วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557

บีท รูท (Beet-Root)



บีท-รูท  มีชื่อเรียกอีกอย่างว่าหัวผักกาดแดง เป็นพืชที่มีระบบรากหรือหัวใต้ดินสะสมอาหาร ลักษณะรากเป็นทรงกลมด้านในอวบน้ำ มีเนื้อสีแดงเข้มเลือดหมู หรือสีแดงม่วง  ในเนื้อของ บีท-รูท มีสารสีแดงที่เรียกว่า "บีทานิน" (Betanin) ซึ่งเป็นกรดอะมิโน ที่ช่วยยับยั้งการเกิดโรคมะเร็ง และลดการเติบโตของเนื้องอกได้ และยังทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น  นอกจากนี้ในบีท-รูท ยังมีสารสีม่วง ที่เรียกว่า "แอนโทไซยานิน" (Anthocyanin) ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดสารก่อมะเร็งในร่างกายได้อีกด้วย

บีทรูท เป็นพืชที่ชอบอากาศเย็น อุณหภูมิที่เหมาะสมในการปลูกคือ 15 - 22 องศา C หากปลูกในพื้นที่อากาศร้อนการเจริญเติบโตจะช้า และหัวจะไม่ค่อยใหญ่มาก บีท-รูท เป็นพืชที่ไม่มีแมลงรบกวน ปลูกง่าย และสามารถปลูกในกระถางได้เช่นเดียวกับเบบี้แครอท

ดินที่เหมาะสมในการปลูกคือดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำได้ดี มีค่า pH อยู่ที่ 5.5 - 7.0  ระยะการปลูกระหว่างต้นประมาณ 7 - 10 เซนติเมตร



วิธีปลูก
1. แช่เมล็ดในน้ำอุ่น 50 องศา C ประมาณ 1 คืน  พึ่งเมล็ดให้แห้งนำมาเพาะในถาดเพาะ โดยใช้วัสดุเพาะ เช่น พีทมอสผสมขุยมะพร้าว รดน้ำทุกวันตอนเช้า และคลุมด้วยกระดาษหรือผ้าพลาสติก ประมาณ 7 - 14 วันเมล็ดจะเริ่มงอก ถ้าเพาะโดยแช่น้ำอุ่นไม่นาน หรือนำไปเพาะโดยไม่แช่น้ำอุ่นให้เมล็ดอิ่มน้ำก่อน เมื่อนำไปเพาะเมล็ดจะใช้เวลางอกประมาณ 12 - 24 วัน ดังนั้นควรแช่น้ำให้เมล็ดอิ่มน้ำเสียก่อน (แนะนำให้ใส่เมล็ดในถุงเจาะรูและกดให้ถุงใส่เมล็ดจมน้ำทั้งคืน) บรีทรูทใช้อุณภูมิค่อนข้างอุ่นในการงอกคือประมาณ 30 องศา C ดังนั้นถ้าเพาะให้งอกได้เร็วขึ้นควรนำถาดเพาะไปตากแดด ช่วง 1 - 4 วันแรกของการเพาะ

2. อนุบาลต้นเกล้าในถาดเพาะจนอายุเกล้าได้ประมาณ 20 - 25 วันจึงย้ายปลูก โดยอาจจะเลือกปลูกในกระถางที่มีความสูงประมาณ 15 - 20 ซม.ขึ้นไป ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 15 - 20 ซม.

3. เมื่อบีท-รูท อายุปลูกได้ประมาณ 60 - 80 วันก็สามารถเก็บมารับประทานได้

วิธีการเก็บ
1. บีท-รูท ที่มีหัวขนาดเล็กนิยมนำไปรับประทานสดเนื่องจากหัวที่มีขนาดเล็กเนื้อจะละเอียดและเนียน ส่วนบีท-รูท ที่มีหัวขนาใหญ่นิยมนำไปปั่นผสมกับผลไม้ หรือแครอทเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

