมเกสรก็จะมีการติดผลต่อไป รวมระยะเวลาเฉลี่ยในการปลูกตั้งแต่ จนเก็บเกี่ยวประมาณ 50 - 60 วันหลังย้ายปลูก ในช่วงที่สตรอเบอรี่เริ่มติดดอกให้เราจะใช้ A,B 3 - 4 ซีซีต่อน้ำ 1 ลิตร ค่า EC อยู่ที่ประมาณ 1.8 - 2.2 ms/cm และเสริมปุ๋ย C ลงไปในน้ำที่ใช้รด ในอัตราส่วน 1 ซีซี/น้ำ 1 ลิตร และช่วงที่ ติดผลนี้ให้เสริมด้วยปุ๋ย K ในอัตราส่วน 3 ซีซี/น้ำ 1 ลิตรให้ไปพร้อมกับน้ำที่ใช้รด สัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง ค่า pH ในช่วงนี้อยู่ที่ 6.5 - 6.8


หมายเหตุเพิ่มเติม
1. สตรอบเบอรี่เป็นพืชที่ระบบรากตื้น การให้น้ำควรให้อย่างสม่ำเสมอต่อวัน โดยให้ไม่มากแต่ให้บ่อยๆ เพื่อให้รากได้รับความชื้นอย่างเหมาะสม หากมากไปจะทำให้รากเน่า ถ้าน้อยไปจะทำให้ต้นหยุดการเจริญเติบโต

2. ศัตรูพืชสำหรับสตรอเบอรี่ได้แก่ เพลี้ยอ่อน, ไรแดง, เพลี้ยไฟ, หนอนกระทู้, ทาก ฯลฯ ให้เลือกใช้สารสกัดจากธรรมดชาติในการป้องกัน

3. โรคที่เกิดกับสตรอเบอรี่ได้แก่โรค แอนแทรคโนส, โรคใบจุด, โรครากเน่า, โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ที่มีพาหะมาจากเพลี้ยไฟ หรือเพลี้ยอ่อน

4. กรณีต้นสตรอเบอรี่แตกกอ ออกมาเพิ่มให้ตัดกออกให้เหลือแค่ 3 - 5 กอต่อต้นพอ

5. อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสตรอเบอรี่คือ ช่วงกลางวัน 25 องศา C และช่วงกลางคืน 18 องศา C

6. การสร้างตาดอก อุณหภูมิต่ำกว่า 24 องศา C  อุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดคือ 12 องศา c ในด้านช่วงแสงที่น้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน จะเป็นปัจจัยในการกระตุ้นการพัฒนาตาดอก ช่วงแสงที่เหมาะสมที่สตรอเบอรี่ควรได้รับคือ 8 ชั่วโมงต่อวัน การปลูกในเขตร้อน เราสามารถสร้างปัจจัยดังกล่าวได้โดยช่วงกลางคือ นำต้นสตรอเบอรี่มาวางไว้ในที่มีอุณปภูมิต่ำกว่า 18 องศา เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 2 สัปดาห์ สตรอเบอรี่ก็จะสร้างตาดอกออกมาได้เช่นกัน


โรค แมลง และศัตรูพืชสำหรับสตรอเบอร์รี่

1.โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส 
          จะแสดงอาการใบหงิก ย่น หรือมีอาการใบด่าง ใบผิดรูปร่าง ใบม้วนขึ้น ต้นเตี้ย แคระแกรน ข้อสั้น ทรงพุ่มมีใบแน่นขนาดใบเล็กกว่าปกติ ต้นพืชอ่อนแอ ชะงักการเจริญเติบโตและทำให้ผลผลิตลดลง 
พบว่าแมลงพวกปากดูด ได้แก่ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ และไส้เดือนฝอยบางชนิดเป็นพาหะของโรค โรคนี้เมื่อเกิดแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายได้ นอกจากการป้องกันโดยคัดเลือกกล้าที่ไม่เป็นโรค ซึ่งเกิดจากต้นแม่พันธุ์ที่ได้จากวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาปลูก ทำการอบดินเพื่อทำลายไส้เดือนฝอยที่เป็นพาหะของโรคไวรัส กำจัดแมลงพวกเพลี้ยไฟ  เพลี้ยอ่อน ซึ่งเป็นพาหะของโรค เมื่อพบว่ามีต้นที่แสดงอาการผิดปกติดังกล่าวให้ขุดออกไปเผาทำลายทันที และการบำรุงพืชให้แข็งแรงอยู่เสมอจะช่วยต้านทานเชื้อโรคได้


การป้องกันกำจัดแมลงพาหะของเชื้อไวรัส
* ใช้สารสกัดสะเดา ฉีดพ่นเพื่อขับไล่และยับยั้งการกินอาหาร การเจริญเติบโตของแมลง ได้แก่ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ
* ใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง วิธีการนี้สามารถดักจับตัวเต็มวัยของแมลงศัตรูพืช เช่น เพลี้ยไฟ ผีเสื้อต่างๆที่เป็นตัวแก่ของศัตรูพืช ทำให้ลดปริมาณศัตรูพืชลงได้  การวางกับดักกาวเหนียวสีเหลือง ควรวางให้อยู่ระดับสูงเหนือยอดต้นสตรอเบอรี่ประมาณ 1 ฟุต ในฤดูหนาวซึ่งมีการระบาดของแมลงน้อย อาจวางกับดัก 15 - 20 กับดัก/ไร่ แต่ในฤดูร้อนและฤดูฝน ซึ่งจะมีการระบาดของแมลงศัตรูพืช ควรวางกับดัก 60 - 80 กับดัก/ไร่