2. วิธีเก็บให้ถอนบีท-รูท ออกจากดิน ใช้มีดตัดปลายรากออกเล็กน้อย และตัดก้านให้เหลือติดกับหัวประมาณ 1 นิ้ว นำหัวบีท-รูท ล้างน้ำให้สะอาดพึ่งให้แห้ง นำไปเก็บในตู้เย็นได้นานประมาณ 20 วัน

http://www.youtube.com/watch?v=bxCDgC5aTWo  การปลูกบีท-รูท

วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2557

การผลิตเชื้อราไตรโครเดอร์ม่า (เชื้อสด)

ขั้นตอนการผลิตเชื้อราไตรโครเดอร์ม่า (เชื้อสด)
สำหรับป้องกันและควบคุมโรคพืช


อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการปลิตเชื้อสดไตรโครเดอร์ม่า
* สำหรับผลิตเชื้อสดจำนวน 4 ถุงๆ ละ 200 - 250 กรัม

1. หม้อหุงข้าวไฟฟ้า / ทัพพีตักข้าว

2. ปลายข้าว 3 แก้ว (หาซื้อได้ตามข้าวจำหน่ายข้าวสารในตลาดสดทั่วไป)
3. น้ำสะอาด 2 แก้ว
4. หัวเชื้อราไตรโครเดอร์มา
5. ที่เย็บกระดาษ พร้อมลวดเย็บ
6. ไม้จิ้มฟัน
7. ถุงร้อนขนาด 8" x 12"
8. ตาชั่ง (จะใช้หรือไม่ก็ได้)




1. ทำการหุงปลายข้าวโดยใช้ปลายข้าว 3 ส่วน ต่อน้ำสะอาด 2 ส่วน ข้าวที่หุงออกมาได้จะมีลักษณะกึ่งสุกกึ่งดิบ สาเหตุที่ต้องให้ข้าวออกมาดิบนั้นเพราะเวลาทำการหมักเชื้อจะมีหยดน้ำเกิดขึ้นในถุงจะทำให้ข้าวแฉะและทำให้ข้าวบูดได้





2. เมื่อหม้อข้าวดีดให้ใช้ทัพพีซุยข้าวในหม้อให้ร่วน แล้วรีบตักข้าวขณะร้อนๆ ใส่ถุง โดยตักและชั่งให้ได้น้ำหนักประมาณ 200 - 250 กรัม ถ้าหากไม่มีเครื่องชั่งให้ตักข้าวประมาณ 3 ทัพพีพูนๆ





3. ให้พับปากถุงแล้วแผ่ข้าวให้กระจายเต็มถุง (อย่าใช้มือกดแรงจนเม็ดข้าวบี้แบน) 





4. เมื่อข้าวเริ่มเย็นแล้วให้ใส่หัวเชื้อราไตรโครเดอร์มาลงในข้าวเล็กน้อย 





5. พับปากถุงลงประมาณ 2 พับ จากนั้นให้เย็บปากถุงด้วยที่เย็บกระดาษ จากนั้นให้คลุกสปอร์เชื้อราให้กระจายไปทั่วเมล็ดข้าว ใช้วิธีการเขย่าถุงให้สปอร์เชื้อรากระจายทั่วถุง





6. เมื่อเขย่าข้าวในถุงจนเชื้อรากระจายดีแล้วให้ใช้ไม้จิ้มฟัน ทิ่มที่บริเวณปากถุงประมาณ 10 รู





7. เกลี่ยข้าวในถุงให้กระจายทั่วถุง แต่อย่าใช้มือกดเมล็ดข้าวจนแน่นเกินไปจะทำให้เชื้อรากระจายตัวได้ไม่ดีเท่าที่ควร ใช้มือกดไล่อากาศในถุงออก แล้วใช้มือค่อยๆ ถุงตรงกลางถุงขึ้นเพื่อดูดอากาศใหม่เข้าไปและให้ทำถุงในลักษณะเป็นโดมมีอากาศอยู่ด้านในถุงตามภาพด้านล่างนี้





8. นำถุงข้าวที่เกลี่ยจนแบนและดึงถุงให้มีอากาศด้านในถุงแล้ว ไปวางเรียงในที่ๆ มีแสงสว่าง แต่ห้ามโดนแสงแดดโดยเด็ดขาด เนื่องจากแสงแดดจะทำให้เชื้อราตายได้ หรืออาจจะใช้แสงจากหลอดไฟนีออนก็ได้เช่นกัน