2. โรคแอนแทรคโนส (โรคกอเน่า) 
          เกิดจากเชื้อราคอลเล็คโตตริคัม จะแสดงอาการเริ่มจากแผลเล็กๆ สีม่วงแดงบนไหล แล้วลุกลามไปตลอดความยาวของสายไหล แผลที่ขยายยาวมากขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล รอบนอกของแผลเป็นสีเหลืองอมชมพูซีด แผลที่แห้งเป็นสีน้ำตาลทำให้เกิดรอยคอดของไหลบริเวณที่เป็นแผล ต้นไหลอาจจะยังไม่ตาย แต่เมื่อย้ายต้นไหลที่มีการติดเชื้อลงมาปลูกบริเวณพื้นราบ หากสภาพอากาศเหมาะสมกับ
การเจริญเติบโตของเขื้อ(อากาศร้อนชื้น) สตรอเบอรี่จะแสดงอาการใบเฉาและต่อมาจะเหี่ยวอย่างรวดเร็ว พบว่าเนื้อเยื่อส่วนกอด้านในมีลักษณะเน่าแห้ง มีสีน้ำตาลแดง หรือบางส่วนเป็นแผลขีดสีน้ำตาลแดง และต้นจะตายในที่สุด โรคนี้สามารถเกิดที่ผลสตรอเบอรี่ได้ด้วย พบอาการเป็นแผลลักษณะวงรี สีน้ำตาลเข้ม แผลบุ๋มลึกลงไปในผิวผล เมื่ออากาศชื้นสามารถมองเห็นหยดสีส้ม ซึ่งเป็นกลุ่มของสปอร์ขยายพันธุ์ของเชื่อราอยู่ในบริเวณแผล

การป้องกันและกำจัดโรค 
ในฤดูกาลผลิตผลสตรอเบอรี่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนเมษายน ควรวางแผนจัดการในการผลิต
ต้นไหลให้ปราศจากเชื้อโรคทั้งที่เป็นอาการแบบต่างๆของโรคแอนแทรคโนสที่ปรากฎให้เห็น ได้แก่ อาการโรคใบจุดดำ, ขอบใบไหม้, แผลบนก้านใบ และแผลบนสายไหลตลอดจนต้นไหลที่มีการติดเชื้อแบบแฝง โดยที่ต้นไหลยังแสดงอาการปกติ แต่จะตายเมื่อมรการย้ายลงมาปลูกบริเวณพื้นที่ราบ ในสภาพอากาศเหมาะสมกับการเจริญของเชื้อ



3.โรคใบจุด 
          โรคนี้จะปรากฎกับต้นแม่และต้นกล้า พบอาการระบาดรุนแรงในแปลงที่ปลูกกันมานาน การควบคุมโรคไม่ดีพอ แปลงที่มีวัชพืชมาก อาการเริ่มแรกจะเห็นแผลขนาดเล็กสีม่วงแก่บนใบ ต่อมาแผลขยายขนาด รอบแผลสีม่วงแดง กลางแผลสีน้ำตาลอ่อนถึงขาวหรือเทา แผลค่อนข้างกลมคล้ายตานก สีอาจเปลี่ยนไปบ้างแล้วแต่ความรุนแรงของโรคและการตอบสนองของพืช อาการอาจปรากฎบนก้านใบ หรือบางครั้งพบอาการที่ผลด้วย


การป้องกันกำจัดโรค
ถ้าพบอาการของโรคที่ใบให้เด็ดใบที่เป็นโรคออกแล้วนำไปเผาทำลาย อย่าทิ้งไว้บริเวณแปลงปลูก
เพราะจะทำให้เป็นแหล่งสะสมของโรคต่อไป บำรุงพืชให้แข็งแรงในระยะปลูกเพื่อผลิตไหล อย่าปล่อยให้วัชพืชขึ้นรก
เพราะวัชพืชเป็นแหล่งอาศัยของโรค ควรดูแลความสะอาดของแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน



4. โรคเหี่ยว 
          เป็นผลมาจากอาการรากเน่าโคนเน่า ซึ่งเกิดจากเชื้อราไฟทอปทอร่า จะพบการตายของราก โดยเริ่มจากปลายรากแล้วลุกลามต่อไปรากแขนงจะเน่าบริเวณท่อน้ำท่ออาหารเป็นสีแดง อาการเน่าสามารถลามขึ้นไปจนถึงโคนต้น ถ้าหากอาการไม่รุนแรงพืชจะแสดงอาการเพียงแคระแกรน แต่ถ้าอาการรุนแรงจะเหี่ยวทั้งต้น ใบเป็นสีเหลืองจนถึงสีแดง และทำให้พืชตายได้ภายใน 2 - 3วัน เมื่อถอนต้นดูพบว่าก้านใบจะหลุดออกจากกอได้ง่าย ท่อลำเลียงภายในรากถูกทำลายจนเน่าทั้งหมด




ศัตรูที่สำคัญของ สตรอเบอรี่

1. ไรสองจุด 
          เป็นศัตรูที่สำคัญของการผลิตผลสตรอเบอรี่ ไรจะดูดน้ำเลี้ยงจากใบสตรอเบอรี่โดยเฉพาะบริเวณใต้ใบ ทำให้ผิวใบบริเวณที่ไรดูดทำลายมีลักษณะกร้าน ใต้ใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง ผิวใบด้านบนจะเห็นเป็นจุดด่างขาวเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป เมื่อการทำลายรุนแรงขึ้น จุดด่างขาวเล็กๆเหล่านี้จะค่อยๆแผ่ขยายติดต่อกันไปเป็นบริเวณกว้าง จนทำให้ทั่วทั้งใบมีลักษณะเหลืองซีด ใบร่วง เป็นผลทำให้สตรอเบอรี่ชงักการเจริญเติบโต ต้นแคระแกรน ให้ผลผลิตน้อยลง พบระบาดมากในสภาพอากาศแห้งความชื้นต่ำ

การป้องกันและกำจัดไรสองจุด
1. การให้น้ำแบบใช้สปริงเกอร์จะช่วยลดประชากรไรได้ เพราะจะเป็นการชะล้างไรให้หลุดจากใบพืช ชะล้างฝุ่นละอองที่ไรชอบหลบอาศัยอยู่ 

2. หมั่นทำความสะอาดแปลง ไม่ให้มีวัชพืชขึ้นในแปลงปลูก

3. ไม่ควรปลูกพืชผักโดยเฉพาะ เช่น กระเทียม, ขึ้นฉ่าย แซมในแถวปลูกสตรอเบอรี่ เพราะเป็นการเพิ่มพืชอาศัยให้ไรสองจุด