9. หลังจากนั้นประมาณ 3 วัน จะเริ่มสังเกตุเห็นเส้นใยราสีขาวขุ่นเกาะที่บริเวณเมล็ดข้าว ให้เรากระตุ้นเชื้อราด้วยการเขย่าเมล็ดข้าวในถุงอีกครั้งให้สปอร์สีขาวกระจายทั่วเมล็ดข้าว แล้วทำขั้นตอนที่ 7, 8 อีกครั้งเพื่อเลี้ยงเชื้อต่อ





10. หลังจากบ่มเชื้อได้ประมาณ 5 - 7 วัน (นับจากวันแรกที่เพาะ) สปอร์สีขาวก็จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม คลุมเต็มเมล็ดข้าว ก็แสดงว่าเชื้อรานี้พร้อมจะนำไปใช้งานได้แล้ว


 



วิธีการใช้งานเชื้อสดไตรโครเดอร์ม่า

การนำเชื้อสดมาใช้งานผู้ใช้ต้องแยกสปอร์สีเขียวออกจากเมล็ดข้าว ด้วยมีขั้นตอนดังนี้


1. นำเชื้อสดไตรโครเดอร์ม่า เทใส่ภาชนะ แล้วเทน้ำสะอาดที่ไม่มีคลอรีนลงไปผสมให้พอท่วมเชื้อสด


 



2. แช่เชื้อสดกับน้ำสะอาดประมาณ 5 นาที่ แล้วใช้ช้อนหรือส้อมคนให้เมล็ดข้าวแตกตัวออกจากกัน แต่อย่าใช้มือบี้เมล็ดข้าวจนเละ ให้คนจนสปอร์สีเขียวหลุดออกจากเมล็ดข้าวให้มากที่สุด จากนั้นใช้กระชอนตาถี่กรองเอาเฉพาะน้ำสปอร์สีเขียวไปใช้งาน


 


3. น้ำสปอร์สีเขียวของเชื้อราไตรโครเดอร์ม่า ในกรณีนำไปใช้ไม่หมดให้กรอกใส่ขวดปิดฝาให้สนิทนำไปแช่ในตู้เย็น (ช่องธรรมดา) เก็บได้นานประมาณ 1 - 2 เดือน ส่วนเชื้อสดที่ยังไม่ได้ล้างออกจากเมล็ดข้าวให้ใส่ถุงปิดสนิทแช่ในตู่เย็นเก็บได้นานประมาณ 3 - 4 เดือน ส่วนเมล็ดข้าวสามารถนำไปโรยใต้ต้นไม้เพื่อปองกันโรครากเน่าให้กับต้นไม้ใหญ่ได้





การนำเชื้อสดไตรโครเดอร์มาไปใช้งาน

1. นำไปผสมกับปุ๋ยอินทรีย์  อัตราส่วนคือ  เชื้อสด 1 ส่วน /  รำข้าว 4 ส่วน / ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 100 ส่วน
นำส่วนผสมดังกล่าวผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วพรมน้ำให้พอประมาณไม่ให้แฉะเกินไป เก็บใส่กระสอบหรือถุงไว้ใช้งานต่อไป

2. นำไปรดต้นไม้หรือใส่ในถังปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ ให้ใช้เชื้อสด 100 กรัม (กรองเอาแต่น้ำ)  ผสมกับน้ำที่จะใช้รดหรือปลูก 200 ลิตร

3. กรณีฉีดพ่น ให้ใช้เชื้อสด (กรองเอาแต่น้ำ)  อัตราส่วนคือ
- กรณีป้องกันโรค ฉีดพ่น 7 - 10 วันครั้ง อัตราส่วน เชื้อสด 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
- กรณีรักษาและมีการระบาดมาก ฉีดพ่น ติดต่อกัน 3 - 5 วัน อัตราส่วน เชื้อสด 200 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร


วีดีทัศน์การใช้งานและการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา
1. การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มากับผักไฮโดรโพนิกส์  คลิ๊ก 
2. การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มากับกล้วยไม้ คลิ๊ก  
3. การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มากับนาข้าว คลิ๊ก
4. การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มากับสวนทุเรียน คลิ๊ก
5. การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มากับหน่อไม้ฝรั่ง คลิ๊ก
6. การผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา (เชื้อสด) คลิ๊ก

วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2557

ฟักทองญี่ปุ่น (Japanese Pumpkin)



ฟักทองญี่ปุ่น  มีถิ่นกำเนิดแถบอเมริกากลาง ภาคเหนือของเม็กซิโก และภาค ตะวันตกของ อเมริกาเหนือ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cucurbita moschata อยู่ในพืช ตระกูลแตง ปลูกกันแพร่หลาย ในเขตร้อน และเขตแห้งแล้ง เป็นพืชล้มลุก ลำต้นเป็นเถาเลื้อย ตามพื้นดิน ยาว 20-30 ฟุต ลักษณะลำต้นแข็ง เป็นเหลี่ยม มีร่องยาว ใบเป็นรูปห้าเหลี่ยม ขนาดใหญ่ ขอบใบหยักลึก มีขนปกคลุม เนื้อใบหยาบ ก้านใบและดอกมีขนาดเล็ก ผลมีสีเขียว รูปทรงกลมค่อนข้างแบน เนื้อแน่นแข็ง ฟักทองอ่อนเนื้อสีเหลือง เมื่อแก่เนื้อจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม รสเข้ม เมล็ดแบนรี สีขาวนวล อายุเก็บเกี่ยว หลังจากย้ายปลูก ประมาณ 100 วัน

สภาพแวดล้อมการปลูกฟักทองญี่ปุ่น

สภาพอากาศ ฟักทองญี่ปุ่นเจริญได้ดีในสภาพอากาศอบอุ่น มีความชื้นพอเพียง สามารถปลูกได้ในพื้นที่ ที่มีความสูงตั้งแต่ 600 ถึง 1200 เมตร จากระดับน้ำทะเล
อุณหภูมิ โดยทั่วไปอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเพาะกล้าฟักทองญี่ปุ่น อยู่ระหว่าง 21.1-35.0′C ในขณะที่อุณหภูมิที่เหมาะสม ต่อการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 18-24′C
ดิน ที่เหมาะสมต่อการปลูกฟักทองญี่ปุ่น ควรเป็นดินร่วนซุย มีความสมบูรณ์ หน้าดินลึก และระบายน้ำได้ดี

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหารของฟักทองญี่ปุ่น

ส่วนของฟักทองญี่ปุ่น ที่สามารถรับประทานได้ เช่น ผล ยอดอ่อน ดอก และเนื้อที่อยู่ในเมล็ด เนื้อฟักทองญี่ปุ่นที่ดี ต้องแน่นและเหนียว สามารถนำผลมาประกอบอาหาร ได้หลายชนิด เช่น แกงเลียง ผัด แกงเผ็ด ต้มจิ้มน้ำพริก หรือต้มน้ำตาลคลุกงา ผสมเกลือป่นเล็กน้อย รับประทานคล้ายขนมหวาน ทำฟักทองแกงบวด สังขยาฟักทอง ฟักทองเชื่อม ดอกฟักทอง และยอดฟักทองนำมาแกงส้ม หรือลวกจิ้มน้ำพริก เมล็ดฟักทองญี่ปุ่นนำมาอบแห้ง กินเนื้อข้างใน

ฟักทองญี่ปุ่น มีคุณค่าทางอาหารสูง เช่น ฟอสฟอรัส แคลเซียม และมีสารเบต้าแคโรทีน ค่อนข้างสูง ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง เมล็ดฟักทองช่วยป้องกันไม่ให้ ต่อมลูกหมากโต ป้องกันและรักษาโรคนิ่วป้องกันโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง


การปฏิบัติดูแลรักษาฟักทองญี่ปุ่นในระยะต่างๆของการเจริญเติบโต

การเตรียมกล้า เพาะกล้าฟักทองญี่ปุ่น แบบประณีตในถาดหลุมขนาดใหญ่ ย้ายปลูกเมื่อใบเลี้ยงงอก (อายุ 6 - 8 วัน) โดยไม่ต้องรอใบจริงงอก