2. หนอนด้วงขาว 
          เป็นหนอนของด้วงปีกแข็ง ตัวสีขาว ปากมีลักษณะปากกัด สีน้ำตาลอ่อน เจริญเติบโตจากไข่ที่อยู่
ใต้ดิน จะเริ่มกัดกินรากสตรอเบอรี่ในช่วงปลายฤดูฝน ทำให้รากไม่สามารถดูดน้ำได้ เมื่อใบคายน้ำจึงทำให้ใบเหี่ยว รูใบปิด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่สามารถฟุ้งกระจายเข้าสู่ใบ การสังเคราะห์แสงจะลดลง ทำให้ต้นสตรอเบอรี่อ่อนแอ ชงักการเจริญเติบโต เมื่อพบอาการดังกล่าวให้ขุดหาหนอนแล้วทำลาย ในการเตรียมแปลงให้ย่อยดินให้ละเอียด โดยเฉพาะพื้นที่เปิดใหม่ใกล้ป่าหรือใกล้กองปุ๋ยหมัก ใช้สารเคมีประเภทคลอร์ไพริฟอสราดบริเวณที่พบ สารเคมีดังกล่าวเป็นสารเคมีกำจัดแมลงประเภทสัมผัสและกินตาย มีพิษตกค้าง 20 - 25 วันในดิน



3. เพลี้ยอ่อน 
          เป็นแมลงปากดูด จะดูดน้ำเลี้ยงของใบ ก้านใบ ด้านท้ายลำตัวเพลี้ยอ่อนมีท่อยื่นออกมา 2 ท่อ
ใช้ปล่อยสารน้ำหวานเป็นอาหารของเชื้อรา ทำให้พืชสกปรกเกิดราดำ พืชสังเคราะแสงได้ลดลง
ทำให้ชงักการเจริญเติบโต ใบหงิกย่น เพลี้ยอ่อนจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มตามส่วนยอดช่อดอกและขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว

* นอกจากศัตรูดังกล่าวแล้ว ยังพบว่าทากและหนูเป็นศัตรูสำคัญที่เข้าทำลายผลสตรอเบอรี่ได้



การติดดอก, ออกผล และ การเก็บเกี่ยว
          ต้นสตรอเบอรี่จะเริ่มแทงช่อดอกประมาณเดือนพฤศจิกายน เมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงและช่วงแสงของวันสั้นเข้า คือ ประมาณหนึ่งเดือนหลังจากปลูก เมื่อดอกบานมีการผสมเกสรแล้วประมาณหนึ่งเดือน ผลจะเริ่มทยอยแก่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้ โดยผลสุกมากที่สุดในช่วงเดือนมีนาคมและจะวายประมาณปลายเดือนเมษายน

          สตรอเบอรี่นอกจากเป็นอาหารแล้วยังใช้เป็นสมุนไพรได้ เนื่องจากผลสตรอเบอรี่อุดมด้วยวิตามินซีและธาตุเหล็ก มีคุณประโยชน์ต่อระบบเลือดและหัวใจ ลูกสีแดงสดอุดมด้วยซูเปอร์ไฟเบอร์เพคติน ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณโคเลสเตอรอลได้ระดับหนึ่ง นอกจากนั้นยังช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้สะดวก มีสรรพคุณเป็นยาระบายอย่างอ่อน ยาขับปัสสาวะและสามารถยับยั้งสารก่อมะเร็งกลุ่มไนโตรซามึนได้ (สารกลุ่มนี้กระตุ้นการเกิดมะเร็งในลำไส้) เนื่องจากมีโพลีฟินอลปริมาณสูง



สำหรับการปลูกสตรอเบอร์รี่แบบรากแช่ในสารละลาย

            การปลูกสตรอเบอร์รี่แบบรากแช่ในสารละลายนั้นไม่สามารถนำเอาต้นไหลที่ได้จากการปลูกบนดินหรือวัสดุปลูกอื่นๆมาปลูกได้ เนื่องจากระบบรากของพืชที่ปลูกแบบรากแช่กับการปลูกในวัสดุปลูกต่างกันถ้านำเอาต้นที่ปลูกแบบวัสดุปลูกมาก่อนมาย้ายลงปลูกแบบรากแช่ในสารละลายส่วนใหญ่ต้นเกล้านั้นจะตาย ดังนั้นก่อนปลูกสตรอเบอร์รี่แบบรากแช่ในสารละลายนั้นผู้ปลูกต้องมีการเตรียมต้นเกล้าสำหรับการปลูกแบบนี้ก่อน โดยสามารถทำได้ 2 วิธีคือ

1. การเตรียมต้นเกล้าที่ได้จากไหลต้นพันธุ์


ต้นสตรอเบอร์รี่ที่สมบูรณ์จะมีการสร้างไหลออกมาจากต้นหลักโดยมีสายเป็นตัวเชื่อมเพื่อลำเลียงน้ำและอาหาร ในขณะที่ต้นไหลยังมีระบบรากไม่สมบูรณ์พอที่จะหาน้ำและอาหารมาเลี้ยงตัวเองได้  เมื่อผู้ปลูกเพิ่มเห็นต้นหลักสร้างสายและไหลยื่นออกมาจากต้นหลักแล้วให้ผู้ปลูกเตรียมสร้างต้นเกล้าเพื่อใช้ในการปลูกแบบรากแช่ดังนี้

1.1 ให้ใช้ฟองน้ำ หุ้มบริเวณตุ่มรากของต้นไหลและใช้ภาชนะรองน้ำไว้แล้วนำฟองน้ำนั้นไปจุ่มลงน้ำโดยให้น้ำท่วมประมาณ 1/2 ของก้อนฟองน้ำก็พอ

1.2 ประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากกระตุ้นการเกิดรากที่ไหลแล้วต้นสตรอเบอร์รี่จะมีระบบรากที่สามารถปลูกแบบรากแช่ในสารละลายได้อย่างสมบูรณ์ 