การเตรียมดินปลูกฟักทองญี่ปุ่น โรยปูนขาวอัตรา 0-100 กรัม/ตร.ม. และขุดดิตตากแดด 14 วัน เก็บเศษวัชพืชออกให้สะอาด

การปลูกและดูแลรักษาฟักทองญี่ปุ่น เตรียมดินขึ้นแปลง สูง 25-30 ซม. กว้าง 3 เมตร ขุดหลุมกว้าง 80 และลึก 30 ซม. ห่างกันหลุมละ 100 ซม. ระยะห่างระหว่างแถว 3 เมตร คลุกปุ๋ยคอกอัตรา 1 กก./ต้น ปุ๋ย 12-24-12 อัตรา 30 กรัม/ต้น กลับดินให้เข้ากัน กลบดินเต็มหลุม รดน้ำในหลุมให้ชุ่ม และควรปลูกในเวลาเย็น
ข้อควรระวัง อย่าย้ายกล้าเมื่ออายุต้นแก่เกินไป (ไม่เกิน 10 วัน)


  • การทำค้าง ควรทำในช่วงฤดูฝน เพื่อลดการเกิดโรคจากเชื้อรา และป้องกันหนูกัดกินผล โดยการทำค้างสูงจากพื้นดินประมาณ 1-1.50 เมตร


  • การตัดแต่งกิ่ง เมื่อมีการเจริญเติบโตของต้นจนถึงข้อที่ 6 ให้ตัดยอดเพื่อแตกกิ่งแขนงและเก็บไว้เพียง 3-4 กิ่ง คือกิ่งที่ข้อ 3,4,5,6 (ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น) และตัดกิ่งที่ข้อ 1,2 ทิ้งเพราะถ้าไม่ตัดทิ้งกิ่งอื่นถัดไปจะไม่เจริญเติบโต


  • การตัดแต่งผล ให้เหลือไว้ 1 ลูก/กิ่ง เพื่อให้ได้ผลที่สมบูรณ์และขนาดตามที่ตลาดต้องการ ในการเก็บผลไว้ ควรตรวจดูให้ละเอียด ว่ามีรอยแผลแมลงเจาะวางไข่ ไว้หรือไม่ ตั้งแต่ผลเล็ก จากนั้นใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มผลไว้เพื่อป้องกันแมลงเจาะวางไข่

  • กรณีปลูกแบบเลื้อย ควรใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ รองผลและห่อผลเพื่อป้องกันแมลงวันทองและสีผิวเสีย

การให้น้ำ ให้น้ำฟักทองญี่ปุ่นตามความเหมาะสม ในช่องแรกให้รดน้ำโดยการใช้สปริงเกอร์

การให้ปุ๋ย ระยะแรกใส่ปุ๋ย 46-0-0 และ 15-0-0 อัตรา 30-35 กรัม/ต้นและ 20 กรัม/ต้น ตามลำดับ ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 40 กรัม/ต้น ครั้งที่ 3 ใส่ปุ๋ย 13-13-21 อัตรา 80 กรัม/ต้น

การเก็บเกี่ยว เมื่ออายุผลหลังผสมเกสรได้ประมาณ 45 - 50 วัน หรือผิวมีสีเข้มมันแข็งแรง ขั้วผลจะเป็นสีน้ำตาล และขนาดเล็กลงใช้มีดหรือกรรไกรตัดขั้ว ควรล้างทำความสะอาดผลและทา ปูนแดงที่ขั้วแล้วนำไปผึ่งไว้ในเรือนโรง

ข้อควรระวัง
  1. การปลูกฟักทองญี่ปุ่นในฤดูแล้ง ควรระวังเพลี้ยไฟเข้าทำลายต้นกล้าระยะการเจริญเตืบโตระยะแรก
  2. ควรดูแลต้นฟักทองในระยะการเจริญเติบโตระยะแรกเป็นพิเศษ


โรคและแมลงศัตรูฟักทองญี่ปุ่นที่สำคัญในระยะต่างๆของการเจริญเติบโต

ระยะกล้า 6-8 วัน เพลี้ยไฟ, แมลงหวี่ขาว,
ระยะย้าย-เจริญเติบโต 8-20 วัน โรคราแป้ง, โรคไวรัส, เพลี้ยไฟ, แมลงหวี่ขาว,
ระยะติดผล 40-80 วัน โรคราแป้ง, โรคไวรัส, เพลี้ยไฟ, แมลงวันแตง, แมลงหวี่ขาว,
ระยะโตเต็มที่ 105-110 วัน โรคราแป้ง, โรคไวรัส, เพลี้ยไฟ, แมลงวันแตง, แมลงหวี่ขาว,



http://www.youtube.com/watch?v=Q34aFSudMNQ  การปลูกฟักทองญี่ปุ่น

http://www.youtube.com/watch?v=4t-_YDR4nHQ  การปลูกฟักทองญี่ปุ่น

พริกหวานสี (Sweet Pepper)



พริกหวาน จัดอยู่ในตระกูล Solanaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Capsicum annuumเช่นเดียวกับมะเขือเทศ ยาสูบ และมันฝรั่ง เป็นพืชข้ามปี แต่นิยมปลูกฤดูเดียว ในระยะแรกพืชจะ เจริญเป็นลำต้นเดียว หลังจากติดดอกแรกตรงยอดของลำต้นเดียว จะแตกกิ่งแขนงในแนว ตั้งอีกสองกิ่ง เมื่อกิ่งแขนงมีดอกเจริญที่ปลายกิ่ง จะเกิดกิ่งแขนงเจริญเป็นสองกิ่ง ทำให้จำนวนกิ่ง เพิ่มขึ้น ผลผลิตจะขึ้นอยู่กับจำนวนกิ่ง และจำนวนผลต่อต้น โดยทั่วไปต้นจะสูง 0.5-1.5 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว เจริญสลับกัน ลักษณะดอกเดี่ยว สมบูรณ์เพศ สามารถเจริญได้ทั้งในสภาพ ช่วงแสงสั้น หรือช่วงแสงยาว เป็นพืชผสมตัวเอง แต่อาจมีโอกาสผสมข้ามโดยธรรมชาติสูง














สภาพแวดล้อมการปลูก
พริกหวาน  ชอบอากาศที่มีความชื้นสูง อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการผสมเกสรอยู่ระหว่าง 20 - 25′C มีความชื้นสัมพัทธ์สูง ในสภาพอุณหภูมิต่ำกว่า 18′C หรือสูงกว่า 32′C จะจำกัดการผสมเกสร อัตราการติดผลต่ำ พริกหวานสามารถเจริญเติบโตได้ดี ในดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี และมีค่าความเป็นกรดด่างอยู่ระหว่าง 5.5 - 6.5

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร พริกหวาน
พริกหวาน มีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมถึงหกเหลี่ยม เนื้อหนา มีหลายสีทั้งเขียว แดง เหลือง ส้ม และสีช็อคโกแลค มีรสชาติหวาน ไม่เผ็ด สามารถรับประทานสดในสลัด หรือนำมาผัดกับผักชนิดต่างๆ ให้สีสันน่ารับประทาน มีคุณค่าทางวิตามิน A, B1, B2 และ C มีสารแคบไซซิน ช่วยยับยั้งอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือด โรคต้อกระจก และโรคมะเร็ง

การเก็บเกี่ยวพริกหวาน พันธุ์สีเขียวเก็บเกี่ยวเมื่อผลผลิตผิวเรียบ และแห้ง ใช้กรรไกรตัดตรงขั้ว พันธุ์สีแดงและเหลือง เก็บเกี่ยววิธีเดียวกับพันธุ์สีเขียว แต่เก็บเกี่ยวเมื่อผลเริ่มมีสีได้มากกว่า 70 - 80 %

โรคแมลงศัตรูที่สำคัญ พริกหวาน Sweet Pepper, Bell Pepper, Capcicum, ในระยะต่างๆ ของการเจริญเติบโต
ระยะกล้า 18-21 วัน โรคเหี่ยว, โรคใบจุด, โรคไวรัส, โรครากปม