1.3 การตัดไหล ก่อนตัดไหลผู้ปลูกต้องสังเกตุที่รากของต้นไหลว่ามีมากพอที่จะสามารถย้ายปลูกได้หรือไม่โดยดูที่ความสมบูรณ์ของใบของต้นไหลเป็นหลักก็ได้มีมีมากกว่า 3 ก้านหรือยัง  การตัดไหลให้ตัดบริเวณตรงกลางของสาย ห้ามตัดชิดด้านใดด้านหนึ่ง เนื่องจากการตัดชิดด้านในด้านหนึ่งจะทำให้ต้นสตรอเบอร์รี่เกิดแผลและเชื้อโรคจะเข้าทำลายได้ง่าย

1.4 ให้นำต้นไหลที่ทำการตัดแล้วย้ายลงปลูกในแปลงปลูกได้ โดยช่วงแรกให้ใช้ EC ประมาณ 1.2 - 1.4

1.5 เมื่อปลูกได้ประมาณ 2 สัปดาห์ให้เปลี่ยนน้ำในระบบใหม่ และปรับ EC เป็น 1.5 - 1.7

1.6 เมื่อปลูกได้ประมาณ 2 สัปดาห์ให้เปลี่ยนน้ำในระบบใหม่ และปรับ EC เป็น 1.7 - 2.0 และให้เลี้ยงด้วย EC ในระดับนี้ไปตลอด และให้ปุ๋ย C เสริม โดยฉีดพ่น 2 - 3 ครั้งต่อสัปดาห์  ในระหว่างนี้ถ้าต้องการปลูกเพื่อเก็บผลก็ให้ตัดไหลที่งอกออกมาทิ้งให้หมด เพื่อให้ต้นสะสมอาหารและมีความสมบูรณ์พร้อมที่จะออกดอก 

1.7 เมื่อสตรอเบอรี่ เริ่มติดผลได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ให้เสริมปุ๋ย K ด้วยการฉีดพ่นสัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง เพื่อให้ผลสตรอเบอร์รี่สมบูรณ์และเพิ่มน้ำตาลให้กับผลมากขึ้น





ตัวอย่าง การทำต้นไหลเพื่อนำไปปลูกต่อ


2. การเตรียมต้นเกล้าจากการเพาะเมล็ด

          สตรอเบอร์รี่เป็นพืชเมืองหนาวที่ ขยายพันธุ์ด้วยการสร้างไหล และการใช้เมล็ด สำหรับเมล็ดสตรอเบอร์รี่ที่ใช้ในการปลูกนั้นจะแบ่งการเตรียมเมล็ด ออกเป็น 2 ช่วง ก่อนปลูกคือ 

1. ช่วงระยะพักตัว กล่าวคือ ตามธรรมชาติของพืชในเขตหนาวเมล็ดของพืชเหล่านี้เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวจะมีระยะฟักตัวเพื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในเมล็ดเพื่อให้พร้อมต่อการงอกเมื่อถึงฤดู และมีปัจจัยที่เหมาะสมต่อการงอก
          ดังนั้นเราจะสังเกตุได้ว่าเมล็ดพืชในเขตหนาวถ้าเราเก็บมาใหม่ๆ แล้วนำมาเพาะทำไมจึงมีเปอร์เซ็นต์การงอกต่ำ นั้นเป็นเพราะว่าเมล็ดเหล่านั้นยังไม่เข้าสู่ระยะฟักตัวเพื่อเปลี่ยนเคมีในเมล็ดดังกล่าวมาแล้ว แต่เมื่อเรานำเมล็ดไปเก็บในตู้เย็นหรือที่มีอุณหภูมิตำเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วนำเมล็ดนั้นมาเพราะจะทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดนั้นสูงขึ้นกว่าเมล็ดที่ไม่ได้ผ่านระยะฟักตัว โดยสตรอเบอร์รี่มีระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ ในอุณหภูมิต่ำกว่า 7 องศาเซลเซียส

2. ช่วงระยะเวลาการงอก  โดยปกติของเมล็ดสตรอเบอร์รี่เมื่อผ่านระยะฟักตัวมาแล้วประมาณ 2 - 4  สัปดาห์ เมื่อถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยการงอก คือ น้ำ, อุณหภูมิ และอ๊อกซิเจน เมล็ดจะเริ่มงอกภายใน 7 - 14 วัน

          การเพาะเมล็ดเป็นวิธีการปลูกสตรอเบอร์รี่ที่ใช้เวลาและมีวิธียุ่งยากกว่าการปลูกด้วยวิธีอื่น แต่การเพาะเมล็ดเป็นวิธีที่ผู้ปลูกสามารถเริ่มต้นได้ทุกฤดูและตัดปัญหาการขาดแคลนต้นไหลในบางช่วงฤดูได้ โดยการเพาะเมล็ดสตรอเบอร์รี่ มีวิธีการดังนี้







1. นำเมล็ดที่ผ่านการฟักตัวแล้วมาแช่ในน้ำสะอาด โดยเทน้ำเก่าออกส่วนหนึ่ง และเติมน้ำใหม่เข้าไปแทนทุกวัน สาเหตุที่ต้องทำอย่างนี้คือ เมื่อเราแช่เมล็ดสตรอเบอร์รี่ เมล็ดจะคายเคมีที่ทำให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและมีเมือกออกมาคลุมตัวเมล็ดเอาไว้ ถ้าเราไม่เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันจะทำให้น้ำมีอ๊อกซิเจนต่ำ และเมล็ดจะเน่าได้

2. หลังจากผ่านไปประมาณ 7 วัน จะมีรากเล็กๆ สีขาวยาวประมาณ 1 - 2 มิลลิเมตร งอกออกมาจากเมล็ด ในช่วงนี้เมล็ดจะมีการคายเมือกหุ้มเมล็ดออกมามากทำให้เมล็ดที่แช่เกาะกันเป็นกลุ่ม ให้เราใช้ตะเกียบ ค่อยๆคนให้เมล็ดแยกออกจากกัน จากนั้นให้แยกเมล็ดที่งอกออกมานำไปเพาะในฟองน้ำเหมือนกับการปลูกสลัดในระบบไฮโดรฯ ต่อไป