ระยะย้ายปลูก-ตั้งตัว 21-28 วัน แอนแทรคโนส, โรคเหี่ยว, โรคราแป้ง, โรคใบจุด, โรคเน่าเปียก, โรคไวรัส, โรคใบไหม้, โรครากปม, ไรขาว,

ระยะเจริญเติบโต 50-60 วัน แอนแทรคโนส, โรคเหี่ยว, โรคราแป้ง, โรคใบจุด, โรคเน่าเปียก, โรคไวรัส, โรคใบไหม้, โรครากปม, ไรขาว,

ระยะเก็บเกี่ยว 80 -100 วัน แอนแทรคโนส, โรคเหี่ยว, โรคราแป้ง, โรคใบจุด, โรคเน่าเปียก, โรคไวรัส, โรคใบไหม้, โรครากปม, ไรขาว, แมลงวันทอง

http://www.youtube.com/watch?v=0qwqq2HH4g4  การปลูกพริกหวานบ้านแม่สา จ.เชียงใหม่

กะหล่ำปลีม่วง, กะหล่ำปลีแดง (Purple & Red Cabbage)


กะหล่ำปลีสีม่วง (Purple Cabbage)  เป็นพืชล้มลุกสองปี มีลักษณะคล้าย กะหล่ำปลีธรรมดา แต่มีสีม่วงหรือแดง (ตามชนิดและสายพันธุ์ เนื่องจากใบมีสาร Anthocyanin จำนวนมาก ลักษณะลำต้นสั้นมาก ใบเดี่ยวสีแดง หนา และมีนวล ใบเรียงตัว สลับซ้อนกันแน่นหลายชั้น เรียงแน่น หัวกลมหรือค่อนข้างกลม ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ดิน กะหล่ำปลีแดงสามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด โดยเฉพาะดินที่มีลักษณะโป่ง และร่วนซุย มีความชื้นในดิน และมีค่าความเป็นกรด-ด่าง อยู่ในช่วง 6-6.5

อุณหภูมิ สำหรับอุณหภูมิที่เหมาะสม สำหรับการเจริญเติบโตของกะหล่ำปลีแดงนั้นอยู่ระหว่าง 15-20′C หากอุณหภูมิสูงกว่า 25′C อัตราการเจริญและผลผลิตจะลดลง อย่างไรก็ตามระดับอุณหภูมิอาจมีผลกระทบแตกต่างกันบ้าง เล็กน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์

การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างเพียงพอ เนื่องจากกะหล่ำปลีเป็นพืชที่ต้องการความชื้นในดินมาก ระยะที่กะหล่ำปลีต้องการน้ำมากที่สุ ได้แก่ ระยะเริ่มห่อปลีและระยะการเจริญเติบโตเต็มที่

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหารของกะหล่ำปลีแดง
กะหล่ำปลีม่วง เป็นพืชที่มีใยอาหารสูง และอุดมไปด้วยคุณค่าสารอาหารหลายชนิด เช่น โปรตีน (สาร indols ซึ่งเป็นผลึกที่แยก มาจาก trytophan; กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย) คาร์โบไฮเดรต โซเดียม วิตามินซีซึ่งพบค่อนข้างมากกว่ากะหล่ำปลีสีเขียวถึง สองเท่า ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน มีสารซัลเฟอร์ (Sulfer) ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ใหญ่ และต้านสารก่อ มะเร็งที่เข้าสู่ร่างกาย การกินกะหล่ำปลีบ่อยๆ จะช่วยลดโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งในช่องท้อง ลดระดับคลอเรสเตอรอล ละช่วยงับประสาท ทำให้นอนหลับดี น้ำกะหล่ำปลีคั้นสดๆ ช่วยรักษาโรคกะเพาะ อย่างไรก็ตาม กะหล่ำปลีมีสารชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า goitrogen เล็กน้อย ถ้าสารนี้มีมากจะไปขัดขวางการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้นำไอโอดีนในเลือดไปใช้ได้น้อย ดังนั้นไม่ควร กินกะหล่ำปลีสดๆ วันละ 1 - 2 กก. แต่ถ้าสุกแล้วสาร goitrogen จะหายไป
กะหล่ำปลีม่วง นิยมรับประทานสด เช่น ในสลัด หรือนำมาตกแต่งจานอาหาร การนำมาประกอบอาหาร ไม่ควรผ่านความร้อนนาน เพราะจะทำให้สูญเสียวิตามินและคุณค่าอาหาร

การปฏิบัติดูแลรักษากะหล่ำปลีในระยะต่างๆของการเจริญเติบโต

การเตรียมกล้า เพาะกล้าแบบประณีตในถาดหลุม หรือเพาะในแปลงก็ได้ อายุกล้าไม่ควรเกิน 25 วัน หากเพาะในแปลง ควรมีตาข่าย กันฝนกระแทก และควรใช้ไตรโครเดอร์มา คลุกวัสดุเพาะเพื่อป้องกันโรคโคนเน่า หากไม่ได้เพาะในวัสดุปลูกสำเร็จรูป และฉีดพ่น เซฟวิน ปัองกันมด แมลง ทำลายเมล็ดพันธุ์

การเตรียมดิน ขุดดินตากแดด อย่างน้อย 14 วัน โรยปูนขาวอัตรา 0-100 กรัม/ตร.ม.

การปลูก ขึ้นแปลงกว้าง 1-1.5 เมตร สำหรับฤดูฝนให้แปลงสูงกว่าปกติ 30-35 ซม. เพื่อการระบายน้ำ รองพื้นด้วยปุ๋ยเคมี 12-24-12 อัตรา 30 กรัม/ตร.ม. ใส่ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก อัตรา 2-4 กิโลกรัม/ตร.ม. ระยะปลูก ฤดูฝน และฤดูหนาว 40×40 ซม. ฤดูแล้ง 40×30 ซม.

การให้น้ำ ใช้สปริงเกอร์
การให้ปุ๋ย ประมาณ 5-7 วัน ควรมีการปลูกซ่อมกล้าที่ตาย เมื่อย้ายปลูกได้ 7-10 วัน ใส่ปุ๋ย 15-15-15 และ 21-0-0 อย่างละ 20-25 กรัม/ตร.ม. และใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 เมื่ออายุได้ 25-30 วัน และใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 เมื่อเริ่มเข้าหัว มีอายุ 45-50 วัน พร้อมกำจัด วัชพืช แล้วพ่นสารเคมีป้องกันศัตรูพืช ถ้ามีพบการเข้าทำลายของศัตรูพืช
ข้อควรระวัง
  1. ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ฝนตกชุก และมีน้ำขัง แสงแดดน้อย
  2. เป็นพืชที่้ต้องการปุ๋ยในปริมาณที่มาก หากปุ๋ยไม่เีพียงพอจะทำให้อายุการเจริญเติบโตยาวนานมากขึ้น

การเก็บเกี่ยว อายุ 80 - 100 วัน ตามฤดูกาล และสายพันธุ์

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญของกะหล่ำปลีแดงในระยะต่างๆ ของการเจริญเติบโต

ระยะกล้า 18-21 วัน โรคราน้ำค้าง, โรคเน่าดำ, โรคโคนเน่า, ด้วงหมัดผัก, เพลี้ยอ่อน,
ระยะย้ายปลูก-ตั้งตัว 21-28 วัน โรคราน้ำค้าง, โรคเน่าดำ, ด้วงหมัดผัก, หนอนกระทู้ดำ, หนอนใยผัก, เพลี้ยอ่อน, หนอนคืบกะหล่ำ, หนอนกระทู้,
ระยะเข้าหัว 60-90 วัน โรคราน้ำค้าง, โรคเน่าเละ, โรคเน่าดำ, หนอนใยผัก, หนอนเจาะยอดกะหล่ำ, เพลี้ยอ่อน, หนอนคืบกะหล่ำ, หนอนกระทู้,
ระยะโตเต็มที่ 90-10 วัน โรคราน้ำค้าง, โรคเน่าเละ, โรคเน่าดำ, หนอนใยผัก, หนอนเจาะยอดกะหล่ำ, เพลี้ยอ่อน, หนอนคืบกะหล่ำ, หนอนกระทู้,ิ