3. อนุบาลเกล้าสตรอเบอร์รี่ในถาดอนุบาลด้วยน้ำเปล่า (วันที่ 1 - 7) คอยรักษาระดับน้ำให้อยู่ประมาณ 2 ส่วน 3 ของก้อนฟองน้ำ และให้โดยแสงรำไรอย่าให้โดนแดดโดยตรง

4. เมื่ออนุบาลครบ 7 วันก็เริ่มให้ปุ๋ย อ่อนๆ ด้วยใช้ EC ประมาณ 0.8 - 1.1 เมื่อครบ 14 วันก็ย้ายลงแปลงปลูกได้โดยใช้ EC ที่ 1.2 - 1.4 จนครบ 1 เดือน ก็ปรับ EC เป็น 1.5 - 1.7 (ให้เปลี่ยนน้ำทุกๆ 2 สัปดาห์) และให้ปุ๋ย C เสริม โดยฉีดพ่น 2 - 3 ครั้งต่อสัปดาห์  ในระหว่างนี้ถ้าต้องการปลูกเพื่อเก็บผลก็ให้ตัดไหลที่งอกออกมาทิ้งให้หมด เพื่อให้ต้นสะสมอาหารและมีความสมบูรณ์พร้อมที่จะออกดอก 


5. เมื่อสตรอเบอรี่ เริ่มติดผลได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ให้เสริมปุ๋ย K ด้วยการฉีดพ่นสัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง เพื่อให้ผลสตรอเบอร์รี่สมบูรณ์และเพิ่มน้ำตาลให้กับผลมากขึ้น


หมายเหตุ
1. ค่า pH ที่เหมาะสมสำหรับสตรอเบอร์รี่ อยู่ที่ 6.0 - 6.8  และ EC สำหรับต้นที่โตแล้วอยู่ที่ 1.7 - 2.3
2. ควรเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกๆ  2 สัปดาห์
3. ควรฉีดพ่นปุ๋ย C และสารกำจัดและป้องกันโรคและแมลง ทุกๆ 7 - 10 วัน


วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สลัดคอส ออติเกีย (Ortigia Cos)



สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
ผักกาดหวาน หรือ สลัดคอส เป็นพืชที่ต้องการสภาพอากาศเย็น อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ ระหว่าง 10 - 24′C ในสภาพอุณหภูมิสูง การเจริญเติบโต ทางใบจะลดลง และพืชสร้างสารคล้ายน้ำนม หรือยางมาก เส้นใยสูง เหนียว และมีรสขม

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร
สลัดคอส เป็นพืชที่นิยมบริโภคสด โดยเฉพาะในสลัด หรือกินกับยำ นำมาตกแต่ง ในจานอาหาร แต่สามารถประกอบอาหารได้ ในบางชนิด เช่น นำไปผัดกับน้ำมัน โดยใช้ไฟแรงอย่างรวดเร็ว ผักกาดหวาน มีน้ำเป็นองค์ประกอบ และมีวิตามินซีสูง นอกจากนี้ ยังให้ฮีโมโกลบิน (hemoglobin) ช่วยป้องกันโรค โลหิตจาง บรรเทาอาการท้องผูก เหมาะสำหรับ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน



ตัวอย่างการกำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดคอส-ออติเกีย (ในพื้นที่อากาศร้อน)

1. หลังเพาะเมล็ดได้ประมาณ 7 วัน เริ่มให้ปุ๋ยอ่อนๆ โดยให้ค่า EC ประมาณ 1.0 - 1.2 ms/cm


2. เมื่อครบกำหนด 10 - 14 วัน หรือต้นเกล้าเริ่มมีใบจริงประมาณ 2 - 3 ใบ ก็สามารถย้ายลงแปลงปลูกได้เลย โดยกำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.2 - 1.3 ms/cm


3. ช่วงผักมีอายุได้ประมาณ 15 - 25 วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.3 - 1.4 ms/cm 

และควรฉีดพ่น แคลเซียม และโบรอน สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง เพื่อป้องกันอาการปลายใบไหม้ (Tip burn)


4. ช่วงผักมีอายุได้ประมาณ 26 - 30  วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.2 - 1.3 ms/cm 

และควรฉีดพ่น แคลเซียม และโบรอน สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง เพื่อป้องกันอาการปลายใบไหม้ (Tip burn)


6. เมื่อผักมีอายุได้ประมาณ 31 - 35  วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.1 - 1.2 ms/cm 

และควรฉีดพ่น แคลเซียม และโบรอน สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง


7.เมื่อผักมีอายุได้ประมาณ 36 - 40  วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.0 - 1.1 ms/cm 

และควรฉีดพ่น แคลเซียม และโบรอน สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง


8.เมื่อผักมีอายุได้ประมาณ 41 - 50  วัน ให้กำหนดค่า EC สำหรับผักสลัดในช่วงนี้ อยู่ต่ำกว่า 0.5 ms/cm 
หรือจะใช้น้ำเปล่าเลี้ยงประมาณ 3 วัน ก่อนเก็บเกี่ยวก็ได้ครับ

ข้อแนะนำในการปลูก

1. หลังเพาะเมล็ดได้ประมาณ 2 - 3 วัน แนะนำให้นำต้นเกล้าได้รับแสงแดดตอนเช้าหรือเย็นประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง/วัน เพื่อให้ต้นเกล้าไม่ยืดและแข็งแรงมากขึ้น

2. ในพื้นที่อากาศร้อนเมื่อผักสลัดมีอายุปลูกได้ประมาณ 20 วัน มักมีอาการขอบใบไหม้ แนะนำให้ปรับค่า EC ให้ต่ำและให้ลดการคายน้ำทางใบของพืชลง ด้วยการพลางแสง หรือเสปรย์น้ำเพื่อลดอุณหภูมิและเพิ่มความชื้นในอากาศ และควรมีการฉีดพ่น ธาตุแคลเซียม-โบรอน เสริมทางใบเพื่อป้องกันอาการขอบใบไหม้

3. ศัตรูพืชที่สำคัญของ ผักสลัด คือ เพลี้ยไฟ และหนอนใยผัก แนะนำให้ฉีดพ่นสารสกัดจากธรรมชาติเพื่อป้องกัน และกำจัด ควรหลีกเลี่ยงสารเคมีจำกัดศัตรูพืช เนื่องจากสลัดเป็นพืชอายุสั้นและต้องบริโภคส่วนที่เป็นใบจึงอาจเป็นอัตรายต่อผู้บริโภคได้

4. การปลูกสลัดแนะนำให้เปลี่ยนน้ำผสมธาตุอาหารใหม่ในช่วงที่ผัก อายุได้ 28 วัน (หรืออายุผัก 4 สัปดาห์) โดยลดปริมาณการใช้ปุ๋ย A,B ลงทุกๆ ช่วงอายุปลูก ข้อดีของการลดการปลูกสลัดโดยใช้ EC สูง ไปหาต่ำมีข้อดีคือ
4.1 ประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้ธาตุอาหาร
4.2 เพื่อป้องกันการเกิด Tip burn โดยเฉพาะผักที่เกิดอาการดังกล่าวได้ง่ายเช่น ผักในกลุ่มคอส, บัตเตอร์เฮด และผักกาดแก้ว
4.3 ช่วยให้ผักเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
4.4 ทำให้ผักสลัดที่ปลูกไม่มีรสขม หรือมีความขมลดลงในช่วงฤดูร้อน 

5.แนะนำให้เปลี่ยนน้ำผสมปุ๋ยใหม่เมื่อผักมีอายุได้ประมาณ 25 วัน

หมายเหตุ  ผักสลัดเป็นพืชทานใบที่มีอายุปลูกสั้น การใช้ปุ๋ยในระดับสูงเกิน 1.5 ms/cm หลังจากผักอายุได้ 30 วันไม่ได้เกิดประโยชน์ใดกับผักสลัดเลย กลับทำให้ผักมีอาการขาดธาตุแคลเซียม (Tipburn) มากขึ้นเพราะเพื่อความเข้มข้นของธาตุอาหารในระบบมีสูงเกินไป  ช่วงเวลาที่ผักสลัดสะสมอาหารมากที่สุดคือช่วงที่ผักมีอายุได้ประมาณ 10 - 30 วันแรก ซึ่งหลังอายุ 30 วันไปแล้วผักสลัดจะใช้ปุ๋ยน้อยลง ส่วนที่ผักสลัดต้องการมากที่สุดคือ น้ำ

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การปลูกพืชในระบบรากแช่ (Liquid Culture)

หมายถึง การปลูกโดยให้รากของพืชแช่อยู่ในน้ำผสมธาตุอาหารพืชตลอดเวลา และมีระบบเติมอากาศลงไปในสารละลายเพื่อให้รากพืชได้รับ ออกซิเจน อย่างสม่ำเสมอ การปลูกพืชระบบรากแช่สามารถแยกย่อยได้เป็น 4 เทคนิค ใหญ่ๆ คือ

1. ระบบน้ำตื้น  NFT  (Nutrient film technique)  พัฒนาขึ้นโดย Allen Cooper แห่งสถาบันวิจัยการปลูกพืชในเรือนกระจก (GCRI) ในประเทศอังกฤษ ประมาณปี ค.ศ. 1965  หลักการของวิธีนี้ คือ การปล่อยให้น้ำผสมธาตุอาหารพืชไหลไปในรางปลูก    โดยสารละลายในรางปลูกจะมีความลึกประมาณ 0.5 cm การทำเช่นนี้ช่วยให้ราก และน้ำมีการสัมผัสกับอากาศ เพื่อเพิ่มออกซิเจนในสารละลายธาตุอาหารให้มากขึ้น การปลูกแบบนี้จึงช่วยลดปัญหาการขาดอากาศของรากพืชได้ดี







          นอกจากนี้เมื่อปริมาตรของสารละลายที่ไหลผ่านรากพืชมีน้อยลง ทำให้ไม่ต้องสร้างรางปลูกที่มีขนาดใหญ่และแข็งแรง ค่าก่อสร้างรางปลูกจึงประหยัดกว่าการปลูกแบบ DFT

          ระบบ  NFT  มีข้อด้อยในการใช้ในเขตร้อนอย่างประเทศไทย  เนื่องจากน้ำที่ไหลในระบบรางมักจะมีความร้อนสะสมมาก ทำให้รากพืชขาดอากาศ อีกทั้งคุณสมบัติของสารละลายเมื่อไหลผ่านรากพืช บวกกับอุณหภูมิของสารละลายที่สูงขึ้นเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้คุณสมบัติทางเคมีในธาตุอาหารพืชมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนธาตุอาหารบ่อยในช่วงที่มีอากาศร้อน ดังนี้การปลูกด้วยระบบ NFT ในเขตร้อนนั้นจึงไม่ควรต่อรางปลูกให้ยาวมากเกินไปเนื่องจากจะมีความร้อนสะสมในรางปลูกมากแล้ว ยังทำให้ออกซิเจนจากหัวรางถึงท้ายรางต่างกันมากเกินไปจนกระทบต่อการเจริญเติบโตของผักในแปลงปลูก

       เนื่องด้วยระบบ NFT เป็นระบบที่มีน้ำในรางปลูกน้อยมากเมื่อเกิดปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง ทำให้ระบบปั๊มน้ำหยุดการทำงาน หากหยุดเป็นระยะเวลานานๆจะทำให้รากพืชแห้งจนพืชที่ปลูกนั้นตายได้ ดังนั้นผู้ปลูกด้วยระบบนี้จึงควรมีระบบสำรองไฟฟ้าไว้ใช้ในกรณีที่ไฟฟ้าเกิดขัดข้อง

การปลูกด้วยเทคนิค NFT นอกจานี้ผู้ปลูกยังจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องการจัดการธาตุอาหารพืชเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกรณีที่ปลูกพืชอายุยืนเช่น มะเขือเทศ, พริก ฯลฯ  สำหรับการปลูกพืชอายุสั้น เช่น ผักต่าง ๆ ผู้ปลูกเพียงแต่ควบคุมค่าการนำไฟฟ้า (EC) และค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ให้ได้ก็เพียงพอแล้วครับ


รางปลูก NFT  สามารถทำจากวัสดุต่าง ๆ ได้หลายชนิด เช่น โพลีเอธิลีน (PE) โพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) ไฟเบอร์กลาส  ฯลฯ  ควรหลีกรางที่ทำจากโลหะ เนื่องจากเกิดสนิมได้ง่าย อีกทั้งยังมีความร้อนสะสมมาก  ความกว้างของรางปลูก NFT สำหรับปลูกผักขนาดเล็กทั่วไป อยู่ระหว่าง 10 - 15 cm  และรางปลูกความกว้าง 20 - 30 cm สำหรับการปลูกพืชขนาดใหญ่ เช่น มะเขือเทศ, แตงกวา, แคนตาลูป ฯลฯ  

          ความยาวของรางที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 10 เมตร ทั้งนี้เนื่องจากรางปลูกที่ยาวเกินไปจะทำให้พืชเจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอ การติดตั้งรางควรให้มีความลาดเอียงเหมาะสมที่จะให้สารละลายจะไหลจากปลายด้านหนึ่งไปยังปลายอีกด้านหนึ่งของรางได้อย่างสะดวก เพื่อให้ออกซิเจนสามารถละลายลงไปในสารละลายได้ดี และสารละลายไม่ขังอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งภายในราง รางปลูก NFT จะมีการออกแบบให้มีร่องเล็กๆ ภายในรางเพื่อช่วยแก้ปัญหาอัตราการไหลไม่สม่ำเสมอภายในรางปลูก


********************************************************************

2. ระบบน้ำลึก  DFT  (Deep Flow Technique) คือ เทคนิคการปลูกโดยให้รากพืชแช่อยู่ในภาชนะบรรจุสารละลายธาตุอาหารพืชโดยที่ระดับสารละลายในภาชนะปลูกจะลึกประมาณ 15 - 20 ซม. ซี่งระบบ DFT นี้มี 2 แบบ คือ มีการหมุนเวียนสารละลายธาตุอาหาร และแบบเติมอากาศ







จุดเด่นของการปลูกด้วยระบบน้ำลึก DFT
1. เป็นระบบที่สามารถดัดแปลงนำอุปกรณ์ที่หาซื้อได้ง่ายมาดัดแปลงเป็นอุปกรณ์ในการปลูกได้สะดวก เช่น ลังพลาสติก, กล่องโฟม, อ่างน้ำพลาสติก, ถังน้ำ, ขวดน้ำ ฯลฯ

2. เมื่อไฟฟ้าดับจะไม่มีปัญหาเรื่องการขาดน้ำที่รากเนื่องจากรากจะแช่อยู่ในน้ำที่มีปริมาณมาก

3. มีการพักระบบปั๊มน้ำ หรือระบบเติมอากาศในช่วงกลางคืนได้ เนื่องจากรากพืชต้องการออกซิเจนต่ำในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ประหยัดไฟฟ้าได้ในระดับหนึ่ง

4. ระบบปลูก DFT มีความยืดหยุ่นในการปลูกพืชได้หลากหลายชนิด



ข้อด้อยของการปลูกด้วยระบบน้ำลึก DFT
1. ต้องคอยปรับระดับน้ำให้เหมาะสมกับอายุพืช เนื่องจาเกเมื่อพืชเจริญเติบโตปริมาณรากพืชจะมากขึ้น ทำให้พืชต้องการปริมาณอ๊อกซิเจนที่รากมากขึ้น ทำให้ผู้ปลูกต้องปรับลดระดับน้ำที่ใช้ปลูกลงเพื่อให้เกิดพื้นที่อากาศระหว่างรากกับผิวน้ำเพิ่มขึ้น และต้องมีการปรับให้เหมาะสมทั้งเรื่องระยะเวลาในการปรับลดและปริมาณที่ปรับลด ซึ่งถ้าผู้ปลูกทำการลดไม่เหมาะสมคือลดระดับน้ำเร็วเกินไปขณะที่พืชยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ หรือลดระดับน้ำช้าไปเมื่อพืชโตเกินไปแล้ว ย่อมส่งผลให้พืชหยุดชะงักการเจริญเติบโตได้ ดังนั้นในช่วงเวลาของการปรับลดระดับน้ำผู้ปลูกต้องสังเกตุอาการที่แสดงออกของพืชเป็นหลัก และควรปรับลดระดับน้ำลงในช่วงเวลาเย็นเนื่องจากพืชจะปรับตัวได้ดีกว่าช่วงกลางวัน

พืชทานใบ เช่น สลัด, ผักกวางตุ้ง, คะน้า ฯลฯ จะลดระดับน้ำลงเมื่อผักอายุปลูกได้ประมาณ 28 - 30 วัน (นับจากวันที่เพาะเมล็ด)  ส่วนผักทานผลจะลดลงเมื่อพืชมีอายุปลูกได้ประมาณ 40 - 50 วัน และระดับน้ำนั้นให้มีช่วงว่างอากาศจากผิวน้ำและแผ่นปลูกประมาณ 1 - 2 นิ้ว โดยให้รากแช่ในน้ำประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของราก

2. ต้องใช้โครงสร้างของโต๊ะปลูกที่แข็งแรงเนื่องจากต้องรับน้ำหนักของน้ำในกระบะปลูกที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก และต้องตั้งวางโต๊ะปลูกบนพื้นที่ๆ มีพื้นแข็งไม่ยุบตัว หากต้องวางบนพื้นดินที่อ่อนตัวต้องมีการเทคอนกรีตเพื่อให้พื้นแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักของโต๊ะปลูกได้

3. เป็นระบบปลูกที่ต้องใช้ปริมาณน้ำและปุ๋ยค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับการปลูกด้วยระบบอื่นๆ

4. การระบายอากาศจากด้านล่างของแปลงปลูกระบบ DFT ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจะถูกบังด้วยแผ่นโฟม หรือพลาสติกที่ใช้ปลูกทำให้การระบายอากาศจากด้านล่างแปลงปลูกขึ้นด้านบนไม่สามารถทำได้ จึงมักเกิดปัญหาการระบาดของเชื้อราที่ใบได้ง่าย โดยเฉพาะการปลูกผักสลัด หรือพืชที่มีลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย


********************************************************************

3. ระบบกึ่งน้ำลึก DRFT  (Dynamic Root Floating Technique) เป็นระบบที่มีการทำงานเช่นเดียวกับระบบ NFT คือให้น้ำผสมธาตุอาหารไหลผ่านรากพืชในรางปลูก แต่ระดับน้ำที่ไหลผ่านรากพืชนั้นจะมีความลึกมากกว่าระบบ NFT โดยระดับน้ำที่ไหลผ่านรากนั้นจะมีความลึกอยู่ที่ประมาณ 1 - 10 ซม. ระบบนี้ได้แก้ไขข้อจำกัดของระบบ NFT ตรงที่เมื่อไฟฟ้าขัดข้องจนไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ปั๊มน้ำได้จะยังคงมีน้ำที่ใช้ปลูกพืชเหลือค้างบางส่วนในรางปลูกทำให้พืชรากพืชไม่ขาดน้ำในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ระบบ DRFT นี้ผู้ปลูกจะต้องมีการปรับลดระดับน้ำในรางปลูกเช่นเดียวกับระบบ DFT ด้วยเพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณอากาศที่รากพืชเมื่อพืชมีอายุปลูกมากขึ้น





จุดเด่นของระบบกึ่งน้ำลึก DRFT
1. ใช้หลักการทำงานเช่นเดียวกับระบบ NFT แต่ด้วยระดับน้ำที่สูงขึ้น และมีน้ำส่วนหนึ่งที่จะค้างอยู่ในรางปลูกทำให้ลดปรับหาเมื่อปั๊มน้ำไม่สามารถจ่ายน้ำเข้ารางปลูกได้

2. ผู้ปลูกสามารถใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาดัดแปลงเป็นรางปลูก และมีราคาประหยัดกว่ารางปลูกแบบ NFT  อาทิเช่น ท่อน้ำ PVC, รางน้ำฝนไวนิล, รางครอบสายไฟ ฯลฯ

3. โครงสร้างของโต๊ะปลูกสามารถทำจากวัสดุที่ไม่ต้องแข็งแรงมากนักเนื่องจากไม่ต้องรับน้ำหนักของน้ำที่มากเหมือนกับระบบ DFT

4. ใช้น้ำและปุ๋ยน้อยกว่าระบบ DFT จึงทำให้สามารถควบคุมค่า EC และ pH ได้ง่ายกว่าระบบ DFT


ข้อด้อยของระบบกึ่งน้ำลึก DRFT
1. ผู้ปลูกต้องมีความเข้าใจในการปรับลดระดับน้ำในรางปลูกให้เหมาะสมกับอายุพืช เพื่อให้พืชที่ปลูกสามารถเจริญเติบโตได้ดีและเป็นปกติ

2. มักมีปัญหาเรื่องความร้อนสะสมเช่นเดียวกับระบบ NFT


********************************************************************

4. ระบบอะควอโพนิกส์ (Aqua Ponics)
เป็นระบบการปลูกแบบรากแช่ในสารละลาย แบบเดียวกับระบบการปลูกทั้ง 3 แบบที่กล่าวมาข้างต้น แต่จะแตกต่างออกไปตรงที่นำที่นำมาใช้หมุนเวียนในการปลูกพืชเป็นน้ำที่ได้มาจากการเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่นปลา, กุ้ง ฯลฯ และมีการเพิ่มระบบกรองชีวภาพที่จะใช้แบคทีเรียในการย่อยสลายเศษอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์น้ำรวมถึงมูลของสัตว์น้ำ ผ่านกระบวนการย่อยสลายด้วยแบคทีเรียเปลี่ยนแอมโมเนีย ให้เป็นไนโตรเจน ซึ่งเป็นธาตุอาหารพืช






จุดเด่นของระบบอะควอโพนิกส์
1. เป็นการใช้ทรัพยากรโดยเฉพาะน้ำได้อย่างประหยัดและคุ้มค่า โดยการหมุนเวียนด้วยระบบกรองกลับมาใช้ใหม่

2. ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยลงไปได้มาก

3. ได้ประโยชน์จากการเลี้ยงสัตว์น้ำเพิ่มเติมนอกเหนือจากการปลูกพืช

4. สามารถประยุกต์ใช้ได้กับระบบปลูกหลากหลายแบบ


ข้อด้อยของระบบอะควอโพนิกส์
1. ผู้ปลูกต้องศึกษาทำความเข้าใจในการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุของเสียจาการการเลี้ยงสัตว์เพื่อเปลี่ยนให้เป็นเคมีในรูปที่พืชใช้ประโยชน์ได้  โดยที่หากผู้ปลูกไม่สามารถควบคุมปริมาณแอมโมเนียมจากมูลสัตว์ได้ในระดับที่เหมาะสมอาจเกิดปัญหาขึ้นกับสัตว์เลี้ยงและพืชที่ปลูกได้

2. มีต้นทุนในค่าใช้จ่ายและเวลาเพิ่มขึ้น อาทิเช่น ค่าบำรุงรักษาระบบกรองชีวภาพ ต้องมีการเติมแบคทีเรียที่ช่วยย่อยสลายแอมโมเนียมในน้ำเป็นระยะๆ  รวมถึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือวัดค่าแอมโมเนียมในน้ำด้วย ฯลฯ

3. มีข้อจำกัดในเรื่องชนิดของพืชที่จะนำมาปลูก กล่าวคือ การย่อยสลายอินทรีย์วัตถุของให้อยู่ในรูปธาตุอาหารพืชต้องใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายรวมถึงปริมาณธาตุอาหารที่ได้จากการย่อยสลายแล้วอาจจะไม่เพียงพอต่อการปลูกพืช  ทำให้การปลูกระบบนี้ใช้ได้กับพืชที่ต้องการปริมาณธาตุอาหารไม่มากเท่านั้น


* ในบทความต่อไปจะกล่าวถึงระบบการปลูกแบบ รากลอยในอากาศ (Aeroponics)